นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อย ‘โอมูอามูอา’ เมื่อปี 2017 ก็เกิดความสงสัยมาโดยตลอดว่า ดาวเคราะห์น้อยรูปทรงซิการ์นี้เป็นเพียงหินธรรมดาหรือสิ่งประดิษฐ์ของเอเลี่ยนกันแน่ นั่นเป็นเพราะอะไร? ทำไมดาวเคราะห์น้อยนี้ถึงเป็นเป้าปริศนาให้นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันอยู่ตลอด? ด้วยเหตุนี้ เราจึงค้นข้อมูลความเป็นมาเป็นไปตั้งแต่เริ่มพบดาวเคราะห์น้อยน่าสงสัยนี้มาลำดับให้เข้าใจกันมากขึ้น

แรกพบ ‘โอมูอามูอา’ 

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นปริศนา เรามาทำความรู้จักเจ้าดาวเคราะห์น้อยนี้กันสักหน่อย 

กล้องโทรทรรศน์แพนสตาร์วัน (Pan-STARRS1 telescope) ของมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii’s Pan-STARRS1 telescope) หนึ่งในเครือข่ายกล้องในโครงการติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา (NASA’s Near-Earth Object Observations (NEOO) Program) ตรวจพบดาวเคราะห์น้อย ‘โอมูอามูอา (Oumuamua)’ หรือชื่อเต็ม 1I/2017 U1 ‘Oumuamua เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2017 

ภาพการเคลื่อนที่ผ่านระบบสุริยะของโอมูอามูอาในปี 2017
ภาพการเคลื่อนที่ผ่านระบบสุริยะของโอมูอามูอาในปี 2017

จากการสังเกตการณ์พบว่า ‘โอมูอามูอา’ มีรูปร่างรียาวคล้ายซิการ์มีสีออกไปทางแดง เป็นวัตถุโลหะหรือหินมีความยาวประมาณ 400 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร นับเป็นวัตถุชิ้นแรกที่ได้รับการยืนยันว่า เดินทางจากห้วงอวกาศลึก (Deep space) มาถึงยังระบบสุริยะของเรา เป็นเหตุให้มันได้ชื่อว่า ‘โอมูอามูอา’ ซึ่งเป็นภาษาฮาวายแปลว่า “ผู้ส่งสารจากระยะไกลที่มาถึงเป็นรายแรก (Messenger from afar arriving first)”

เป็นที่คาดกันว่า ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจากบ้านเกิดของมันมา เนื่องจากถูกดีดออกมาในช่วงระหว่างการก่อตัวของดาวแม่เมื่อหลายล้านปีก่อน สำหรับดาวต้นกำเนิดมีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นหนึ่งใน 4 ระบบดาว ที่อยู่ไกลโพ้น ทั้งยังพบว่าดาวเคราะห์นี้เดินผ่านทางช้างเผือกโดยไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบดาวใด ๆ เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ก่อนจะเดินทางมาพบกับระบบสุริยะของเรา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันอาจให้เบาะแสใหม่ว่า ระบบสุริยะอื่น (ระบบดาวต้นทาง) ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จึงกลายเป็นที่จับตานับแต่นั้น

จุดเริ่มต้นความน่าสงสัย 

ทันทีที่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย คาเรน มีช (Karen Meech) แห่งสถาบันดาราศาสตร์ในฮาวาย (Institute for Astronomy in Hawaii) ได้ใช้ข้อมูลและภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อีเอสโอ (ESO telescope) และกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่อีกหลายตัวทั่วโลก โดยใช้ฟิลเตอร์ที่แตกต่างไปสี่แบบ มาประมวลและพบว่า โอมูอามูอามีค่าความสว่างหลากหลาย แตกต่างกันถึง 10 ระดับ ขณะที่มันหมุนรอบตัวเองตามแกนทุก 7.3 ชั่วโมง 

ภาพนี้แสดงให้เห็นดาวเคราะห์น้อยบริเวณกลางภาพ (ที่วงกลมไว้)
ส่วนจุดขาวๆ รอบ ๆ คือดาวดวงอื่นที่เคลื่อนผ่านหน้ากล้องโทรทรรศน์ขณะติดตามดาวเคราะห์น้อย
Credit: ESO/K. Meech et al.

ไม่มีใครรู้ว่าในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์น้อยที่มีค่าความสว่างที่หลากหลาย ทั้งยังมีอัตราส่วนระหว่างความยาวและความกว้างมากเช่นนี้หรือไม่ วัตถุที่ยาวที่สุดในอวกาศที่เราพบมีความยาวไม่เกินสามเท่าของความกว้างเท่านั้น

“ความสว่างที่หลากหลายผิดวิสัยนี้ บ่งชี้ว่าวัตถุนั้นมีความยาวมากประมาณสิบเท่าของความกว้าง และมีรูปร่างที่ซับซ้อนอย่างมาก นอกจากนี้ เรายังพบว่ามันมีสีแดงคล้ายกับวัตถุในระบบสุริยะชั้นนอก ทั้งยังอยู่ในภาวะเฉื่อยอย่างสมบูรณ์ และไม่มีฝุ่นละอองจาง ๆ อยู่รอบ ๆ เลย” มีชกล่าว

นอกจากนี้ยัง พบว่า โอมูอามูอามีความหนาแน่นสูงประกอบด้วยหินหรือโลหะ ไม่มีน้ำหรือน้ำแข็ง พื้นผิวของมันเป็นสีแดงเนื่องจากผ่านการอาบรังสีจากรังสีคอสมิก (Irradiation from cosmic rays) เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี และมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 85,700 ไมล์ต่อชั่วโมง (38.3 กิโลเมตรต่อวินาที)

‘โอมูอามูอา’ = ยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว?

ตั้งแต่นั้นมา ‘โอมูอามูอา’ ก็จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงระดับนานาชาติ นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามอธิบายว่า ทำไมดาวเคราะห์น้อยจึงมีรูปร่างประหลาดอย่างที่เป็นอยู่ และเหตุใดจึงเคลื่อนเข้ามาใกล้โลกมาก

หนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจ และฟังดูน่าตื่นเต้นคือ มันไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยธรรมดา แต่เป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวหรือเอเลียนที่เข้ามาสำรวจระบบสุริยะของเราต่างหาก

วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้ (Unidentified flying object:UFO) มีนิยามว่า เป็นวัตถุบินใด ๆ ที่มีสมรรถภาพ ลักษณะเฉพาะทางอากาศพลศาสตร์ หรือคุณลักษณะไม่ปกติ ไม่สอดคล้องกับอากาศยานหรือขีปนาวุธประเภทใดที่ทราบกันในปัจจุบัน ซึ่งโอมูอามูอาก็เข้าข่ายทั้งในเรื่องการเคลื่อนที่และรูปร่างลักษณะของคำนิยามนี้

ในบรรดา UFO ทั้งหลาย รูปร่างของยานแบบซิการ์ (Cigar-shaped UFO) เป็นหนึ่งในลักษณะของยานต่างดาวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีคลิปวิดีโอและภาพนิ่งของวัตถุประหลาดทรงรียาวนี้ เผยแพร่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมากมาย ทั้งยังมีการอธิบายด้วยว่า รูปร่างเช่นนี้เหมาะกับการเดินทางในอวกาศอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดแรงเสียดทาน และความเสียหายที่เกิดจากฝุ่นละอองหรือกลุ่มก๊าซในอวกาศได้ เป็นโมเดลให้ยานอวกาศในภาพยนตร์หลายเรื่อง 

ภาพยานอวกาศทรงรียาวจากภาพยนตร์เรื่อง Starship Troopers: สงครามหมื่นขา ล่าล้างจักรวาล

นอกจากความประหลาดในรูปทรง ยังมีรายงานจาก The Astrophysical Journal คำนวณว่า โอมูอามูอาเคลื่อนที่เร็วกว่ากฎกลศาสตร์ท้องฟ้า (Laws of celestial mechanics) ด้วย

เมื่อโอมูอามูอา เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเรา จู่ ๆ ความเร็วของมันก็เพิ่มขึ้นราวกับว่ามีบางอย่างกำลังเร่งหรือขับเคลื่อนมันอยู่

นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า มันอาจจะเป็นยานของมนุษย์ต่างดาวที่มีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าอย่าง  “Lightsail” เครื่องจักรที่มีความกว้างเพียงมิลลิเมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ด้วยรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar radiation) ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า ‘ความเร็วที่เพิ่มขึ้นของดาวเคราะห์น้อยนี้น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีงานวิจัยหนึ่งเสนอว่า ไฮโดรเจนในรูปแบบของแข็งภายในดาวเคราะห์น้อย กำลังระเบิดอยู่ภายในดาว (เราจึงมองไม่เห็น) และทำให้มันเคลื่อนที่เร็วขึ้น

นานาข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์

ดาร์ริล เซลิกแมน (Darryl Seligman) ผู้เขียนสมมติฐานไฮโดรเจนเป็นของแข็ง ที่กำลังศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า “ประเด็นสำคัญคือ โอมูอามูอา เคลื่อนที่เหมือนดาวหาง แต่ไม่มี ‘โคมา (coma)’  หรือหางของดาวหางที่เกิดจากน้ำแข็งของนิวเคลียสที่ละลายกลายเป็นบรรยากาศปกคลุม”

โดยปกติแล้ว เรามักพบ ‘ดาวหาง’ มาจากบริเวณที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ มากกว่าดาวเคราะห์น้อย และน้ำแข็งบนพื้นผิว ก็เป็นลักษณะเฉพาะของพวกมัน เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ส่วนที่ได้รับความร้อนจะเหิดกลายเป็นก๊าซ ทำให้มันเคลื่อนที่ออกจากดวงอาทิตย์เร็วขึ้น แต่เพราะโอมูอามูอา ไม่มีร่องรอยของการขับเคลื่อนด้วยไอน้ำแบบนั้น ดังนั้น การขับเคลื่อนที่คล้ายเครื่องยนต์ที่มีความเร่งช้าของมัน จึงน่าจะเกิดจากธาตุบางอย่างในดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 

คำอธิบายที่ 1 – ไฮโดรเจนคือคำตอบ

ในงานวิจัยของเซลิกแมนร่วมกับ เกรทกอรี ลอกลิน (Gregory Laughlin) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากเยล ที่ตีพิมพ์ใน The Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เสนอว่า โอมูอามูอาประกอบด้วยโมเลกุลไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโมเลกุลน้ำหนักเบาประกอบด้วยอะตอมไฮโดรเจนสองตัว (H2)

ก๊าซ H2 จะแข็งตัวเป็นของแข็งที่มีความหนาแน่นต่ำ เมื่ออากาศเย็นจัด ประมาณ -259.14 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่าอุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์เพียง 14.01 องศา) ในชั้นบรรยากาศของโลก

นอกจากนี้ ก๊าซไฮโดรเจนยังไม่สามารถมองเห็นได้จากโลกด้วย มันจึงดูเข้าเค้ากับลักษณะของโอมูอามูอาที่สุด ทั้งคู่จึงได้นำเสนอว่า มันอยู่ในดาวเคราะห์น้อยในรูปแบบ ภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจน (Hydrogen iceberg) 

ภาพจำลองแสดงทิศทางการเคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะของ ‘โอมูอามูอา’ ซึ่งในความเป็นจริงจะไม่มีหางสีขาวนี้ให้เราเห็น
Credit: ภาพจากวิดีโอของ livescience.com

อย่างไรก็ตาม อาวี เลิบ (Avi Loeb) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเทียม หวง (Thiem Hoang) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี  ไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นนี้

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

ข้อถกเถียงที่ 2 – ไฮโดรเจนคือเรื่องเพ้อฝัน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เลิบและหวง ได้ถกเถียงประเด็นนี้ผ่านบทความใน The Astrophysical Journal Letters ว่า สมมติฐานเรื่องไฮโดรเจนไม่สามารถทำงานได้ในความจริง

พวกเขากล่าวว่า การก่อตัวเป็นแท่งไฮโดรเจนแข็งยังมีความคล้ายคลึงกับการแข็งตัวของก้อนน้ำแข็งที่ต้องผ่านช่องแข็งที่เย็นจัด ทว่าในแหล่งกำเนิดของมัน ที่เป็นกลุ่มเมฆโมเลกุล (Molecular cloud) การก่อตัวกันเป็นรูปร่างต้องอาศัยการชนกันของฝุ่นละอองและก๊าซที่ทำให้สสารเกาะตัวเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดความร้อนมหาศาล จนแกนกลางของโอมูอามูอาที่เป็นไฮโดรเจนน่าจะระเหิดหายไปก่อนแล้ว

และถ้าหากมันบังเอิญก่อตัวขึ้นมาได้ ไฮโดรเจนก็ยังระเหิดและละลายได้รวดเร็วมาก แค่สัมผัสความร้อนเพียงไม่นาน อย่างแสงดาวธรรมดาที่พบได้ทั่วไปในอวกาศ ก็สามารถละลายแท่งโฮโดรเจนนี้ได้ง่ายมาก หากโอมูอามูอาเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนแข็ง ระหว่างการเดินทางอันยาวนานจากนอกระบบสุริยะก็น่าจะทำให้มันสลายตัวไปได้เช่นกัน 

เซลิกแมนยอมรับว่า การวิเคราะห์ของเลิบนั้นถูกต้อง

“ภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนอยู่ในกาแล็กซีไม่ได้นานขนาดนั้น และการเดินจากเมฆโมเลกุลยักษ์ที่ใกล้ที่สุด ก็ยังยาวนานเกินไป ทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อโอมูอามูอามีอายุเพียง 40 ล้านปีเท่านั้น”

ข้อสรุปที่ 3 – ถูกทั้งหมดนั่นแหละ แต่เปลี่ยนจุดกำเนิดแทน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของเซลิกแมน ก็ยังไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อมีนักวิจัยเจ้าของผลงานอีกชิ้นหนึ่ง อธิบายถึงความเป็นไปได้ในอีกรูปแบบ 

ทิม ฮาลัต (Tim Hallatt) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย (McGill University) ในมอนทรีอัล และผู้เขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมากล่าวว่า เขาศึกษาพื้นที่ของกลุ่มดาวอายุน้อยสองกลุ่มคือ กลุ่มดาวกระดูกงูเรือหรือคารินา (Carina) และ กลุ่มดาวนกเขาหรือโคลัมบา (Columba) ที่ซึ่งก่อตัวเมื่อ 30-45 ล้านปีก่อน ในกลุ่มเมฆก๊าซที่สลายตัวไปแล้ว อันเป็นสถานที่ซึ่งภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนสามารถก่อตัวได้

“มันมีกระบวนการมากมายที่สามารถขับเคลื่อนวัตถุอย่างโอมูอามูอา ออกจากกลุ่มดาวฤกษ์อายุน้อยนั่น เช่น การเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงดาว และกลุ่มเมฆโมเลกุลในนั้นก็สามารถสร้างวัตถุนี้ขึ้นมาได้ และหากจุดกำเนิดของโอมูอามูอาอยู่ในสองกลุ่มดาวดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะก่อตัวด้วยไฮโดรเจน และรอดมาถึงระบบสุริยะของเรา”

ภาพของฝุ่นควันและแก๊สภายในเนบิวลาคารินา (Great Carina Nebula)
ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้กำเนิดดาวที่ใหญ่ที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก  
Credit & Copyright: Ignacio Diaz Bobillo/ apod.nasa.gov

สรุปแบบไม่สรุป

อย่างไรก็ตามเลิบไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะแม้ว่าระยะทางจะสั้นลง แต่การก่อตัวของภูเขาน้ำแข็งก็ต้องเกิดขึ้นจากดาวแม่ที่กำลังก่อตัวอยู่นี้ ซึ่งขั้นตอนนี้กินเวลาเป็นพันล้านปี

เลิบกล่าวว่า เขาคาดว่าภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนจะมาจากเมฆโมเลกุลขนาดยักษ์ ไม่ใช่จาก Carina หรือ Columba และย้ำว่าไม่มีภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนใดสามารถรอดจากการเดินทางจากเมฆโมเลกุลยักษ์ที่ใกล้ที่สุดได้ 

สำหรับปัจจัยใดที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เลิบกล่าวว่าเขากำลังเขียนถึงประเด็นดังกล่าวในหนังสือชื่อ “Extraterrestrial: The First Sign of Intelligent Life Beyond Earth” (สิ่งมีชีวิตนอกโลก: สัญญาณแรกของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก) ซึ่งจะตีพิมพ์ในเดือนมกราคมปีหน้า

แม้เราจะยังไม่แน่ชัดว่าคำตอบเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ดาวเคราะห์น้อยนี้ก็เดินทางผ่านโลกของเราและกำลังเคลื่อนออกจากระบบสุริยะแล้ว โดยมุ่งหน้าไปเยือนกลุ่มดาวม้าบิน (Constellation Pegasus) เป็นรายต่อไป

นอกจากโอมูอามูอา นักวิทยาศาสตร์นาซากล่าวว่า อาจจะมีวัตถุเช่นนี้ผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเราปีละครั้ง และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นทุกทีอย่างกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ก็อาจช่วยในเราพบวัตถุประหลาดน่าสงสัยเพิ่มขึ้นในอนาคต

‘โอมูอามูอา’ จึงเป็นเพียงปริศนาอีกอย่างหนึ่งจากห้วงอวกาศที่เราให้เราไขคำตอบ และจากไปนี้คงมีเรื่องราวน่าติดตามอีกหลายอย่างจากอวกาศมาให้เราได้ฉงนกันต่อไปเรื่อย ๆ เตรียมอ่านและศึกษากันได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส