สำหรับคนที่คิดอยากจะเริ่มต้นถ่ายภาพแต่ยังไม่มีพื้นฐานใด ๆ เลย ชัตเตอร์สปีดคืออะไร รูรับแสงมีความสำคัญอย่างไร ISO ควรปรับแค่ไหน ค่าอะไรเยอะแยะไปหมดไม่เข้าใจ เลนส์มีกี่ประเภทแบบไหนบ้าง วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันครับ
ซึ่งพื้นฐานหลัก ๆ ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบใหญ่ คือ Aperture, Shutter Speed และ ISO
1. Aperture
Aperture รูรับแสงหรือที่บางคนเรียกว่า ค่า F ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนรูม่านตาของเรานั้นเองครับ รูรับแสงมีหน้าที่หลัก ๆ คือ ควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าไปยังภาพ และเป็นตัวกำหนดระยะชัดลึกชัดตื้นอีกด้วย
ยิ่งรูรับแสงกว้าง (ค่า F น้อย) แสงก็จะเข้าได้มากถ่ายละลายฉากหลังได้ดี แต่ถ้ายิ่งรูรับแสงแคบ (ค่า F มาก) แสงก็จะเข้าไปได้น้อย ภาพก็จะมืดลงแต่มีความชัดลึกที่สูงขึ้นหรือสรุปง่าย ๆ ได้ดังนี้ครับ
รูรับแสงกว้าง (ค่า f น้อย)
- แสงเข้าได้มากภาพสว่างขึ้น
- ละลายฉากหลังได้ดี หรือที่เราเรียกกันว่าถ่ายหน้าชัดหลังเบลอหรือโบเก้นั้นเอง
- ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดี
รูรับแสงแคบ (ค่า f มาก)
- แสงเข้าได้น้อย ภาพมืดลง
- มีความชัดลึกสูงขึ้น
- เหมาะกับถ่ายภาพแนว landscape
- ถ่ายในที่แสงน้อยได้ยาก
2. Shutter Speed
Shutter Speed หรือความเร็วชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์เป็นตัวกำหนดระยะเวลารับแสงของกล้อง ยิ่งความเร็วชัตเตอร์สูงก็จะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวในภาพได้ดีทำให้ภาพคมชัดได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่น คนกำลังวิ่งอยู่หรือถ่ายนกบิน ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ เราก็จะสามารถจับภาพพวกนี้ให้ชัดได้ง่ายแต่ยิ่งความเร็วชัตเตอร์สูงสิ่งที่ต้องแลกมาก็คือภาพจะมืดลงด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวก็จะทำให้ภาพคมชัดได้ยากขึ้นหรืออาจจะเบลอไปเลย และสปีดยิ่งช้าสิ่งที่ได้มาก็คือภาพจะสว่างขึ้นตรงกันข้ามกับสปีดสูง
Shutter Speed สูง
- สามารถใช้จับภาพสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้
- ยิ่งสปีดสูงภาพยิ่งมืดลง
Shutter Speed ต่ำ
- ถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ยาก อาจจจะทำให้ภาพสั่นไหวได้ถ้าสปีดต่ำเกินไป
- นิยมใช้ถ่าย Landscape ที่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง, ถ่ายไฟรถวิ่งให้เป็นเส้น ๆ หรือ ถ่ายภาพน้ำให้ดูฟุ้ง
- ยิ่งสปีดช้า ปริมาณแสงยิ่งเข้ามาก ภาพสว่างขึ้น
Tips : ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำที่เราสามารถถือถ่ายได้จะเทียบเท่ากับระยะเลนส์ที่ใช้ เช่น ถ้าใช้เลนส์ 50mm สปีดขั้นต่ำก็คือ 1/50 หรือถ้าใช้เลนส์ 200mm สปีดขั้นต่ำก็ต้องอยู่ที่ 1/200 หรือสูงกว่าภาพจะได้ไม่เบลอ
3. ISO
ISO หรือค่าความไวแสง บางคนก็เรียกไอโซ บางคนเรียกก็ไอเอสโอ ผมอยากจะให้คิดว่า ISO เป็นตัวเลือกสุดท้ายหลังจากที่เราปรับ Shutter speed และ ค่า F เสร็จแล้วครับ
ถ้าถามว่าทำไมต้องคิดแบบนั้น สมมติว่าเราต้องการถ่ายภาพคนในที่แสงน้อย เราเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่เราถือถ่ายได้กับค่ารูรับแสงกว้างสุดแล้วแต่ภาพยังมืดอยู่ ISO จะมาช่วยชดเชยเราตรงนี้ได้ครับ ยิ่งค่า ISO สูงขึ้นภาพก็ยิ่งสว่างขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ Noise หรือสัญญานรบกวนในภาพนั้นเอง ที่ ISO 100 ภาพก็จะเนียนใส แต่ถ้าปรับไปที่ ISO 3200 ภาพก็จะเริ่มหยาบมี Noise ขึ้นมาในภาพแทน
4. ความสัมพันธ์ระหว่าง Shutter Speed, Aperture และ ISO
ทั้งสามค่าที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ล้วนสัมพันธ์กันหมด ในภาพประกอบข้างบนได้สรุปทั้งสามค่าอย่างง่ายไว้ให้แล้ว แต่ผมจะสมมติโจทย์ให้เราได้ลองคิดกันดูก่อนนะครับ ซึ่งโจทย์แรกของเราก็คือถ่ายคนให้หน้าชัดหลังเบลอ
ขั้นแรกในการถ่ายคนหน้าชัดหลังเบลอเราก็ต้องใช้ค่ารูรับแสงที่กว้างเพื่อทำละลายฉากหลังใช่ไหมครับ จากนั้นก็เลือกใช้สปีดที่สามารถหยุดแบบที่ยืนอยู่ให้คมชัดได้ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1/60 ขึ้นไป พอเราเลือกค่ารูรับแสง และความไวชัตเตอร์เรียบร้อยแล้วเราก็มาดูว่าภาพของเรามืดไปหรือสว่างไปไหม ถ้าสว่างไปก็ปรับสปีดให้สูงขึ้น ถ้ามืดไปก็ดัน ISO ช่วย แค่นี้ก็จะสามารถทำให้เราได้ภาพที่คมชัด และตรงตามโจทย์ที่ต้องการแล้วครับ
มาลองกันอีกโจทย์หนึ่งนะครับ สมมติเราอยากจะถ่ายรถที่วิ่งอยู่ให้หยุดนิ่ง และชัดทั้งคัน ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องใช้สปีดสูง ๆ เพื่อที่จะหยุดรถให้ได้ใช่ไหมครับ แล้วถ้าอยากให้รถชัดทั้งคันด้วยก็ต้องใช้รูรับแสงที่แคบขึ้นมาหน่อย ทีนี้เราก็มาดูเหมือนเดิมว่าภาพของเรายังมืดไปหรือสว่างไปไหม ถ้าสว่างไปก็ดันสปีดให้สูงขึ้นหรือปรับค่ารูรับแสงให้แคบลงได้ แต่ถ้ามืดไปก็ใช้วิธีดัน ISO ช่วยเอาเหมือนเดิมครับ
ในตอนที่ฝึกใหม่ ๆ อาจจะยากสักนิดหนึ่งนะครับ พยายามลองถ่ายลองคิดบ่อย ๆ ว่าเราต้องการที่จะถ่ายอะไรอยากได้ภาพแบบไหน การทำแบบนี้จะช่วยให้เราเก่งขึ้นได้ครับ
5. เลนส์
เลนส์แบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่
- Prime Lens หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘เลนส์ฟิกซ์’ เลนส์ประเภทนี้มีระยะคงที่ซูมไม่ได้แต่มีรูรับแสงที่กว้าง
- Zoom Lens หรือเลนส์ซูม เลนส์ประเภทนี้สามารถเปลี่ยนระยะหรือซูมได้นั้นเอง แต่มีข้อเสียคือรูรับแสงไม่กว้างเท่าเลนส์ฟิกซ์ บางตัวยิ่งซูมระยะไกลขึ้นรูรับแสงก็ยิ่งแคบลงอีกด้วย
นอกจากนี้เลนส์ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ หลัก ๆ คือ
- Normal Lens เลนส์อเนกประสงค์ที่มีมุมภาพใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์ มีระยะประมาณ 50mm
- Wide Angle Lens เลนส์มุมกว้าง หรือเลนส์ที่มีระยะต่ำกว่า 50mm เช่น 16mm, 24mm, 35mm นิยมใช้ถ่ายภาพวิว
- Telephoto Lens เลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์ที่มีระยะสูงกว่า 50mm เช่น 85mm, 135mm, 200mm นิยมเอาไปถ่ายอะไรที่อยู่ไกล ๆ เช่น ถ่ายนก, ถ่ายรถในสนามแข่งหรือถ่าย Portrait
สรุป
ก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับพื้นฐานการถ่ายภาพเบื้องต้น ในการฝึกปรับค่ากล้องเบื้องต้นนั้นอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวกันสักพักหนึ่ง การที่หยิบกล้องออกไปถ่ายบ่อย ๆ จะช่วยให้เราเก่งขึ้นได้ และ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดครับ ในบทความต่อไปเราจะมาศึกษาเรื่องโหมดของกล้องกัน โหมดไหนเหมาะกับการถ่ายอะไร ใช้ในสถานการณ์แบบไหน ฝากติดตามรออ่านกันด้วยนะครับ
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ 🙂
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส