จากบทความก่อนหน้าที่ผมได้แนะนำพื้นฐานการถ่ายภาพเบื้องต้นกันไปแล้ว หลาย ๆ คนเคยประสบปัญหาเหล่านี้กันบ้างไหมครับ “จะถ่ายภาพทั้งทีแต่ไม่รู้จะใช้โหมดไหนดี โหมดก็มีเยอะเหลือเกินทั้ง Auto P A S M โหมดไหนไว้ใช้ทำอะไร ใช้ในสถานการณ์แบบไหนถึงจะเหมาะ” วันนี้เรามีคำตอบให้คุณครับ
โหมดหลัก ๆ ของกล้องจะมี Auton, P, A, S, และ M โดยแต่ละโหมดจะมีรายละเอียด และ สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้ต่างกันออกไป ดังนี้
1. โหมด Auto
คิดว่าหลายคนอาจจะเคยลองใช้โหมดนี้กันมาบ้างแล้ว โดยโหมดนี้จะมีจุดเด่นตรงที่เราไม่ต้องคิดหรือปรับอะไรเลยกล้องจะจัดการให้เองเสร็จสรรพ ทั้งค่ารูรับแสง, ชัตเตอร์สปีด และ ISO ซึ่งเหมาะสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มีพื้นฐานหรือบางคนที่ยังปรับตั้งค่ากล้องไม่ค่อยคล่องแต่อยากจะได้ภาพเร็ว ๆ
สถานการณ์ที่เหมาะกับโหมด Auto
- มือใหม่ยังไม่คล่องเรื่องการปรับค่ากล้อง
- คนที่ต้องการถ่ายภาพแบบเร่งด่วนไม่มีเวลาปรับค่ากล้อง และต้องการได้ภาพอย่างรวดเร็ว
2. โหมด P หรือ Program
สำหรับโหมด P การทำงานหลัก ๆ ยังคล้ายโหมดก่อนหน้าหรือเรียกเป็นโหมดกึ่ง Auto ก็ว่าได้ แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือในโหมด P เรายังสามารถปรับค่าบางอย่างเองได้ เช่น ISO, White Balance, ชดเชยแสง ถ้าอยากถ่ายเร็ว ๆ ไม่ต้องคิดเยอะแต่อยากมีอิสระในการปรับค่าขึ้นมาหน่อยแนะนำโหมดนี้
สถานการณ์ที่เหมาะกับโหมด P
- มือใหม่ยังไม่คล่องเรื่องการปรับค่ากล้อง
- คนที่ต้องการถ่ายภาพแบบเร่งด่วนไม่มีเวลาปรับค่ากล้อง และต้องการได้ภาพอย่างรวดเร็ว
3. โหมด A หรือ AV
โหมด A หรือ Aperture priority โหมดนี้จะเน้นความสำคัญไปที่รูรับแสงเป็นหลัก โดยเรามีหน้าที่เลือกค่ารูรับแสงที่ต้องการ ส่วนชัตเตอร์สปีดกล้องจะเป็นคนกำหนดให้เอง นอกจากนี้เรายังสามารถปรับค่าชดเชยแสงว่าต้องการภาพมืดหรือสว่างแค่ไหน และ ISO ได้อีกด้วย
ปกติแล้วคนที่จะใช้โหมดนี้จะมีความคิดอยู่ในหัวอยู่แล้ว ว่าอยากจะได้ความชัดลึกชัดตื้นใช้ค่า F เท่าไร เช่น คนที่ชื่นชอบในการถ่าย Portrait ก็จะใช้โหมดนี้ในการปรับค่า F กว้าง ๆ อย่าง 1.4 แล้วให้กล้องคำนวนชัตเตอร์สปีดให้แทน จะได้สามารถถ่ายภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สถานการณ์ที่เหมาะกับโหมด A
- ต้องการคุมชัดลึกชัดตื้น
- เหมาะสำหรับถ่าย Portrait
4. โหมด S หรือ TV
โหมด S หรือ Shutter priority ในโหมดนี้จะเน้นไปที่ชัตเตอร์สปีดเป็นหลัก โดยเราจะสามารถปรับชัตเตอร์สปีตได้ตามที่เราต้องการ จากนั้นกล้องจะเลือกค่ารูรับแสงมาให้เองโดยที่เรายังสามารถชดเชยแสง และ ปรับค่า ISO ได้
คนที่ใช้โหมดนี้ส่วนใหญ่ต้องการที่จะถ่ายภาพสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ให้หยุดนิ่ง และคมชัดโดยไม่ให้ภาพสั่นไหว หรือในกรณีถ่าย Long Exposure
สถานการณ์ที่เหมาะกับโหมด S
- ต้องการควบคุมชัตเตอร์สปีดเอง
- เหมาะกับการถ่ายอะไรที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ให้หยุดนิ่ง เช่น กีฬา, นกที่กำลังบินหรือรถที่กำลังวิ่งให้คมชัดไม่เบลอ
- ใช้ถ่าย Long Exposure เช่น เอาไปถ่ายแสงไฟจากรถวิ่งเป็นทางยาว ถ่ายก้อนเมฆหรือน้ำทะเลให้ดูฟุ้ง ๆ
5. โหมด M หรือ Manual
โหมด M หรือโหมดที่มีความยากที่สุด ในโหมดนี้เราจะต้องปรับค่ารูรับแสง, ชัตเตอร์สปีด และ ISO เอง โดยที่กล้องจะไม่ช่วยเราคิดแต่อย่างใดสมชื่อโหมด Manual คนที่ใช้โหมดนี้ต้องมีจะความชำนาญ และพื้นฐานการถ่ายภาพในระดับหนึ่ง
เนื่องจากการที่เราจะต้องปรับค่าเองทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการปรับตั้งค่า ถ้าเรายังใช้กล้องไม่คล่องอาจจะทำให้เราพลาดช็อตสำคัญได้เลย โดยโหมดนี้จะเหมาะสำหรับที่ ที่มีสภาพแสงที่ซับซ้อน หรือคนที่ต้องการกำหนดค่าต่าง ๆ เอง
สถานการณ์ที่เหมาะกับโหมด M
- สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนของแสง
- อยากปรับหรือกำหนดการตั้งค่าทุกอย่างเอง
สรุป
ในแต่ละโหมดจะมีจุดเด่น และจุดด้อยแตกต่างกัน ถ้าเรารู้ว่าเราอยากจะได้ภาพแบบไหนจะช่วยให้สามารถเลือกใช้โหมดให้เหมาะกับงานได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ
โดยสำหรับโหมด M นั้นในช่วงแรกอาจจะมีความยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าเราชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว การใช้โหมดนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก และน่าปวดหัวอีกต่อไป นอกจากนี้อาจจะทำให้เราได้ภาพเหมือนที่ใจเราหวังไว้มากขึ้นก็ได้ ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบนะครับ
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ 😀
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส