ประเทศไทยนั้นติดระดับโลกหลายเรื่องนะครับ เรื่องที่ใกล้ตัวเราหน่อยก็คือ Social Commerce หรือการค้าขายผ่านสื่อโซเซียลนี่แหละ ที่เราค้าขายผ่านช่องทางนี้กันมากจนฝรั่งเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ถึงกับต้องบินมาศึกษาพฤติกรรมการใช้งานในประเทศเรา และเมื่อมีการค้าเกิดขึ้น ก็ต้องมีการจ่ายเงินระหว่างผู้ซื้อมายังผู้ขาย ซึ่งในจุดนี้แหละที่ PayDii บริการใหม่จาก KGP หรือ KASIKORN Global Payment จะเข้ามาทำให้ง่ายขึ้น
ความเหนื่อยยากลำบากของการชำระเงินแบบเดิม
ใครที่เคยซื้อของผ่านการแชตน่าจะนึกภาพความวุ่นวายตรงนี้ออกนะครับ คือเมื่อเราตกลงปลงใจจะซื้ออะไรสักอย่างแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็จะรีบส่งช่องทางการโอนเงินมาให้เราอย่างไว ถ้าส่งมาเป็นข้อความก็ง่ายหน่อย สามารถก็อปตัวเลขไปแปะในแอปธนาคารเพื่อโอนเงินได้ (แต่ก็จะลำบากตรงต้องนั่งป้ายข้อความเพื่อก็อปเฉพาะตัวเลขบัญชีมา) แต่ถ้าส่งมาเป็นรูป เราก็ต้องเปิดแอปแชตกับแอปธนาคารสลับไปมาเพื่อดูว่าเราป้อนเลขที่บัญชีถูกต้องไหม แล้วมานั่งเช็กอีกทีว่าใส่ราคาสินค้าถูกไหม เมื่อโอนเสร็จก็ต้องส่งสลิปไปยืนยัน ส่วนทางฝั่งผู้ค้าก็ต้องเอาสลิปไปตรวจว่ามีการโอนมาจริง ๆ เหนื่อย!
พ่อค้า-แม่ค้าที่ขายของต่อวันมาก ๆ ก็ต้องเสียเวลากับเรื่องนี้เยอะ
PayDii ทำให้การชำระเงินผ่าน facebook ได้ง่ายขึ้น
อธิบายง่าย ๆ คือหลังจากที่เปิดบริการ PayDii โดย KGP ผูกกับเพจของเราแล้ว จะมีปุ่ม ฿ ขึ้นมาในหน้าสนทนากับลูกค้า ซึ่งผู้ค้าสามารถกดปุ่ม ฿ นี้เพื่อสร้างใบแจ้งยอดอัตโนมัติ ไปหาลูกค้าได้เลย ซึ่งผู้ค้าไม่ต้องสร้างไอเท็มหรือ SKU ในส่วน Shop ของเฟซบุ๊กก็สามารถพิมพ์ตัวเลขเรียกเก็บเงินได้เลย
ส่วนฝ่ายลูกค้าสามารถกดชำระเงินจากใบเรียกเก็บเงินใน facebook messenger เพื่อกรอกที่อยู่ และเลือกช่องทางจ่ายเงินได้เลยซึ่งรองรับทั้ง
- บัตรเครดิต Visa, Mastercard, JCB ซึ่งสามารถจำเลขบัตรไว้ในระบบที่ปลอดภัยของ PayDii ทำให้ใช้จ่ายครั้งต่อไปได้อย่างรวดเร็ว
- บัญชีธนาคารกสิกรไทยผ่านแอป K PLUS
- บัญชีธนาคารกรุงเทพผ่านแอป Bualuang mBanking
- บัญชีธนาคารกรุงศรีฯ ผ่านแอป KMA
- บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านแอป SCB Easy
ไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับการโอน ส่วนบัตรเครดิตคิด 2.5%
โดยถ้าเลือกชำระผ่านแอป 4 ธนาคารนี้ ระบบก็จะข้ามไปทำงานต่อในแอปของธนาคารอัตโนมัติเพื่อยืนยันการโอนเงินให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็จะนำข้อมูลการโอนเงิน สลิปการชำระเงินกลับมาที่ facebook messenger เพื่อแจ้งให้ผู้ขายทราบเอง ผู้ใช้ไม่ต้องจำเลขวุ่น ๆ อีกต่อไป ส่วนผู้ขายก็จะได้รับข้อความยืนยันจากระบบที่ชัดเจนว่าได้รับเงินเรียบร้อยหรือยังไม่เรียบร้อย ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลามาตรวจสอบซ้ำ และเงินที่ได้รับจากการค้าขายก็จะโอนเข้าบัญชีที่ผูกไว้ในวันรุ่งขึ้นเลยโดยอัตโนมัติ
ช่วงแรก KGP เปิดระบบ PayDii สำหรับร้านค้าบุคคลก่อน และจะพร้อมสำหรับร้านค้าที่เป็นนิติบุคคลเร็ว ๆ นี้ ซึ่งร้านค้าที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลที่สนใจจะเป็นร้านค้ากลุ่มแรกที่ได้เริ่มใช้ PayDii แบบนิติบุคคล สามารถมาสมัครได้ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ 09.00 – 16.00 น. ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน ห้องประชุมสุขสามัคคี ชั้น 8 สอบถามรายละเอียด และเอกสารที่ต้องใช้ได้ที่ 02-008-8820
PayDii ตั้งใจจะเป็นบริษัทรับชำระเงินที่ดี
เรายังได้มีโอกาสคุยกับคุณเถกิง ออศิริชัยเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์หรือ KGP ถึงอนาคตของบริการ PayDii และเป้าหมายของบริษัท โดยคุณเถกิงบอกเราว่าจุดเริ่มต้นของ KGP นั้นมาจากธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ลงทุน แต่บริษัทก็มีอิสระมากพอที่จะทำงานร่วมกับแบงก์อื่น ๆ ได้ไม่มีปัญหา โดย KGP ตั้งใจจะเป็นบริษัทรับชำระเงินหรือ Payment Service Provider ที่ดี ซึ่งคำว่า Good Payment Company ของคุณเถกิงนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างคือ
- ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่ง KGP จะพยายามศึกษาลูกค้าทั้ง 2 ฝั่งให้มากที่สุด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในไทย
- ต้องช่วยให้คนขายขายดีขึ้น ซึ่งระบบที่ใช้งานง่าย จะทำให้คนซื้อตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมามีคนทิ้งของในตระกร้าราว 50-70% เพราะไม่อยากยุ่งยากกับการชำระเงิน
- ต้องเป็นระบบที่มีความปลอดภัย ซึ่ง KGP ก็ใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในระดับเดียวกับธนาคารเลย นอกจากนี้เรายังมีระบบการคัดกรองผู้ค้าด้วย เพื่อไม่ให้ใช้ช่องทางของ KGP ไปทำสิ่งผิดกฎหมาย หรือใช้เป็นช่องทางในการโกงต่าง ๆ
ระบบของ KGP จะถูกสร้างขึ้นตามแนวทาง Good Payment, Great Potential คือระบบการชำระเงินที่ดีครบเครื่องเพื่อศักยภาพเต็มที่บนโลก Digital
อนาคตของ KGP ที่ไม่ได้หยุดแค่ในไทย
นอกจากการพัฒนาบริการสำหรับประเทศไทยแล้ว คุณเถกิง ยังเผยว่า KGP มีแผนพัฒนาในกลุ่มประเทศ AEC +3 (ประเทศ AEC + จีน, ญี่ปุ่นและเกาหลี) เพราะตลาดการค้าขายออนไลน์ของ AEC นั้นเติบโตเร็วมาก โดย KGP ให้ความสำคัญกับความเข้าใจตลาด และความต้องการของลูกค้าผู้ซื้อและผู้ขายในแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศก็มีรูปแบบการจ่ายที่มีความเฉพาะตัวแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังศึกษากฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจในประเทศนั้น
ในช่วงแรกจะรับจ่ายแค่ในประเทศนั้น ๆ ก่อนที่จะพัฒนาให้รับจ่ายข้ามประเทศได้ ซึ่งยังอยู่ในขั้นการศึกษาและกำหนด Timeline ที่ชัดเจน
นอกจากนี้สำหรับแพลตฟอร์มอื่น ๆ นอกจาก facebook ก็กำลังศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเว็บต่าง ๆ เพื่อให้เว็บมีระบบรับชำระของ KGP
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส