จำนวนอุปกรณ์ IoT และการใช้โดรนได้เติบโตอย่างรวดเร็วและจำเป็นต้องมีระบบการสื่อสารบรอดแบนด์ความเร็วสูง เพื่อให้สามารถรองรับอุปกรณ์ IoT ได้อย่างแม่นยำปลอดภัย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า อีกไม่กี่ปีนับจากนี้ เราจะได้ใช้บริการที่แปลกใหม่จากบริษัทใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุค 5G เนื่องจาก 5G สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้คน เครื่องจักร และยานยนต์เข้าด้วยกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุค 5G จึงไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงในยุค 1G – 4G ก่อนหน้านี้ เพราะ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้ประสานการทำงานร่วมกัน เช่น Internet of Things (IoT), อากาศยานไร้คนขับ (UAV), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดาวเทียม โดยการบูรณาการ IoT, UAV และดาวเทียมในสภาพแวดล้อม 5G ทั้งจากเทคโนโลยี IoT ที่แตกต่างกันจำนวนมาก, การใช้งานที่แตกต่างกันของ UAV และ IoT, และบทบาทของดาวเทียมใน IoT สถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันของทั้งอุปกรณ์ IoT, UAV และดาวเทียม ซึ่งเมื่อหลอมรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดขีดความสามารถในการคำนวณและการสื่อสารที่ชาญฉลาด จนสามารถเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง
คนทั่วโลกกำลังจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีกำลังจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ เกิดจากการเชื่อมโยงกันระหว่างเทคโนโลยี Cloud computing, Big Data Analytics และ AI โดยมี 5G เป็นตัวเชื่อมและประสานสอดคล้องเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่ง 5G จะเข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนบทบาท ทั้งในชีวิตประจำวัน, ภาคธุรกิจ, อุตสาหกรรม และสังคม ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้นำตลาด 5G
ทั้งนี้ 5G จะทำให้การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเกิดเร็วขึ้น เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่ การทำธุรกิจจะก้าวหน้าและชาญฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำงานโดยไม่ต้องยึดติดกับสถานที่และเวลา เกิดการให้บริการด้วยการควบคุมระยะไกลมากมายหลายรูปแบบ
แต่การสื่อสารเคลื่อนที่ในยุค 5G จะนำไปสู่การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการความจุที่สูงขึ้นและอัตราการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น มีเวลาในการตอบสนองที่ลดลง และมีเครือข่ายที่ยืดหยุ่นและปรับขนาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและยังมีการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น เมืองอัจฉริยะ การแพทย์ทางไกลโรงงานอัจฉริยะ และเกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น
การสื่อสารในยุค 5G มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย และเทคโนโลยีที่ใช้ โดย 5G จะสามารถรองรับผู้ใช้งานและอุปกรณ์ที่มีจำนวนมากขึ้นที่ต้องการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ได้อย่างประสิทธิภาพ และรองรับจำนวนแอปพลิเคชันและการใช้งานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Internet of Things (IoT) ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และมีอุปกรณ์เชื่อมต่อที่มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ซึ่ง IoT จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์และเซ็นเซอร์จำนวนมากที่เชื่อมต่อแบบไร้สายโดยไม่ต้องอาศัยการดำเนินงานของมนุษย์ โดยสามารถใช้งานในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การวัดประเมินอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ และตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักวิจัย IHS ได้คาดการณ์ว่าจำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 15.41 ล้านเครื่องในปี 2015 เป็น 23.14 พันล้านเครื่องในปี 2018 และคาดว่าจะสูงถึง 75.44 ล้านในปี 2025
เมื่อจำนวน IoT มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเชื่อมต่อก็ย่อมมากขึ้นด้วย แต่โครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับการให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางกรณี เนื่องจากการออกแบบและข้อจำกัด ตัวอย่างเช่น ในเรื่องความครอบคลุม ที่โครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินยังไม่สามารถครอบคลุมในบางพื้นที่ได้ เช่น ในมหาสมุทร กลางทะเลทราย และพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งไม่มีโอกาสหรือความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในการสร้างเครือข่ายภาคพื้นดินเหมือนอย่างเช่นในเมืองใหญ่ ๆ นอกจากนี้ในกรณีที่โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ทำให้ผู้คนในบริเวณที่เกิดภัยพิบัติไม่สามารถทำการติดต่อสื่อสารได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีการบินมาใช้ อย่างเช่น ดาวเทียมสื่อสารวงโคจรต่ำ LEO และอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินได้ โดยสามารถให้บริการเครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมกว้างขึ้น มีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมใช้งานมากขึ้น และยังสามารถปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายได้อีกด้วย
ดังนั้นการบูรณาการ UAV และดาวเทียมสื่อสาร กับระบบนิเวศ 5G จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ IoT ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่ครอบคลุม และการเพิ่มแบนด์วิดท์ ซึ่งทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตดาวเทียมสื่อสาร LEO และ UAV อาจเป็นส่วนสำคัญของบริการเกี่ยวกับ IoT ก็ได้
ในปัจจุบันมีการนำ UAV มาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างเช่น การส่งพัสดุภัณฑ์โดย Prime Air จาก Amazon ไปจนถึงการดำน้ำโดยโดรนของ Boeing ที่สามารถเปลี่ยนโดรนเป็นเรือดำน้ำได้ ซึ่งสำหรับการเชื่อมต่อระหว่าง IoT แล้ว โดรนสามารถทำหน้าที่เป็นเกตเวย์ IoT ได้อย่างเหมาะสม โดยการรวบรวมและส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 5G โดยตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของโดรนที่แม่นยำจะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ IoT เพื่อให้สามารถให้บริการเครือช่ายได้ครอบคลุมพื้นที่
ดาวเทียมสื่อสาร (Communications satellite) มีการใช้งานอย่างกว้างขวางเพื่อขยายการสื่อสารโทรคมนาคมไปทั่วโลก ซึ่งใช้กันมานานเกือบห้าสิบปีแล้ว แต่ในปัจจุบันการสื่อสารผ่านดาวเทียมจำนวนมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกผ่านดาวเทียมที่โคจรในระดับต่ำ หรือ LEO เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความหน่วงเวลาระหว่างดาวเทียมกับสถานี ทำให้ระยะเวลาในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์สั้นลง ซึ่งได้มีการศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดาวเทียม LEO สำหรับ IoT โดยพบว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ IoT และผู้ใช้ปลายทางผ่านการสื่อสารผ่านดาวเทียม LEO นั้น ดาวเทียมจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโดยตรงกับอุปกรณ์ IoT หรืออาจเชื่อมต่อผ่านศูนย์กลางอื่น ๆ เช่น UAV เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์อย่างสมบูรณ์แบบ
อากาศยานไร้คนขับ (UAVs) มีการเติบโตอย่างมาก จากจำนวนและความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการนำ UAV มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ที่เป็นการใช้งานร่วมกับ IoT ที่กำลังถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา UAV หรือโดรน ได้ถูกนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านความมั่นคง ด้านความปลอดภัยและการเฝ้าระวังชายแดน และการขนส่งสินค้า ตัวอย่างการนำ UAV ไปใช้งานร่วมกับ IoT เช่น ในด้านการทหาร UAV ถูกใช้มานานกว่าทศวรรษ เมื่อการจัดการเที่ยวบินเริ่มมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะทำได้ ดังนั้นอากาศยานไร้คนขับจึงถูกนำมาใช้ในกองทัพ ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ UAV เป็นขีปนาวุธ ซึ่ง UAV ถือเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการค้นหาทหารที่สูญหายหรือผู้บาดเจ็บ ปัจจุบันมีการใช้งาน UAV โดยกองทัพหลายแห่งทั่วโลก เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2015 ได้มีโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) เปิดเผยการพัฒนาระบบที่ใช้โดรนจำนวนมาก ที่สามารถก่อตัวเป็นฝูง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำลายศัตรูเป้าหมาย และในปี 2016 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดตัวโดรนจำนวน 103 ลำ ซึ่งเป็นโดรนขนาดเล็กฝูงใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความสามารถในการตัดสินใจและการกระทำด้วยตนเองได้
การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุค 5G จึงไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงในยุค 1G – 4G ก่อนหน้านี้ เพราะ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้ประสานการทำงานร่วมกัน เช่น Internet of Things (IoT), อากาศยานไร้คนขับ (UAV), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดาวเทียม จะทำให้เกิดขีดความสามารถในการคำนวณและการสื่อสารที่ชาญฉลาด จนสามารถปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง
แท้ที่จริงแล้ว Disruption ยังไม่เกิดขึ้น แต่มันกำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว !
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส