ตั้งใจว่าจะเริ่มต้นการเขียนคอลัมน์นี้ด้วยข้อคิดจากการไปดูงานที่ประเทศ สิงคโปร์ และ สปป.ลาว แต่ต้องเปลี่ยนใจเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯและคำให้สัมภาษณ์ของ ผู้ว่าฯกทม.
รายละเอียดผู้อ่านท่านที่รักคงจะหาได้จากสื่อมวลชนผมจึงไม่ขอนำมาลงให้เกิดการ ขยี้ประเด็น และต่อความยาวสาวความยืดนะครับ
การให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นละเอียดอ่อนทั้งหลายทั้งปวงจากปากผู้นำนี่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองเรายังไม่กลับสู่ภาวะปรกติสืบเนื่องมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันทางการเมือง
หากท่านผู้อ่านได้เข้าไปเช็ค mood and tone ของพี่น้องชาวกทม.จาก social media ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น FB หรือ twitter ท่านก็จะพบกับหลากหลายความคิดเห็นและอารมณ์ร่วม
มีหลายท่านที่แสดงความคิดเห็นแบบไม่ได้แยกแยะว่านี่เป็นเรื่องความเดือดร้อนที่เวิ่นเว่อของพวกเสื้อสีลิเวอร์พูล ( แมนฯยูฯ ด้วย ) ป่าวร้องประดังบิดาสิ้นลมทั้งๆที่น้ำท่วมแค่แป๊บเดียว
จะแป๊บสั้นแป๊บยาวไอ้รถที่จมน้ำก็ต้องซ่อมเหมือนกันละน้องเอ๋ย
ยิ่งมาอ่านเจอคำสัมภาษณ์ที่โดนตกแต่งถ้อยคำให้ดูหวือหวาเช่น ( ผม ) ไม่ใช่เทวดา …
ไปกันใหญ่ครับต่อมมโนพุ่งพล่านยิ่งเรียกแขกคนเสื้อสีลิเวอร์พูล
ผมถึงบอกไงว่าการให้สัมภาษณ์ใดๆในกรณีที่มีความละเอียดอ่อนนั้นสำคัญนัก อนาคตดับกันมาเยอะทั้งไทยและเทศ
มันจำเป็นด้วยหรือที่ ผู้ว่าฯกทม. ต้องออกมาให้ข่าวหรือชี้แจงว่าหน้าที่ตนคือการบริหารมีลูกน้องอยู่หน้างานอยู่แล้ว ในยามเดือดร้อนเราชาวประชาแค่เห็นท่านเดินลุยน้ำก็ชื่นใจแล้วครับ
หรือจะลุยน้ำลุยฝนกันเฉพาะปีเลือกตั้ง
ตัวท่านเองยิ่งมีชนักติดหลังเรื่องอุโมงค์ยักษ์ตอนลงหาเสียงงวดที่แล้ว เเคมเปญ #Vote16 ของท่านเห็นมีคนเอาทวีตเก่าๆมาลงอยู่เมื่อวานถามหาอุโมงค์ยักษ์คล้ายๆ จา พนม ตามหาช้างกูอยู่ไหน
ผู้ว่าฯยิ่งต้องระมัดระวังคำพูดอย่างหนักเป็นสามเท่าครับ
ถ้าได้ดูภาพเคลื่อนไหวจะเห็นจังหวะสีหน้าท่านแสดงอารมณ์ในช่วงที่บอกว่า ผมเป็นคนธรรมดา … แต่แก้ปัญหาได้ทัน …
ต้องเยือกเย็นกว่านี้ในยามวิกฤตครับ ด้วยความเคารพครับถึงแม้ท่านจะกล่าวขอโทษต่อพี่น้องชาวกรุงที่เดือดร้อนไปแล้วก็ตามเถิด
First impression หรือ First engagement นั้นสำคัญนัก ยิ่งในยุคที่ทุกคนเป็นนักข่าวได้แบบนี้ น่ากลัวครับ เพราะคำพูดของท่านมันจะถูกนำไปใช้วนไปวนมามีแต่ลบไม่มีบวก
เหมือนในวงการท่องเที่ยวพูดกันว่า a happy customer never writes นั่นแหละครับ ลูกค้ามีความสุขมักจะไม่เขียนชม
ไหนๆก็มาเรื่องนี้แล้วขอย้อนกลับไปเรื่องภาษีบ้านของท่านผู้นำกันหน่อย
หากท่านยังจำคำพูดของท่านผู้นำได้ ถ้าจำไม่ได้ผมไม่ขอย้อนนำมาลงให้เป็นประเด็นแต่จะนำเสนอว่าทุกอย่างอยู่ที่พูดจริงๆนะครับ
สมมติว่าท่านผู้นำพูดออกทีวีอย่างนี้ ….
“พี่น้องครับเรามาถึงจุดที่เงินหมดคลังจริงๆแล้วครับ เราเดินหน้าไปต่อไม่ได้แล้วเงินกู้ก็กู้เขามาจนเต็มวงเงิน พี่น้องครับผมกราบเรียนขอความเห็นใจจากพี่น้องครับ ปีนี้ผมขอภาษีจากพี่น้องอีก ๑๐เปอร์เซ็นต์ และขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ๑ เปอร์เซ็นต์ ปีเดียวครับเราจะได้เงินคืนมาใช้หนี้ใช้สินต่างๆและเดินหน้าต่อไปได้ ทุกอย่างจะโปร่งใสครับพี่น้องเงินเก็บมาได้เท่าไหร่รัฐบาลจะชี้แจงให้เห็นทุกบาททุกสตางค์และเพื่อเป็นการตอบแทนพี่น้องที่เห็นแก่ประเทศชาติในปีหน้าผมจะจัดให้มีการลดภาษีคืนหรือมีมาตรการเยียวยา…” บลา บลา ว่ากันไป
ฟังดูดีมี๊ยครับพอที่จะได้ใจประชาชนบ้างและมีเหตุผลเพราะการจะเพิ่ม Vat หรือ เก็บภาษีเพิ่มมันมีระบบของมันอยู่แล้วไม่ต้องคิดระบบใหม่ที่ฝรั่งเขาเรียก invent a new wheel ซึ่งเสียทั้งเงินที่ไม่ค่อยจะมีและบุคคลากรแถมทำแล้วจะได้เท่าเสียหรือไม่ยังไม่รู้แน่ชัด ที่เสียแน่ๆคือเมื่อความคิดออกจากปากท่านผู้นำแล้วเกิดการขยี้ประเด็นกันสนุกปากสนุกมือ
สุดท้ายนอกจากจะไม่ได้ทำแล้วยังเรียกแขกเพิ่มโดยไม่จำเป็น คนที่สนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่ก็อาจจะต้องเริ่มคิดหน้าคิดหลังเพราะบ้านที่อยู่มา ๒๐ปี ตอนซื้อราคาไม่กี่บาทแต่ตอนนี้มูลค่ามันเพิ่มจะโดนประเมินแบบไหนไปๆมาๆเข้าตัวเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
คำพูดที่ว่าสำคัญแล้ว วิธีการพูดกลับล้ำลึกและสำคัญกว่าครับ
เจอกันครั้งแรกก็ขอจัดแบบเบาๆก่อน ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่า สิงคโปร์ บริหารจัดการอย่างไรสนามบินของเขาจึงเหนือกว่าเราวันยังค่ำ