รู้ไหมว่าเมืองหลวงทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ไหน คำตอบไม่ใช่กรุงเทพ แต่เป็นที่เชียงใหม่ เพราะเป็นที่ตั้งของ 3 สถานที่สำคัญในเชิงดาราศาสตร์คือ
- หอดูดาวแห่งชาติ บริเวณยอดดอยอินทนนท์สูงจากระดับน้ำ 2,457 เมตร ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่ขนาดคนเข้าไปอยู่ในตัวกล้องได้
- หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งแรกของไทย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ซึ่งจะเปิดใช้งานเร็ว ๆ นี้
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park) สำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT ที่เราจะพาไปตะลุยในวันนี้
![อาคารของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark19.jpg)
อาคารของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)
ไฮไลต์แรกของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรคืออาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ซึ่งตัวท้องฟ้าจำลองแห่งนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร รองรับผู้ชมได้ 160 ที่นั่ง ใช้ระบบการฉายดาวแบบโปพเจกเตอร์ความละเอียดสูง 12 ตัวฉายภาพซ้อนกันจนเต็มโดม ซึ่งรองรับความละเอียดได้ถึง 8K เลยทีเดียว และเมื่อเป็นการฉายในระบบโพรเจกเตอร์แทนที่จะเป็นเครื่องฉายดาวในระบบกลไก จึงทำให้ท้องฟ้าจำลองของที่นี่สามารถแสดงท้องฟ้ายามค่ำคืนไปพร้อม ๆ กับการฉายเนื้อหาในรูปแบบ Full Dome ได้ ซึ่งประสบการณ์การชมเนื้อหาบนจอใหญ่ระดับทั้งโดมนี้ ตื่นตาตื่นใจมาก เราว่ามันตื่นเต้นกว่าดูหนังในโรงจอใหญ่ ๆ อีกนะ
![ท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark20.jpg)
ท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)
![ห้องฉายดาว ท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark18.jpg)
ท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)
ที่ตัวอาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการยังมีส่วนการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับดาราศาสตร์อีก 19 โซน ซึ่งการจัดแสดงที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นลูกตุ้มเพนดูลัมขนาดยักษ์ที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร เพื่อพิสูจน์การหมุนของโลกที่ลูกตุ้มจะค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางการแกว่งไปช้า ๆ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ อุกกาบาต ลูกตุ้ม ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เป็นต้น
![ลูกตุ้มเพนดูลัมที่ Astro Park](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark25.jpg)
ลูกตุ้มเพนดูลัมที่ Astro Park
- ท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park)
อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ปิดบริการทุกวันจันทร์ ส่วนใครที่สนใจส่วนของท้องฟ้าจำลอง ค่าบัตรก็ไม่แพง สำหรับนักเรียน นักศึกษา 30 บาท ส่วนประชาชนทั่วไปก็ 50 บาท จะมีรอบฉายดาวเวลา 11.00 น. และ 14.00 น. ส่วนวันเสาร์จะมีรอบพิเศษเวลา 17.00 น. ให้ชมด้วย ซึ่งเมื่อชมเสร็จแล้วก็สามารถร่วมกิจกรรมดูดาวบนท้องฟ้าของจริงต่อได้เลย
กิจกรรมดูดาวทุกคืนวันเสาร์
![กิจกรรมดูดาวที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark32.jpg)
กิจกรรมดูดาวที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
ทุก ๆ คืนวันเสาร์ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรยังมีกิจกรรมดูดาว ผ่านกล้องโทรทรรศน์ 6 ตัวที่ตั้งอยู่บนอาคารหอดูดาว โดยพระเอกคือกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาด 0.7 เมตรที่สามารถเจาะลึกไปยังเทหวัตถุบนฟากฟ้าได้ไกลยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์ตามบ้านทั่วไป พร้อมฟังบรรยายประกอบโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกิจกรรมดูดาวนี้ก็ยังจัดที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติที่โคราช, ฉะเชิงเทราและสงขลาอีกด้วย ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีช่วงเดือนที่ปิดให้บริการต่างกัน ลองเช็กที่แฟนเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เลย
- กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตรที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astro Park) ไม่ได้มีแค่ดูดาว
แต่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ Narit ก็ไม่ได้มีแค่ท้องฟ้าจำลองและการดูดาวอย่างเดียว เมื่อแบไต๋ได้ไปบุกถึงสำนักงานใหญ่ที่เชียงใหม่ ได้เลยโอกาสตะลุยว่าที่นี้เค้าทำอะไรกันอีกบ้าง ซึ่งมันล้ำมาก
เครื่องเคลือบกระจกแห่งแรกของไทย
![เครื่องเคลือบกระจกที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark3.jpg)
เครื่องเคลือบกระจกที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
กระจกนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในวงการดาราศาสตร์ เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของกล้องโทรทรรศน์ ตามปกติแล้วประสิทธิภาพของกระจกสะท้อนแสงในกล้องจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุการใช้งาน ซึ่งหลังจากใช้งานไปได้ 2-3 ปีก็ต้องถอดกระจกออกมาเคลือบใหม่ ให้ประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงกลับมาเหมือนใหม่ และที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรแห่งนี้ก็มีเครื่องเคลือบกระจกเครื่องแรกของไทยที่ร่วมพัฒนากับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยใช้เวลาพัฒนากว่า 3 ปี ใช้งบประมาณไปราว 15 ล้านบาท เทียบกับการซื้อเครื่องจากต่างประเทศที่มีราคาเกือบ 50 ล้านบาทก็ถือว่าถูกกว่าเกินครึ่ง โดยเครื่องนี้สามารถเคลือบกระจกได้ถึงขนาด 2.4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดกระจกที่หอดูดาวแห่งชาติใช้อยู่ ทำให้ไม่ต้องเสี่ยงขนย้ายกระจกราคาแพงกว่า 80 ล้านบาทนี้ในระยะไกลให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้เครื่องเคลือบกระจกนี้ยังให้บริการเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ในประเทศไทยด้วย
![อภิชาต เหล็กงาม ทีมงานของ Narit กำลังอธิบายรายละเอียดของเครื่องเคลือบกระจก](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark1.jpg)
อภิชาต เหล็กงาม ทีมงานของ Narit กำลังอธิบายรายละเอียดของเครื่องเคลือบกระจก
![กระจกที่เคลือบได้จากเครื่องเคลือบกระจกและจะใช้ในโครงการ Cherenkov Telescope Array](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark2.jpg)
กระจกที่เคลือบได้จากเครื่องเคลือบกระจกและจะใช้ในโครงการ Cherenkov Telescope Array
เครื่องเคลือบกระจกของไทยนั้นใช้เทคนิคการยิงอะตอมเข้าไปบนผิวกระจกเพื่อเคลือบ แทนที่การเคลือบแบบเก่าที่ใช้ไอระเหยมาเกาะกระจก ทำให้ได้ผลงานที่คงทน จากความสำเร็จนี้จึงทำให้ไทยได้เข้าร่วมโครงการ Cherenkov Telescope Array หรือกลุ่มกล้องโทรทรรศน์เพื่อสืบหาพลังงานเริ่มต้นของจักรวาล โดยไทยจะพัฒนาเครื่องเคลือบรุ่นใหม่ที่ได้ทำงานได้เร็วขึ้น เพื่อส่งไปเคลือบกระจกกว่า 6000 บาน ในโครงการนี้ที่ชิลี ทำให้เรามีสิทธิ์ได้ข้อมูลการวิจัย และ Time Slot สำหรับใช้กล้องโทรทรรศน์ Cherenkov เพื่อการวิจัยของไทยด้วย
ห้องปฏิบัติการ CNC
![เครื่อง CNC กำลังสกัดอลูมิเนียมให้ได้รูป](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark6.jpg)
เครื่อง CNC กำลังสกัดอลูมิเนียมให้ได้รูป
![ผลงานของห้อง CNC](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark5.jpg)
ผลงานของห้อง CNC
![สามารถสร้างเมาท์เลนส์เพื่อให้กล้องดิจิตอลเชื่อมต่อกับกล้องโทรทรรศน์ได้](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark4.jpg)
สามารถสร้างเมาท์เลนส์เพื่อให้กล้องดิจิทัลเชื่อมต่อกับกล้องโทรทรรศน์ได้
![หลังจากผลิตเสร็จแล้ว ก็ต้องเข้าเครื่องตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark7.jpg)
หลังจากผลิตเสร็จแล้ว ก็ต้องเข้าเครื่องตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน
ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นั้นไม่ใช่ผู้บริโภคเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้สร้างด้วย โดยมีห้องปฏิบัติการ CNC พร้อมเครื่องจักรทันสมัยเป็นของตัวเอง เพื่อสกัดขึ้นรูปอลูมิเนียมและโลหะอื่น ๆ ให้เหมาะสำหรับสำหรับการทำอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งเพื่องานวิจัยและการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือทางดาราศาสตร์ เช่นเมาท์เลนส์พิเศษสำหรับต่อกล้องดิจิทัลกับกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์ฐานกล้องโทรทรรศน์ หรือตัวจับปริซึม นอกจากนี้ยังสามารถทำ Anodized Aluminium หรือการทำสีให้อลูมิเนียมได้อีกด้วย
ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์
![ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark8.jpg)
ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์
![เครื่องผลิตแผงวงจรในห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark9.jpg)
เครื่องผลิตแผงวงจรในห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์
![ทีมงานห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์กับกลไกควบคุมกล้องโทรทรรศน์ที่กำลังพัฒนา](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark10.jpg)
ทีมงานห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์กับกลไกควบคุมกล้องโทรทรรศน์ที่กำลังพัฒนา
นอกจากนี้ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังมีห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยตอนนี้กำลังพัฒนาชุดควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์เพื่อติดตามวัตถุบนท้องฟ้าให้ยืดหยุ่นกว่าระบบเดิมที่ซื้อมาจากต่างประเทศด้วยงบประมาณการสร้างที่น้อยกว่าการซื้อระบบใหม่ ซึ่งระบบใหม่จะสามารถติดตามวัตถุใกล้โลกอย่างดาวเทียมได้ แถมทีมพัฒนาไทยยังได้สร้างองค์ความรู้ที่สำคัญทั้งการพัฒนาฮาร์ดแวร์เคลื่อนไหวที่ละเอียดและแข็งแรงสำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ พร้อมซอฟต์แวร์ควบคุมที่แม่นยำ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงทดสอบระบบในช่วงต้นปี 2564 นี้
ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ (Optic Labs)
![Dr.Christophe Buisset เซ็ตอุปกรณ์ใน Optic Lab ให้เหมือนแสงจากดวงดาว](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark12.jpg)
Dr.Christophe Buisset เซ็ตอุปกรณ์ใน Optic Labs ให้เหมือนแสงจากดวงดาว
![ต้นแบบของเครื่อง Spectrograph ที่กำลังศึกษา](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark13.jpg)
ต้นแบบของเครื่อง Spectrograph ที่กำลังศึกษา
![อุปกรณ์ใน Optic Lab ต้องใช้ความละเอียดมาก](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark15.jpg)
อุปกรณ์ใน Optic Labs ต้องใช้ความละเอียดมาก
![พื้นที่ทั้งหมดของ Optic Lab เป็นห้องปลอดฝุ่น](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark14.jpg)
พื้นที่ทั้งหมดของ Optic Labs เป็นห้องปลอดฝุ่น
ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังมีห้องปฏิบัติการชั้นสูงอย่าง Optic Labs เพื่อออกแบบและทดสอบเครื่องมือด้านแสงต่าง ๆ อย่างเครื่อง Spectrograph (สเปกโตกราฟ) ที่วิเคราะห์แสงเพื่อหาองค์ประกอบหรือลักษณะของแหล่งกำเนิดแสง โดยเฉพาะแสงจากดวงดาวอันไกลโพ้น ซึ่งห้องแล็ปนี้ยังสร้างให้เป็น Clean Room เพื่อป้องกันฝุ่นละอองในอากาศเข้าไปสร้างความคลาดเคลื่อนให้กับเครื่องมือทดสอบความละเอียดสูงอีกด้วย ซึ่งบนโต๊ะทดลองเราจะเห็นทั้ง เลนส์, กระจก, ปริซึม หรือแหล่งกำเนิดแสงแบบต่าง ๆ เพื่อจำลองให้เหมือนแสงจากดวงดาวเพื่อทดสอบแนวคิดและปรับปรุงการทำงานของอุปกรณ์ ก่อนที่จะนำไปผลิตจริง
กิจกรรมพิเศษ NARIT AstroFest 2020
![AstroFest 2020](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/82390720_2868476979882564_4514900734298292224_o.jpg)
AstroFest 2020
NARIT AstroFest 2020 มหกรรมดาราศาสตร์ครั้งแรกในไทย จะจัดในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ โดยรวมหลากหลายกิจกรรมพิเศษทางดาราศาสตร์ สำหรับทุกเพศทุกวัย จัดขึ้นตลอดสองวันสองคืน เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนมาเยี่ยมชมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยเชิญชวนผู้สนใจ ร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 09.00-22.00 น. มีกิจกรรมน่าสนใจ เช่น
- สนุกกับนิทรรศการดาราศาสตร์ 19 โซนการเรียนรู้
- ท่องเอกภพในท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัล ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
- เปิดหลังบ้าน ชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง อาทิ วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ มากมาย
- NARIT Family Camp ค่ายครอบครัวดาราศาสตร์เพื่อทุกคนในครอบครัว ครั้งแรกในเชียงใหม่
- Meet the Astronomers ล้อมวงคุยเฟื่องทุกเรื่องที่สงสัยกับนักดาราศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง ช่วงเวลา 14:00-15:00 น.
- ชมดาวเคล้าดนตรีในสวนสวย ฯลฯ
![ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/01/AstroPark21.jpg)
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส