จากความสำเร็จของการปล่อยและเชื่อมต่อยาน Crew Dragon เข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station; ISS) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า แล้วในอดีตที่ผ่านมา นาซาเคยใช้ยานของตนลำใดส่งคนขึ้นไปในอวกาศกัน และเพราะล้มเหลวหรือจึงเลิกไป มาไขคำตอบด้วยบทความนี้กันครับ
การขนส่ง ‘คนและของ’ ของสหรัฐฯ ด้วยยานของนาซา ก่อนหน้า SpaceX
ในอดีตหากพูดถึงกระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกา จะหมายถึงเครื่องบินอวกาศที่สร้างขึ้นโดยองค์การนาซา (NASA) ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบการขนส่งอวกาศ (Space Transportation System; STS) กระสวยอวกาศลำแรกนำมนุษย์ทะยานจากฐานขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1981 และดำเนินการขนส่งมนุษย์อวกาศและพัสดุเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี
ภารกิจการนำส่งนี้มีทั้งการนำชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติ ขึ้นไปประกอบการซ่อมแซมและดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (Chandra X-Ray Observatory) อีกทั้งยังมีส่วนช่วยซ่อมและส่งดาวเทียมกลับคืนสู่วงโคจร รวมถึงส่งยานสำรวจไปยังดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์ ตลอดจนภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กระสวยอวกาศของสหรัฐฯ มีทั้งหมด 5 ลำด้วยกัน ได้แก่
- โคลัมเบีย (Columbia) – ระเบิดระหว่างกลับสู่พื้นโลกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2003
- ชาเลนเจอร์ (Challenger) – ระเบิดระหว่างการขึ้นสู่อวกาศ 28 มกราคม 1986
- ดิสคัฟเวอรี (Discovery)
- แอตแลนติส (Atlantis)
- เอนเดฟเวอร์ (Endeavour)
รวมใช้ในภารกิจทั้งสิ้น 135 ภารกิจ โดยขนส่งมนุษย์เป็นจำนวน 355 คน เดินทางรวมเป็นระยะทางกว่า 804,670,000 กิโลเมตร (หรือประมาณ 500 ล้านไมล์) และใช้เวลามากกว่า 1,300 วัน ในวงโคจร เทียบท่า ณ สถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย (Russia’s Mir space station) 9 ครั้ง และเทียบท่า ณ สถานีอวกาศนานาชาติมากกว่า 35 ครั้ง
![เครื่องบินบรรทุกพิเศษ 747 กำลังบรรทุก กระสวยอวกาศ Columbia จาก Palmdale รัฐแคลิฟอร์เนียไปยัง Kennedy Space Center รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2001](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/Columbia.jpg)
![กระสวยอวกาศ Discovery กำลังลงจอดหลังเสร็จสิ้นภารกิจ STS-124](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/Discovery.jpg)
![ยาน Atlantis ขณะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเมียร์ ในภารกิจ STS-79](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/NM22-427-023_large.jpg)
กระสวยอวกาศประกอบด้วยหลายส่วน ส่วนที่คนเรียกว่า ‘กระสวย’ (Shuttle) แท้จริงคือ ยานอวกาศ หรือยานโคจร (Orbiter) ที่เป็นส่วนบรรทุกคนหรือพัสดุ มีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘เพย์โหลด’ (Payloads) โดยมีเครื่องยนต์หลักเป็นส่วนหนึ่งของยาน นอกจากตัวยานแล้ว แต่ละกระสวยยังมี แสตก (Stack) หรือส่วนที่ใช้ช่วยขับเคลื่อนอีกสองส่วนคือ แทงค์ด้านนอก (External Tank) หรือแทงค์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ สีส้ม และจรวดผลักดัน (Solid rocket boosters) อีกสองอัน ซึ่งเป็นแทงค์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่ส่งแรงผลักดันในกระสวยทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐาน องค์ประกอบทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือแทงค์ด้านนอก ซึ่งถูกออกแบบให้เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศก่อนตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในการปล่อยยานแต่ละครั้ง
![กระสวยอวกาศ Endeavour ที่ฐานปล่อย ซึ่งจะถูกวางตั้งยึดติดกับแทงค์ด้านนอก (สีส้ม) และจรวดผลักดัน (สีขาวขนาบข้าง)](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/jsc2009e143031_large.jpg)
‘Endeavour’ ยานขนส่งประวัติศาสตร์ มากกว่า ‘ความพยายาม’ ก็คือ ‘ความ (มุ่งหวังให้) สำเร็จ’
เพื่อแทนที่กระสวยอวกาศ Challenger ที่ประสบกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งระเบิดออกหลังทะยานสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาทีหลังออกจากฐาน Endeavour จึงถูกสร้างขึ้น และนับเป็นกระสวยอวกาศลำสุดท้ายที่นาซาส่งขึ้นไปในอวกาศ ในยานมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ หลายอย่างที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกการบังคับเลี้ยวที่ทันสมัยขึ้น การอัปเกรดระบบประปาและไฟฟ้าภายใน ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น และรางลากที่ช่วยลดการสึกหรอของเบรกและยางของกระสวย และยังมีอีกหลายนวัตกรรมที่ถูกเพิ่มเข้าไปในยานระหว่างช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติหน้าที่
![Challenger ขณะออกจากฐานในวันเกิดเหตุหายนะ](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/Challenger.jpg)
![Challenger ระเบิดหลังจากขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาที](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/1334px-Challenger_explosion.jpg)
เพื่อตั้งชื่อให้กระสวยลำใหม่สุดไฮเทคนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงจัดการประกวดชื่อกระสวยอวกาศขึ้น และนับเป็นครั้งแรกที่ให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันนี้ด้วย โดยเด็ก ๆ เหล่านี้ ได้รับคำแนะนำให้ลองนำเสนอชื่อที่มีรากฐานมาจากยานหรือเรือสำรวจในอดีต จากนั้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีจอร์จ บุชก็ได้ประกาศชื่อที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งชื่อนั้นก็คือ ‘Endeavour’ ที่มีความหมายว่า ‘ความพยายาม’ นั่นเอง
นอกจากความหมายตรงตัวที่ดีเยี่ยม Endeavour ยังตั้งตามชื่อเรือที่กัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการเดินเรือและนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ใช้สำรวจดินแดนตามคำมอบหมายของกองทัพเรืออังกฤษและราชสมาคมด้วย โดย 98 ชีวิตบนเรือนั้น มีนักวิทยาศาสตร์และศิลปินจำนวน 11 คน นำเอาความรู้มหาศาลกลับสู่เกาะอังกฤษ
![ภาพวาดเรือ Endeavour](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/1024px-HMS_Endeavour_off_the_coast_of_New_Holland_by_Samuel_Atkins_c.1794.jpg)
โดย แซมูเอล แอคกินส์ (Samuel Atkins)
เป้าหมายหลักของการสำรวจนี้คือ การสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) ที่เกาะตาฮิติ ข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะห่างจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
ความสำเร็จของการสำรวจในครั้งนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการจัดทำแผนที่ของนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย การนำทางในแถบ Great Barrier Reef นอกจากนี้ ยังค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก ทำให้ได้ข้อมูลจดบันทึกเพิ่มเติม ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์มากมายตามมา จึงไม่แปลกเลยที่ชื่อนี้จะเหมาะสมอย่างที่สุด ที่จะฟื้นคืนกำลังใจในการไป (อวกาศ) ต่อของชาวอเมริกาไว้ได้ และคว้าชัยเป็นชื่อของกระสวยอวกาศลำใหม่ (ในตอนนั้น) ที่เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในที่สุด
นานาภารกิจแห่งความสำเร็จของ ‘Endeavour’
จากความพยายามในการสร้างยานและปรับปรุงระบบภายในอยู่หลายปี ในที่สุด กระสวยอวกาศ Endeavour ก็ทะยานออกจากฐานครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 ในภารกิจ STS-49 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมและปล่อยดาวเทียมสื่อสาร นามว่า INTELSAT VI กลับคืนสู่วงโคจร
![ลูกเรือสามคนของ Endeavour ได้บันทึกภาพ INTELSAT VI ด้วยมือในภารกิจแรกนี้](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/endeavour-sts-49-intelsat.jpg)
แม้ว่าการจับสัญญาณดาวเทียมในภารกิจนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ลูกเรือก็สามารถทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ผ่านการเดินในอวกาศ (Spacewalks) หรือการปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ อย่างต่อเนื่อง 4 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในห้วงเวลานั้น เพราะการเดินในอวกาศหนึ่งครั้งในนั้นถือเป็นการเดินที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ได้รับการบันทึกมาก่อนหน้า และปัจจุบันถือเป็นความยาวอันดับ 2 ของโลก โดยเวลาที่ว่ายาวนานถึง 8 ชั่วโมงกว่า! (อันดับที่ 1 ณ ปัจจุบัน เป็นการเดินในอวกาศในภารกิจ STS-102 ที่ใช้เวลายาว 8 ชั่วโมง 56 นาที มากกว่าในภารกิจ STS-49 เพียง 17 นาที)
แค่เพียงภารกิจแรก Endeavour ก็ฉายภาพของความรุ่งเรืองอย่างเจิดจรัสแล้ว และนั่นก็นำมาซึ่งภารกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามอีก 25 ภารกิจที่ตามมา
หนึ่งในภารกิจหลักของ Endeavour ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ STS-61 ภารกิจแรกที่เดินทางไปยังกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานของกระจกหลักของกล้อง ระหว่างดำเนินภารกิจ มีการติดตั้งองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อแก้ไข ‘การมองเห็น’ หรือ ‘ทัศนวิสัย’ ของกล้อง ซึ่งเป็นส่วนที่มักถูกบรรยายว่าเป็น คอนแทคเลนส์หรือแว่นตาของกล้อง และหากขาดส่วนนี้ไปกล้องฮับเบิลก็จะไม่สามารถบันทึกภาพสวย ๆ ให้เราได้ชมกันอย่างทุกวันนี้
![นักบินอวกาศกำลังซ่อมแซมระบบทัศนวิสัยของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในภารกิจ STS-61](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/9461079254_c685a2ca0c_k.jpg)
นอกจากนี้ Endeavour ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเดินทางไปยังสถานีอวกาศอยู่หลายครั้ง อย่างภารกิจ STS-88 ที่ลูกเรือได้นำชิ้นส่วนสัญชาติอเมริกาชิ้นส่วนแรกที่ชื่อว่า Unity Module เข้าไปประกอบกับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือภารกิจ STS-100 ที่ขนส่งแขนและมือของหุ่นยนต์ Canadarm2 หรือ STS-123 ที่ได้นำชิ้นส่วนแรกของ Kibo Module ของญี่ปุ่น และแขนของหุ่นยนต์ Dextre ขึ้นไป
สำหรับภารกิจสุดท้ายของ Endeavour เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 เป็นภารกิจขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงชิ้นส่วนแขนหุ่นยนต์ Dextre ที่เคยนำขึ้นไปติดตั้งในภารกิจก่อนหน้า ถือเป็นการปิดฉากตำนานการขนส่งด้วยกระสวยอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จและสวยงามสมกับความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในครั้งสุดท้าย Endeavour ก็ได้เวลาปลดเกษียณ มีการลำเลียงยานใหญ่ยักษ์ขนส่งไปตามท้องถนน เพื่อเดินทางไปยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Science Center) อันเป็นที่พักพิงสุดท้าย ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่และความน่าภาคภูมิใจของมวลมนุษยชาติได้ในระยะประชิด
![ภาพในนิทรรศการที่ California Science Center แสดงให้เห็นถึงความใหญ่ยักษ์ของ Endeavour ขณะขนส่งไปตามท้องถนน](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/DSC5241-1.jpg)
![Endeavour ที่จัดแสดงอยู่ ณ California Science Center แต่ขณะนี้ปิดไม่ให้เข้าชมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/DSC5303.jpg)
จาก Endeavour สู่ Crew Dragon และการเดินทางสู่อวกาศในอนาคต
แม้จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการขนส่ง ก็ใช่ว่ากระสวยอวกาศในรูปแบบเดิม ๆ จะอยู่ยั่งยืนยงตลอดไป การสร้างและปรับปรุงกระสวยอวกาศให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอนั้นใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลอเมริกาซึ่งนำโดยประธานาบดี จอร์จ บุช ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น จึงประกาศหยุดและยกเลิกภารกิจกระสวยอวกาศไป และได้แถลงว่าจะกลับไปอวกาศอีกครั้งเมื่อมีการจัดสรรหางบประมาณในส่วนนี้ได้ในอนาคต
งบประมาณที่จำกัดนี้เองที่นำมาสู่ทิศทางการใช้ ‘สิ่งที่มีอยู่’ นาซาจึงหันไปพึ่งการขนส่งในอวกาศด้วยยาน Soyuz ของรัสเซีย และด้วยการตัดสินใจร่วมกันกับรัฐบาลชุดใหม่จึงได้เปิดโครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชน (Commercial Crew Program) ขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในสร้างยานมูลค่ามหาศาลแทน เป็นที่มาของการพัฒนายานอวกาศของสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing และ SpaceX ซึ่งนำมาสู่การกำเนิดของยาน Crew Dragon ของ SpaceX ในที่สุด
แม้เราจะยังไม่รู้ว่ายานลำน้อยอย่าง Crew Dragon จะสร้างความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้อย่างที่ Endeavour เคยทำได้หรือไม่ แต่เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ระบบการควบคุมและการเชื่อมต่อที่นิ่งนิ่มสุดเพอร์เฟกต์ที่เราได้เห็นจากการถ่ายทอดสดการปล่อยและเชื่อมต่อของยาน Crew Dragon เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้ภาพความสำเร็จในอนาคตเริ่มฉายชัดขึ้นเรื่อย ๆ
![](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/06/Untitled-1-3.jpg)
การขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนนี้ ถือเป็นสัญญาณชี้ว่า พลเรือนและประชาชนทั่วไปได้เข้าใกล้การผจญภัยในอวกาศอย่างในภาพยนตร์ขึ้นมาอีกนิดแล้ว
ก็ขอเอาใจช่วยให้ภารกิจของยาน Crew Dragon ที่กำลังดำเนินอยู่ ประสบความสำเร็จและนำสองนักบินอวกาศกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัยด้วยนะครับ หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่แน่ว่า เราอาจจะได้เห็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอวกาศอีกหลายอย่าง รวมทั้งเป็นประจักษ์พยานการขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนอีกหลายสิบหลายร้อยเที่ยว มากกว่าที่เคยมีมาก็ได้….ใครจะรู้
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส