หลังจากเที่ยวบินประวัติศาสตร์ ที่ SpaceX ได้นำสองนักบินอวกาศของนาซา โรเบิร์ต เบนเคน (Robert Behnken) และ ดักลาส เฮอร์ลีย์ (Douglas Hurley) เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา บัดนี้ภารกิจของสองนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่จึงเดินทางออกจากสถานีอวกาศฯ เมื่อเวลา 17:15 น. ของวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือในช่วงเช้ามืดของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย
โดยทั้งคู่ได้ออกเดินทางด้วยยานนาม “Dragon Endeavour” (คนละอันกับกระสวยอวกาศนะ อันนี้เป็นยาน Crew Dragon ของ SpaceX อันเดียวกับที่พาทั้งคู่เดินทางไปสถานีอวกาศฯ นั่นแหละ แต่สองนักบินอวกาศเขาตั้งชื่อพ่วงให้เพิ่ม เพราะกระสวย Endeavour เคยใช้เดินทางไปสถานีอวกาศฯ เหมือนกัน) และขณะนี้กำลังมุ่งหน้ากลับเข้าสู่โลก โดยมีกำหนดที่จะลงจอด (Splashdown) นอกชายฝั่งฟลอริดา เพื่อสิ้นสุดภารกิจ ในเวลา 14:48 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 2563 (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือประมาณ 01:48 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย
ก่อนจะไปร่วมลุ้นการกลับมาถึงของสองนักบินอวกาศในค่ำคืนนี้ เพื่อให้อินกันขึ้นไปอีก เราจึงรวบรวม 10 ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการกลับคืนสู่โลกของ Dragon Endeavour ภารกิจแห่งประวัติศาสตร์มาให้อ่านกันไปพลาง ๆ ก่อน
1. แค่ลงจอด ก็ลุ้นแล้วว่าจะลงที่ไหน?
นาซาและ SpaceX ได้เตรียมการ วางจุดที่มีความไปได้ในการลงจอดไว้ถึง 7 แห่งด้วยกัน โดยทั้ง 7 แห่งนี้ล้วนอยู่นอกชายฝั่งฟลอริดา ได้แก่ นอกชายฝั่งเพนซาโคลา (Pensacola) แทมปา (Tampa) แทลลาแฮสซี (Tallahassee) ปานามาซิตี้ (Panama City) แหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) เดย์โทนา (Daytona) และแจ็กสันวิลล์ (Jacksonville)
2. NASA และ SpaceX คัดเลือกสถานที่ลงจอดอย่างไร?
การเลือกตำแหน่งลงจอดนั้นใช้การจัดลำดับความสำคัญเป็นหลัก เริ่มต้นด้วยการกำหนดวันและเวลาออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ โดยพิจารณาเงื่อนไขของสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศในช่วงนั้นเป็นสำคัญ และพิจารณาควบคู่กับระยะเวลาที่ยานหลุดจากวงโคจรและพุ่งเข้าสู่พื้นโลก ซึ่งยิ่งใช้น้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยคำนวณวงโคจรและโอกาสที่ยานจะพุ่งลงสู่ทะเลในเวลากลางวันเป็นสำคัญ
จากนั้น จึงย้อนมาตรวจสอบเวลาที่ยานควรออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคำนวณและวิเคราะห์สภาพอากาศเชิงลึก เลือกหาจุดลงจอดที่เหมาะสมอีกครั้ง
3. เที่ยวบินนี้จะยาวนานเพียงใด?
เวลาที่ใช้เดินทางกลับมายังโลกของสองนักบินนี้ จะขึ้นอยู่กับการเดินทางจากสถานีอวกาศนานาชาติ และจังหวะที่สองนักบินเลือกพุ่งเข้าสู่พื้นโลก โดยนาซาได้ประเมินไว้ว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 30 ชั่วโมง (และล่าสุดนาซาได้กำหนดเวลาที่ยานจะเดินทางมาถึงโลกไว้ที่เวลา 01:48 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย นั่นเอง)
4. การเดินทางกลับมาจะเป็นเช่นไร? และอะไรคือเป้าหมายสำคัญที่สุดของภารกิจนี้?
การกลับบ้านของสองนักบินจะเริ่มต้นด้วยการแยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติของ Crew Dragon ในช่วงแรกของการเดินทางนี้ ยานจะมีน้ำหนักประมาณ 12,519 กิโลกรัม (27,600 ปอนด์) โดยนาซาได้ถ่ายทอดสดการเดินทางแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้ตลอดช่วง (ติดตามได้ในวิดีโอด้านล่างนี้เลย)
เมื่อยานแยกตัวเป็นอิสระจากสถานีอวกาศแล้ว เครื่องยนต์ขนาดเล็กสองตัวจะทำงานทันที โดยยาน Dragon Endeavour จะจุดเครื่องขับเคลื่อนทั้งหมดสี่ครั้ง เพื่อให้ยานอวกาศออกออกเดินทางและมุ่งหน้าสู่โลก ในหลายชั่วโมงต่อมา ก่อนการขับเคลื่อนครั้งสุดท้ายเพียงเล็กน้อย ถังเชื้อเพลิงจะถูกแยกจากยาน มันจะร่วงหล่นและถูกเผาในชั้นบรรยากาศของโลก หลังจากขั้นตอนนี้ ยานจะมีน้ำหนักเหลือราว ๆ 9,616 กิโลกรัม (21,200 ปอนด์) เท่านั้น
จากนั้น ระบบการขับเคลื่อนขั้นสุดท้ายก็จะทำงาน ขั้นตอนนี้กินเวลาเพียงหกนาที เป็นช่วงที่ทำให้ยานอยู่ในเส้นทางการโคจรที่เหมาะสม พร้อมเข้าสู่การพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกต่อไป
5. เมื่อ Dragon Endeavour พุ่งเข้าสู่โลกมันจะเร็วและร้อนแค่ไหน?
จากการคำนวณ ยานจะเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 28,164 กิโลเมตร (17,500 ไมล์) ต่อชั่วโมง อุณหภูมิสูงสุดที่น่าเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,927 องศาเซลเซียส (3,500 องศาฟาเรนไฮต์) โดยในช่วงเวลานั้น ยานจะตัดขาดการสื่อสารกับคนบนพื้นโลกไปประมาณ 6 นาที
(อ่านต่อหน้าถัดไป กดหน้า 2 ที่ด้านล่างเลย)
6. เมื่อใด ‘ร่มชูชีพ’ จะทำงาน?
Dragon Endeavour มีร่มชูชีพ 4 ตัว แบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ชุด ซึ่งที่จะใช้เพื่อชะลอความเร็วของยานเมื่อยานเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยร่มชูชีพสองตัวแรกจะใช้งานที่ระดับความสูงประมาณ 5 กิโลเมตร (18,000 ฟุต) เหนือพื้นโลก ในขณะที่ยานพุ่งเข้าสู่โลกด้วยความเร็วประมาณ 563 กิโลเมตร (350 ไมล์) ต่อชั่วโมง จากนั้น ร่มชูชีพทั้งสี่นี้ จะถูกใช้ทั้งหมดที่ระดับความสูงประมาณ 1.8 กิโลเมตร (6,000 ฟุต) ซึ่งขณะนั้นคาดว่ายานจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 192 กิโลเมตร (119 ไมล์) ต่อชั่วโมง
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2019 โดยมีร่วมชูชีพสี่อันช่วยให้การลงจอดเป็นไปตามแผน
Credits: NASA/Cory Huston
7. ใครและอะไรที่จะกู้ยาน Dragon Endeavour ขึ้นจากน้ำ?
ไม่ว่ายานลงจอดที่จุดใดก็ตาม SpaceX ได้เตรียมบุคลากรเอาไว้ต้อนรับเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เรือกู้ชีพ 2 ลำคือ Go Searcher และ Go Navigator ซึ่งตอนนี้ได้ประจำจุดอยู่ในพื้นที่ระหว่างอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรแอตแลนติกนอกชายฝั่งฟลอริดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บนเรือทั้งสองนั้น มีบุคลากรมากกว่า 40 คน ทั้งจาก SpaceX และ NASA ประกอบด้วยวิศวกรยานอวกาศผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ยานคืนจากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และลูกเรือที่จำเป็นกับภารกิจ เพื่อช่วยให้การกู้ยานจากน้ำนี้เป็นไปด้วยดี
8. นานแค่ไหนกว่าเบนเคนและเฮอร์ลีย์จะได้ออกมาจากยาน?
เมื่อ Dragon Endeavour กระแทกเข้ากับพื้นน้ำ เรือกู้ชีพทั้งสองลำจะเคลื่อนเข้าหายานทันที โดยเรือลำแรกจะตรวจสอบความสมบูรณ์ของยานและพื้นที่โดยรอบ เพื่อดูว่ามีไอระเหยของเชื้อเพลิงในปริมาณสูงที่จะเป็นอันตรายหรือไม่ หากพบว่าปลอดภัย บุคลากรบนเรือก็จะเริ่มปฏิบัติการกู้คืนยานทันที ส่วนเรือลำที่สอง จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บกู้ร่มชูชีพของยาน ซึ่งแยกออกจากยานและลอยอยู่ในน้ำ
ในขั้นตอนถัดไป เรือกู้หลักจะเคลื่อนย้ายและเริ่มยกยานขึ้นมาบนบนดาดฟ้า เมื่อยานอยู่บนเรือแล้ว มันจะถูกย้ายไปยังตำแหน่งที่มั่นคงบนเรือ จากนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะตรวจสอบนักยินอวกาศเบื้องต้นเบื้องต้น ก่อนนำคนทั้งคู่ออกมาจาก Dragon Endeavour
กระบวนการทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 ถึง 60 นาทีขึ้นอยู่กับสภาพของยานอวกาศและสภาวะของท้องทะเล
Credits: SpaceX
9. เบนเคนและเฮอร์ลีย์จะทำอะไรต่อ เมื่อออกมาจากยานแล้ว?
หลังจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เบนเคนและเฮอร์ลีย์จะเดินทางขึ้นสู่ฝั่ง ด้วยเรือกู้ภัยหลักหรือเฮลิคอปเตอร์ (การเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์นั้นทำได้ในทุกจุดที่ยานลงจอด ยกเว้นพื้นที่บริเวณแหลมคานาเวอรัล) โดยคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางกลับสู่ฝั่งประมาณ 10 นาทีถึง 80 นาที ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากฝั่งที่แปรผันตามกระแสน้ำ ซึ่งคาดว่าจะมีระยะพื้นที่ครอบคลุมอยู่ที่ประมาณ 41 กิโลเมตร ( 22 ไมล์ทะเล) ถึง 324 กิโลเมตร (175 ไมล์ทะเล)
เมื่อกลับสู่ฝั่ง สมาชิกลูกเรือทั้งสองจะขึ้นเครื่องบินของนาซา เพื่อบินกลับไปที่สนามบินเอลลิงตัน (Ellington Airport) ในฮูสตันทันที
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2019 ณ อ่าว Trident Basin ในแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา
Credits: NASA/Bill Ingalls
10. จบภารกิจแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
ขณะเดียวกับที่สองนักบินเดินทางกลับบ้านนั้น ยาน Dragon Endeavour จะถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ปฏิบัติการของ SpaceX ในฟลอริดาเพื่อตรวจสอบและประมวลผล โดนทีมงานผู้เกี่ยวข้องจะตรวจสอบข้อมูลและประสิทธิภาพของยานอวกาศตลอดเที่ยวบิน เพื่อทำให้การรับรองการทดลองบินครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับการปฏิบัติภารกิจของนาซาและโปรแกรมขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้ กระบวนการรับรองดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เมื่อการรับรองประสบความสำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว จะมีการแถลงเปิดตัวภารกิจแรกของ Crew- 1 อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ปฏิบัติภารกิจได้แก่ บัญชาการภารกิจ ไมเคิล ฮอปกิ้นส์ (Michael Hopkins) นักบิน วิตเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover) และผู้เชี่ยวชาญด้านภารกิจ แชนนอน วอคเกอร์ (Shannon Walker) ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคลากรของนาซา พ่วงด้วยผู้เชี่ยวชาญภารกิจอวกาศจากองค์การวิจัยและพัฒนาสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) โซอิจิ โนะงูจิ (Soichi Noguchi) โดยการแถลงนี้จะจัดขึ้นที่ฐาน Launch Complex 39A ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา โดยเบื้องต้นคาดว่าสมาชิกลูกเรือทั้งสี่จะใช้เวลาปฏิบัติภารกิจ 6 เดือนในสถานีอวกาศนานาชาติ
ในเมื่อมีแผนสำหรับการใช้บริการ Crew Dragon กันยาว ๆ ต่อไปขนาดนี้แล้ว ก็ขอให้การกลับคืนสู่โลกในคืนนี้ของนาซาและ SpaceX เป็นไปได้ด้วยดี และสองนักบินอวกาศได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยด้วยเถอะ
อ้างอิง