เมื่อ WeWork เริ่มไม่ work อย่างที่คิด
จากธุรกิจให้เช่าช่วงพื้นที่ในการทำออฟฟิศ ที่มีบริการด้าน Co-Working Space & Tech Startup Support แบบครบวงจรเป็นจุดเสริม โดยเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน (2010) ธุรกิจ Sharing Economy และ Co-Working Space ถือเป็นธุรกิจที่มาแรง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากกระแสการตื่นตัวและเติบโตในธุรกิจแนวคิดใหม่ หลายคนจึงมองว่า WeWork มีแนวทางในการทำธุรกิจที่โดดเด่นน่าสนใจ ถือเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งปี ณ ช่วงเวลานั้น มีการกล่าวถึงจากสื่อหลายสำนัก โดยเฉพาะในหมู่สายการลงทุน
ด้วยกระแสที่ร้อนแรง จึงมีนักลงทุนจากทั่วโลก พุ่งความสนใจไปที่ WeWork หนึ่งในนั้นคือ SoftBank Group ที่เป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวกันกับที่ลงทุนใน Alibaba และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ WeWork ในปัจจุบัน ด้วยความที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่หลายราย ทำให้พวกเขาเติบโตแบบก้าวกระโดด จนติดอันดับบริษัท Startup ที่ระดมเงินได้สูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกธุรกิจสาย Tech Startup (ทั้งที่ในความเป็นจริงจะเรียกว่าเป็นผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ดูจะเหมาะสมกว่า)
ทั้งนี้จากการประเมินมูลค่าราว 6-7 สัปดาห์ก่อน พบว่า WeWork มีมูลค่าสูงถึง $47 Billion หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท
แต่ในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ นับจากวันที่ 16 สิงหาคม 2562 มูลค่าของบริษัทฯ กลับร่วงลงอย่างหนัก โดยลดลงมามากกว่า 70% จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ มูลค่าของ WeWork ก็ลดลงมาเหลือต่ำกว่า $10 Billion แล้ว! (ราว 0.3 ล้านล้านบาท จาก 1.4 ล้านล้านบาท) และมีทีท่าว่าจะลดลงอีกเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังคลุมเครือไม่มีหมัดเด็ด หรือการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเด็ดขาดจากทีมบริหาร
ว่าแต่อะไรคือสาเหตุสำคัญ ของการเสื่อมถอยของมูลค่าบริษัทอย่างรุนแรงรวดเร็วขนาดนี้?
WeWork จะมีทางผ่านวิกฤตไปได้ไหม? และเราได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้?
ก่อนอื่นให้เรามาทำความรู้จักกับ WeWork กันซักนิด เผื่อผู้อ่านที่ยังไม่เคยรู้จักกับ WeWork
WeWork คือบริษัท Startup สัญชาติอเมริกัน ที่มีหนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ Adam Neumann
Adam Neumann คือหัวเรือใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหรือ CEO ในการนำทัพ WeWork บุกตลาดไปเช่า/สร้าง เนรมิตรพื้นที่ตามแหล่งศูนย์กลางย่านธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงในไทย และให้บริการปล่อยเช่าช่วงพื้นที่ต่อ โดย WeWork จะทำสัญญาเช่าระยะยาว และนำมาปล่อยให้บริษัทอื่นเช่าต่อแบบระยะสั้น รายเดือน โดยชูจุดเด่นเรื่องการ Scalable หรือการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ตามรูปแบบการดำเนินกิจการของธุรกิจแนวคิดใหม่ (Startup) มุ่งเน้นขยายพื้นที่เข้าครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมือง ย่านธุรกิจสำคัญ โดยปัจจุบัน WeWork มีการกระจายพื้นที่ให้บริการกว่า 799 แห่ง ใน 124 เมืองทั่วโลก และมีพื้นที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 45 ล้านตารางฟุต
ซึ่งหากดูผ่าน ๆ จากข่าว หรือผลประกอบการ (ในฝั่งของรายรับ) จะเห็นว่าบริษัทมีภาพลักษณ์ที่สวยหรู ดูดี มีอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จากการขยายตัวที่รวดเร็ว ตามที่ปรากฏในสื่อทั่วไป
แต่เมื่อถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ WeWork ยื่นเอกสารไฟลิ่ง (S-1) ให้กับ ก.ล.ต.สหรัฐฯ (SEC) ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการเสนอขายหน่วยลงทุน IPO ให้กับนักลงทุนและประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ ที่ดูเหมือน WeWork ต้องรีบทำ ด้วย ‘เหตุผลอะไรบางอย่าง’ แต่ด้วยความรีบร้อนจนผิดสังเกต รวมถึงจากการเปิดเผยข้อมูลนี้ ทำให้หลายคนเริ่มสังเกตเห็น ‘ระเบิดลูกใหญ่’ หรือ ‘ขยะชิ้นโตที่ซ่อนอยู่ใต้พรม’ มาตลอดหลายปี
จากงบการเงินหรือผลประกอบการสามปีล่าสุดของ The We Company (บริษัทแม่ของ WeWork) พบว่ามีปริมาณ ‘เงินขาดทุนสะสม’ ที่สูงมาก
มากจนน่าตกใจว่าอะไรพาพวกเขามาได้ถึงจุดนี้?
ปี 2016 รายได้ $0.44 พันล้านดอลลาร์ แต่ขาดทุน $0.45 พันล้านดอลลาร์
ปี 2017 รายได้ $0.90 พันล้านดอลลาร์ แต่ขาดทุน $0.95 พันล้านดอลลาร์
ปี 2018 รายได้ $1.85 พันล้านดอลลาร์ แต่กลับขาดทุนสูงถึง $1.97 พันล้านดอลลาร์!!
จุดที่รายได้มากขนาดไหน ก็ไม่เพียงพอกับ ‘รายจ่าย’ ที่สูงกว่ารายรับกว่าเท่าตัว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จากยอดขาดทุนสะสมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีในอัตราก้าวกระโดด (ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงยอดขาดทุนสะสมควรปรับลดลง ในขณะที่ยอดกำไรสะสมควรค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น จึงจะเป็นเรื่องถูกต้องสำหรับการทำธุรกิจที่ดีและมีอนาคต) แต่จากข้อมูลนี้ ได้สร้างความตกตะลึง และผิดหวังให้กับบรรดานักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะกับบริษัทในเครือ SoftBank ที่เป็นทั้งผู้สนับสนุนและผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับทาง WeWork ไปแล้วกว่า $10.65 พันล้านดอลลาร์ แต่มูลค่าบริษัทในปัจจุบัน กลับลดลงต่ำกว่าปริมาณเงินที่ลงทุนไปในสเกลที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องน่าห่วงชวนหวั่นใจ ว่าพวกเขาจะกู้สถานการณ์กลับมาอย่างไรในตอนนี้
อีกสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ WeWork เดินมาถึงขอบเหวแห่งวิกฤตศรัทธา และราคาที่สะท้อนมูลค่าจริงของบริษัท คือพฤติกรรมฉาวโฉ่ตลอดหลายปีของ CEO อย่าง Adam Neumann ที่ล่าสุดได้ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อกอบกู้สถานการณ์ จากวีรกรรมต่าง ๆ ที่ Adam ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น
- พฤติกรรมการนำเงินบริษัทฯ ไปใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หลายรายการมีพฤติกรรมเข้าข่ายว่าอาจนำเงินของบริษัทฯ ไปใช้ผิดประเภท เช่น นำเงินไปซื้อเครื่องบิน Jet ส่วนตัว/ใช้ในการจัดปาร์ตี้สุดหรูบ่อยครั้ง/ซื้ออสังหาฯ ด้วยเงินของบริษัทฯ แต่นำไปปล่อยเช่าหรือขายกลับให้บริษัทฯ และนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ทีมงานใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
- มีปัญหาด้านอารมณ์ การสื่อความกับทีมงาน ตั้งกฏประหลาดหยุมหยิม รวมถึงปัญหาจากการใช้สารเสพติด
- การออกกฏเกณฑ์หรือนโยบายบางอย่างที่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่น เช่นอำนาจในการโหวตที่สูงกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่น สิทธิ์ในการแต่งตั้ง CEO ที่มอบให้กับคนใกล้ตัว ฯลฯ
- แนวทางส่วนใหญ่ของ Adam จะเน้นกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ขององค์กรหรือบริษัท
- ขนาดเครื่องหมายการค้า We ที่ตามหลักควรเป็นสินทรัพย์ของบริษัทฯ Adam ก็เลือกที่จะจดในชื่อของตัวเอง แถมยังกล่าวว่า หากบริษัทจะนำไปใช้ ต้องจ่ายเงินให้เขาสูงกว่า $5.9 ล้านเหรียญ (แม้ตอนท้าย Adam จะยอมแก้ไขและคืนเงินในส่วนนี้กลับเข้าบริษัทฯ แต่ก็สะท้อนให้เห็น ตัวตนที่แท้จริงของ (อดีต) CEO คนนี้พอสมควรแล้วจากพฤติกรรมดังกล่าว
ด้วยความพังระดับกู้กลับยาก จนต้องเลื่อนการเสนอขาย IPO ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีปัญหาทั้งจากภายในและภายนอก ทั้งยังสะสมมานานตลอดหลายปี จึงจำต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ จากทางบอร์ดบริหาร โดยมีการยื่นข้อเสนอ (กึ่งกดดัน) ให้ Adam Neumann เดินลงจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง CEO คนใหม่ที่มีความสามารถ และความรับผิดชอบขึ้นมาแทน รวมทั้งมีการปลดพนักงานที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทาง Adam ออกยกชุด! และปรับแผนงานใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า รวมทั้งลดแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาในช่วงนี้
โดยหวังว่าทีมบริหารใหม่จะกอบกู้สถานการณ์ได้ทัน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มไม่ไว้ใจ และลดระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจนแทบไม่มีเหลือ เจ้าของอสังหาฯบางส่วน เริ่มไม่อยากยุ่งเกี่ยว หรือทำสัญญาเช่ากับทางบริษัทฯ เพราะไม่มั่นใจในความมั่นคงของ WeWork ว่าจะดำเนินธุรกิจได้อีกนานแค่ไหน หรือจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าทีมผู้บริหารชุดใหม่ จะแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที และจะทำได้ดีแค่ไหน
เรื่องนี้เป็นประโยชน์สำหรับพวกเราอย่างไร?
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ WeWork ให้ข้อคิดกับเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนในโลกของธุรกิจ จากธุรกิจมูลค่าสูงระดับล้านล้าน ที่เคยพุ่งแรงมาตลอดเกือบสิบปี อยู่ดี ๆ ก็สามารถร่วงหล่น จนเกือบล้มละลายได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์
อะไรที่เราเห็นจากภายนอกว่า สวยหรู ดูดี อาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
ในมุมของผู้บริหารหรือนักลงทุน ก็ทำให้เราต้องหันกลับมามอง และตรวจสอบตัวเองว่า สินค้า บริการ หรือธุรกิจอะไรที่ดูดี น่าเชื่อถือ มีอนาคต แต่หากไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด เราอาจเผลอเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเจอสถานการณ์แบบเดียวกับนักลงทุนจำนวนมากที่ลงทุนอยู่กับ WeWork ก็เป็นได้
คงต้องติดตามต่อไป ว่าจะเป็นยังไงในเรื่องนี้ WeWork จะมีโอกาสเสนอขาย IPO หรือกลับขึ้นมายืนในจุดเดิมที่เคยยืนอยู่ได้ไหม? หรือเจอวิกฤตครั้งนี้แล้วจะร่วงหล่นล้มหายตายจากไป เหมือนกับหลายกรณีของธุรกิจ Startup ยักษ์ใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า
ทางทีมงานแบไต๋จะติดตาม และอัปเดตข่าวนี้ให้ผู้อ่านทุกท่านทราบในโอกาสต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส