หมายเหตุ : สรุปไฮไลต์จาก Session “Journalism 4.0 : Make Thai Journalism great again″ โดย “สุทธิชัย หยุ่น” จากงาน iCREATOR CONFERENCE 2020 วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563
สวัสดีครับ ผม สุทธิชัย หยุ่น นะครับ จำเสียงผมได้มั้ยครับ ผมตัวจริงนะครับ ไม่ใช่ AI ตอนนี้ผมมี AI ที่เป็นตัวผมแล้วนะ พูดเหมือนกับผมเลย นั่นแปลว่า ผมจะไม่เสียชีวิตแล้วล่ะครับ ผมจะอยู่ไปเรื่อย ๆ สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการต่อไป…
สุทธิชัย หยุ่น คือนักสื่อสารมวลชนที่ผ่านยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงต่อวงการสื่อสารมวลชนมาหลายต่อหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ในยุคแรกที่เขายังทำหนังสือพิมพ์ ต้องไปสัมภาษณ์เอง แกะเทปเอง ไม่มีผู้ช่วย เทปก็ยังเป็นเทปก้อนใหญ่ ๆ บางทีอัดแล้วเทปมีปัญหา ก็ต้องใช้ความจำเป็นหลัก
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขามองว่า ความสำคัญของการจับประเด็นเนื้อหาในการทำคอนเทนต์ และการเล่าเรื่อง ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงตอนนี้ หัวใจสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ การที่เรามีเรื่องที่จะเล่า และเล่าอย่างแม่นยำ ถูกต้อง น่าสนใจ และสามารถบันดาลใจคนได้ นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการที่จะเป็น Content Creator ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่ทำงานสนุกนะครับ เพราะว่าผมมี Passion กับมัน ตลอดการทำงานของผม 50 ปี ทุกวันที่ผมตื่นเช้า ผมก็ยังเชื่อว่า ผมยังมีคอนเทนต์ที่อยากจะเล่า อยากจะนำเสนอไปยังคนที่สนใจ นั่นแปลว่า ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญ
เขาเชื่อว่า เทคโนโลยีสร้างได้ เทคโนโลยีเรียนรู้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราเป็น Creator คือการอยากรู้อยากเห็น แล้วไปเสาะแสวงหาสิ่งนั้นเพื่อนำมาเล่าขานต่อคนที่อยากจะรู้ ซึ่งนั่นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีจำนวนมากมาย ความเข้าใจผิดของสื่อออนไลน์คือ คิดว่าจะต้องมียอดวิวมาก ๆ มีคนตามเยอะ ๆ แล้วจะสำเร็จ เขาได้พบเจอคนที่สร้างคอนเทนต์ระดับประเทศ ที่มีคนติดตามในช่วงเริ่มต้นแค่ 3 คนเท่านั้น สองคนในนั้นก็คือลูกและภรรยา พี่น้องเท่านั้นเอง ปัจจุบันเขากลายเป็นครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามหลักแสนหลักล้าน
Twitter จุดเปลี่ยนวงการสื่อสารมวลชน
ในช่วงระหว่างที่ Social Media เริ่มแพร่หลายเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาเปรียบเหมือนดัง “ของขวัญจากพระเจ้า” เขามองว่า สมัยก่อนที่นักข่าวต้องส่งข่าว ก็ต้องส่งผ่านโทรศัพท์สาธารณะ แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีนักศึกษามาแนะนำเขาให้รู้จักกับ Twitter ที่สามารถส่งข่าวและมองเห็นได้พร้อมกันในทันที
สำหรับผม ทวิตเตอร์เป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก มันแปลว่าผมสามารถส่งข่าวได้ทันทีเดี๋ยวนั้นเลย มันทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่เมื่อผมไปแนะนำทวิตเตอร์ให้กับเพื่อน ๆ นักข่าว มาลองใช้ เชื่อไหมว่า 99% ไม่เอาด้วย ไม่เชื่อว่ามันจะเวิร์ก พอเห็นว่ามันส่งได้ 140 ตัวอักษร ทุกคนหนีหมดเลยครับ เพราะว่าเขามองว่ามันสั้นเกินไป ยุ่งยากซับซ้อน จะทำงานได้ยังไง
สำหรับผม ถ้าเรามีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยทำงานได้ง่ายขึ้น ผมว่าเราต้องเข้าไปลองก่อน ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ก ก็จบ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนเราไม่กล้าที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ
เวลาทำคอนเทนต์ เขามองว่า หลาย ๆ สื่อที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น เกิดจากความกลัวที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ เวลาทำสื่อ มักจะมีความกลัวหรือมีคำถามร้อยแปดพันเก้า สำหรับเขา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนความคิดคือ ต้องทำให้เหลือเพียงคำถามเดียวเท่านั้น
เราจะทำไปทำไม?
TikTok ก็เล่าข่าวได้!
เขาเริ่มต้นการนำเอา “ข่าว” เข้าไปอยู่ใน TikTok แพลตฟอร์มยอดฮิตที่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่มักจะมีเนื้อหาเบาสมอง ช่วงแรกเขาถูกมองว่า เรื่องสาระหนัก ๆ อย่างข่าว จะเอาไปอยู่ใน TikTok ได้อย่างไร แต่ไม่น่าเชื่อว่า คลิปข่าว TikTok ของเขาจะมีคนดูไปแล้วว่า 7 ล้านวิว
มีคนบอกว่า เอาข่าวมาลงใน TikTok คุณสุทธิชัยทำไม่ได้หรอก แต่ผมบอกว่า ไม่จริง ผมต้องหาทุกวิถีทางที่จะเข้าไปอยู่ในทุก ๆ แพลตฟอร์มที่เป็นข่าวให้ได้ เพราะฉะนั้น บอกเงื่อนไขมา ถ้าที่นั่นมีคน ผมจะเข้าไปให้ได้
ผมมองว่า Social Media เหมือนจัตุรัสกลางเมือง เวลาคุณทำเว็บไซต์ คุณต้องการให้คนเข้ามาดู คุณต้องสร้างตลาด แต่ถ้าคุณมีตลาดที่่มีคนอยู่แล้ว คุณก็ต้องเข้าไปทำสิ่งต่าง ๆ ให้คนสนใจสิครับ ไม่ว่าจะตลาดเล็ก ตลาดใหญ่ ตลาดคนรุ่นใหม่ ผมต้องเบียดเสียดตัวเอง เอาข่าวที่เหมาะสมกับความสนใจของเขาไปนำเสนอ
แม้ว่าความยากของเขา คือการที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มวีดิโอขนาดสั้นเพียง 1 นาที เขาจึงต้องเริ่มฝึกฝนในการปรับตัว เพราะด้วยธรรมชาติของนักสื่อสารมวลชน มักจะมีเรื่องในหัวให้เล่าเยอะแยะมากมาย แต่เมื่อจะเข้ามาสู่ออนไลน์ เขาจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนการเล่าเรื่องให้สั้นลง จาก 5 นาที เป็น 3 นาที จาก 3 นาที เป็น 1 นาทีในที่สุด
โทรศัพท์ + Facebook Live = ความมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยี
ในช่วงที่เขาอยู่ที่ห้องส่งของเนชั่น เขาได้ยินพนักงานคนหนึ่งวิ่งมาบอกเขาว่า ตอนนี้ Facebook สามารถ Live ได้เหมือนกันกับการถ่ายทอดสดทางทีวี เขาหันไปบอกกับทีมงานในห้องส่งว่า “ฉิบหายแล้ว” เครื่องมือและบุคลากรที่ต้องใช้มากมายในการถ่ายทอดสด ต่อไปนี้ไม่ต้องใช้แล้ว เขาคิดว่า ด้วย Facebook Live เขาสามารถทำรายการได้โดยไม่ต้องมีห้องส่ง ไม่ต้องมีช่างกล้องและพนักงาน 10-20 คนอีกต่อไป
สิ่งที่ผมว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกจริง ๆ คือการที่สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัว iPhone ที่เป็นการรวมกันของโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และกล้องเอาไว้ด้วยกัน มันแปลว่า เราสามารถทำงานสื่อสารมวลชนทุกอย่างได้ด้วยโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว
เขากล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ทุกวันนี้ประสบปัญหาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก็เพราะว่า สถานีโทรทัศน์มีการลงทุนเงินจำนวนมหาศาลไปกับอุปกรณ์และบุคลากรมากมาย จึงทำให้ปรับตัวไม่ทัน แต่ในขณะที่เด็ก ๆ หรือบังฮาซัน สามารถที่จะทำ Live ขายอาหารทะเลได้เลยเพียงแค่มีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว
เรื่องการที่ Facebook ทำ Live ได้ อยู่ดี ๆ มันก็แวบเข้ามาในสมอง ผมเรียกมันว่า A-HA! Moment คนเราเวลาเจอสิ่งใหม่ ๆ เรามักจะมีปฏิกิริยา 2 อย่าง คือ ถ้าเรากลัวว่ามันจะมาคุกคามเรา หรือเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา เรามักจะอุทานว่า “ฉิบหายแล้ว” แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่ามัน “เยี่ยมเลย สุดยอด”
เขาเริ่มต้นจัดรายการ Facebook Live นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มีคนดูบ้าง ไม่มีคนดูบ้าง แต่เขาคิดว่า ต้องหาเนื้อหาที่คนสนใจ และหาจากที่อื่นไม่ได้ ลองผิดลองถูกกันไป เพราะใน Social Media ไม่มีสูตรตายตัว ถ้าคิดว่าคนอื่นทำสำเร็จ แล้วเราจะทำตาม แบบนี้ไม่เวิร์ก เราต้องเริ่มทำเนื้อหาที่เราอยากจะทำจริง ๆ เนื้อหาที่เราอยากทำมาก ๆ ไม่ว่าจะเวลาไหนก็ตาม
และต้องหมั่นพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยเขาเริ่มต้นที่จะทำรายการผ่าน Facebook Live ทุกวันเพื่อสร้างความต่อเนื่อง จนในขณะนี้ รายการ Facebook Live ของเขานั้นมียอดคนดูมากกว่ายอดคนดูที่ดูเขาผ่านทางรายการทีวีเสียอีก และคนดูของเขาก็มีทุกวัย ตั้งแต่คนแก่จนไปถึงเด็ก ๆ และสามารถที่จะดูได้ตลอดเวลา ไม่ได้มีเวลาตายตัวเหมือนกับรายการทีวี
(อ่านต่อเรื่อง “มุมมองของสื่อไทย ในสายตาของสุทธิชัย” หน้า 2)
มุมมองของสื่อไทย ในสายตาของสุทธิชัย
ณ ตอนนี้ที่ทุกคนสามารถที่จะหาข้อมูลข่าวสารเองได้ และเป็นคนสร้างคอนเทนต์ได้ด้วย เส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่างนักข่าว กับคนทั่วไป คือความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ เส้นแบ่งนี้เริ่มเลือนหายไปเรื่อย
และเมื่อมีสื่อเกิดขึ้นมากมาย สื่อก็ต้องการที่จะสร้างรายได้และความสนใจด้วยการเรียกเรตติง หลาย ๆ สื่อเลยต้องสร้างข่าวเชิงดราม่าที่มีความตื่นเต้น ที่บางทีก็สงสัยว่า ทำไมต้องไปเจาะรายละเอียดกันถึงขนาดนั้น ไปนั่งเฝ้ากันอยู่เป็นเดือน ๆ เอาหมอดูมาทาย มีการใบ้หวยด้วย การพาดหัวข่าวที่รุนแรง ดราม่า ซึ่งก็แน่นอนว่า ทำให้คนเริ่มเสื่อมศรัทธาในสื่อ และขาดซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจต่อความเป็นสื่อ
มีกรณีมีนักข่าวปลอมตัวเป็นสื่ออื่น เพื่อที่จะไปสัมภาษณ์ เพราะรู้ว่า ถ้าแหล่งข่าวรู้ว่ามาจากสำนักนั้น อาจไม่ให้สัมภาษณ์ ปรากฏว่าถูกจับได้ ก็เลยถูกตำหนิติเตียน เพราะว่าการทำเช่นนั้นมันไม่ถูกต้องอยู่แล้ว หน้าที่ของนักข่าว เวลาไปสัมภาษณ์ใคร ต้องแสดงตัวตน ต้องเปิดเผยสังกัดของตัวเอง และบอกจุดประสงค์ของการสัมภาษณ์ด้วย ไม่ใช่ไปแบบแอบ ๆ หรือแอบอ้างว่ามาจากอีกสำนักข่าว เพราะการที่แหล่งข่าวจะตัดสินใจว่า จะให้หรือไม่ให้สัมภาษณ์ ก็เป็นเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างถูกต้องและเป็นธรรมด้วย
รวมไปถึงการที่สื่อต้องเลือกข้าง เพื่อที่จะสร้างคนดู เพราะคนดูก็เหมือนกองเชียร์มวย ชอบใครก็จะเชียร์แต่ฝั่งนั้น แต่มันก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือหายไป เพราะว่าสื่อที่ดี่ต้องมีจรรยาบรรณ เป็นกลาง มีความรู้สึกให้น้อยที่สุด ต้องเก็บความรู้สึกส่วนตัวเอาไว้ให้ได้ ต้องทำให้คนดูได้ความเห็นจากทุก ๆ ฝ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้คนดูไปตัดสินเอาเอง
ผมมองว่า วิกฤติครั้งนี้ มันมีทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง คนตกงานกันเยอะ เด็กจบใหม่ตกงานก็มีมาก่อนที่จะมีโควิด ซึ่งก็มี Disruption ไปแล้วรอบหนึ่ง พอมีโควิดมา ก็มีปัญหาเศรษฐกิจอีก ปัญหาตอนนี้มันซ้อนกัน 3-4 ชั้น ทางออกสำหรับผมคือ ผมจึงอยากให้ทุกคนใช้เทคโนโลยีให้เป็นจุดแข็งในการปรับตัวสู่อาชีพที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนไม่ให้ความสำคัญกับตลาดเก่าแล้ว เราจึงต้องสร้างอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้นได้ หลาย ๆ อย่างที่เราเคยทำก่อนโควิด ตอนนี้อาจไม่จำเป็นแล้ว อย่าปล่อยให้วิกฤติเป็นของสูญเปล่า
สำหรับคนที่จะสร้างคอนเทนต์ นี่แหละครับเป็นจังหวะที่เราจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง เพราะโลกต่อไปนี้จะไม่มีอะไรกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว แต่ถ้าเราก้าวผ่านความกลัว และเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ เราจะสามารถขี่ยอดคลื่นและฝ่าวิกฤติไปได้อย่างแน่นอน
ลองถามตัวเองว่า ตัวคุณเองมี Passion กับอะไร ไม่ต้องไปวิ่งหาที่ไหน มันอยู่กับตัวเราเอง หาคอนเทนต์ให้เจอ แล้วคอนเทนต์มันจะมาจากตัวเราเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส