หลังจากปฏิบัติภารกิจเกือบ 17 ปี ก็ได้เวลาที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ปลดประจำการไปเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา แต่ล่าสุดนาซาก็ยังนำบรรดาภาพน่าทึ่งที่ได้จากกล้องตัวนี้มาวิเคราะห์และพบสิ่งที่น่าสนใจได้อีกเรื่อง และนั่นก็ช่วยกระตุ้นเตือนให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า มันได้ช่วยเปิดโลกอินฟราเรดให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมายในจักรวาล ตลอดช่วงการทำงานที่ผ่านมา
และเพื่อตอกย้ำถึงความน่าว้าวและการปฏิบัติหน้าที่อันดีเยี่ยมของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ เราจึงรวบรวมภาพเด็ดที่นอกจากจะสวยงามแล้วยังเป็นภาพที่ช่วยไขคำตอบ ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ข้อมูลความรู้ใหม่จากอวกาศด้วย
หลังจาก Spitzer เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2003 (เพิ่งครบรอบ 17 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง) สปิตเซอร์ก็ได้ปฏิบัติภารกิจบันทึกภาพมากมายเคียงบ่าเคียงไหล่กับ 3 กล้องโทรทรรศน์อวกาศอันยิ่งใหญ่ของนาซา อันได้แก่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (Chandra X-ray Observatory) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศคอมป์ตัน (Compton Gamma Ray Observatory) แต่ละกล้องมีหน้าที่เก็บข้อมูลในช่วงคลื่นที่แตกต่างกันไป และด้วยการทำงานร่วมกันนี้ ก็ช่วยให้เราได้ภาพจักรวาลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เพื่ออำลากล้องดังกล่าว ในวันที่กล้องโทรทรรศน์เข้าสู่เซฟโหมด และหยุดปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด โทมัส เซอร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) ผู้ช่วยผู้ดูแลภารกิจวิทยาศาสตร์ของนาซาถึงกับกล่าวว่า
“สปิตเซอร์ได้ให้แง่มุมใหม่ของจักรวาลแก่เรา และทำให้เราก้าวหน้าไปอีกหลายขั้นในการทำความเข้าใจจักรวาล กล้องโทรทรรศน์นี้ยังทำให้เกิดคำถามสำคัญใหม่ ๆ ค้นพบวัตถุน่าสงสัยน่าศึกษาอีกหลายวัตถุ ทั้งยังช่วยสร้างแผนที่ที่เผยให้เห็นเส้นทางสำหรับการค้นคว้าต่อไปในอนาคต และยังคงสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ แม้ภารกิจสิ้นสุดลงไปแล้วอย่างแน่นอน”
และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ภาพส่งตรงจากสปิตเซอร์กับการค้นพบที่น่าทึ่ง
‘Rho Oph’ เมฆมืดแห่งการกำเนิด
2008 – ด้วยเหตุที่แสงอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองได้ดีกว่าแสงที่มองเห็นได้ สปิตเซอร์จึงสำรวจลึกเข้าไปในพื้นที่ที่ดวงดาวถือกำเนิดซึ่งกล้องอื่นไม่เคยสำรวจได้มาก่อน และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับแสงของดาวแรกเกิดในกลุ่มเมฆมืด Rho Ophiuchi
นักดาราศาสตร์เรียกกล่มเมฆฝุ่นนี้สั้น ๆ ว่า ‘Rho Oph’ ถือเป็นหนึ่งในบริเวณดาวฤกษ์ก่อตัวที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเราที่สุด ในตำแหน่งที่ใกล้กับกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ห่างจากโลกประมาณ 410 ปีแสงเท่านั้น
Rho Oph ประกอบด้วยเมฆโมเลกุลไฮโดรเจนขนาดใหญ่ อันเป็นโมเลกุลสำคัญช่วยให้ดวงดาวใหม่ก่อตัวขึ้นจากก๊าซคอสมิคที่เย็นเยียบ การศึกษาล่าสุดโดยใช้การสังเกตรังสี X-ray และอินฟราเรดร่วมกัน พบว่า มีดาวฤกษ์อายุน้อยกว่า 300 ดวงอยู่ภายใน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 ปีซึ่งยังถือว่าอายุน้อยมาก ๆ เข้าขั้นทารกเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดบางดวงของจักรวาลซึ่งมีอายุมากกว่า 12 พันล้านปี ทั้งอายุและระยะห่างจากโลกที่น้อยนิด จึงทำให้มันเป็นที่นิยมสำหรับบรรดานักดาราศาสตร์ที่ต้องการศึกษาการก่อตัวของดวงดาว
ภาพนี้ผ่านการย้อมสี (false-color image) ช่วยทำให้เรารายละเอียดของภาพได้ดียิ่งขึ้น โดยแต่ละสีสะท้อนถึงอุณหภูมิสัมพัทธ์ และสถานะวิวัฒนาการของดวงดาวต่าง ๆ ดาวที่อายุน้อยที่สุดจะล้อมรอบไปด้วยแก๊สฝุ่นจุดสีแดงในภาพแสดงถึงระบบของดาวรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ดาวฤกษ์อายุน้อยบางดวงยังล้อมรอบด้วยเนบิวลาขนาดหย่อม ส่วนดาวที่มีวิวัฒนาการขึ้น หรือโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็จะมีการปล่อยสสารบางอย่างออกมา ซึ่งเราจะเห็นเป็นสีน้ำเงิน
เนบิวลาสีขาวที่ยื่นออกมาตรงกลางด้านขวาของภาพส่องสว่างในช่วงคลื่นอินฟราเรดอย่างมาก เนื่องจากความร้อนจากฝุ่นของดาวฤกษ์อายุน้อยที่สว่างใกล้ขอบด้านขวาของเมฆ เฉดสีหลากหลายที่กระจายไปทั้งภาพขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ องค์ประกอบ และขนาดของเม็ดฝุ่น ดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเมฆสีเข้มบริเวณตรงกลางด้านล่างและด้านซ้ายของภาพ
กาแล็กซีไกลสุดที่เราสำรวจได้กับความจริงอันน่าตะลึง
2011- ไม่ใช่แค่กลุ่มดาวอายุน้อยที่อยู่ใกล้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ตรวจพบกลุ่มกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลสุด ๆ ที่เรียกว่า COSMOS-AzTEC3 อีกด้วย นักดาราศาสตร์จัดให้กาแล็กซีนี้อยู่ในกลุ่มโปรโต – คลัสเตอร์ที่อยู่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบในเวลานั้น
กว่าแสงจากกาแล็กซีกลุ่มนี้จะเดินทางมาถึงโลก ต้องใช้เวลามากกว่า 12.6 พันล้านปีเลยทีเดียว และเมื่อเทียบกับอายุของเอกภพที่คาดว่าอยู่ราว ๆ 13.7 พันล้านปี นั่นก็หมายความว่า แสงจากกาแล็กซีอันไกลโพ้นนี้ จะช่วยให้ให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจได้มากขึ้นว่า กาแล็กซีก่อตัวและวิวัฒนาการมาอย่างไร และช่วงต้น ๆ ของเอกภพเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังพบว่า กระจุกดาวนี้เต็มไปด้วยการก่อตัวของดาวฤกษ์อย่างรุนแรง ทั้งยังมีหลุมดำขนาดมหึมาอีกด้วย ช่วยกระตุ้นให้บรรดานักดาราศาสตร์ทั่วโลกใช้กล้องโทรทรรศน์อีกหลายตัว หันไปศึกษา COSMOS-AzTEC3 กันอย่างลงลึกอีกด้วย
(คลิกอ่านหน้า 2 กดด้านล่างเลย)
‘กาแล็กซีเด็กโข่ง’ ถึงจะตัวใหญ่แต่ใจยังเป็นเด็กมีอยู่จริงนะเออ
2005 – เนื่องจากกาแล็กซีที่อยู่ไกลที่สุดที่สปิตเซอร์สังเกตเห็นได้ห่างไปถึง 13.4 พันล้านปีแสง หรือน้อยกว่า 400 ล้านปีหลังจากกำเนิดของเอกภพเท่านั้น สปิตเซอร์จึงมีส่วนสำคัญในการศึกษากาแล็กซีที่ก่อตัวในช่วงยุคต้นของเอกภพอย่างมากหลายงานวิจัย และหนึ่งในการค้นพบที่น่าประหลาดใจที่สุดบรรดางานวิจัยประเภทนี้ นั่นก็คือ การตรวจพบกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่และโตเต็มที่ (“big baby” galaxies) ที่มีชื่อว่า HUDF-JD2 ซึ่งมันใหญ่เกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า กาแล็กซีที่ก่อตัวในยุคแรกจะเป็นเช่นนั้นได้
ด้วยความไวต่อแสงจากดาวฤกษ์ที่มีอายุมากกว่าซึ่งมีสีแดง ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์จับภาพความสว่างของกาแล็กซีได้อย่างน่าทึ่ง จึงคาดว่า ดาวฤกษ์เหล่านั้นน่าจะเป็นมวลส่วนใหญ่ในกาแล็กซี และบ่งชี้ว่า กาแล็กซีนี้มีขนาดที่ใหญ่มาก ๆ
เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กาแล็กซีขนาดใหญ่ก่อตัวขึ้นจากการรวมตัวกันของกาแล็กซีขนาดเล็กทีละน้อย แต่ภาพ HUDF-JD2 ที่ได้จากสปิตเซอร์แสดงให้เห็นว่า กลุ่มดาวจำนวนมหาศาลมารวมตัวกันในช่วงต้นของจักรวาลนั้นเป็นไปได้
ภารกิจสุดอลังการ นั่นคือการทำแผนที่ทางช้างเผือก !
2013 – นักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมภาพสปิตเซอร์มากกว่า 2 ล้านภาพที่รวบรวมมานานกว่า 10 ปีเพื่อสร้างหนึ่งในแผนที่ที่กว้างขวางที่สุดของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เคยมีมา ข้อมูลที่ใช้ทำแผนที่ส่วนใหญ่มาจากโครงการ Galactic Legacy Mid-Plane Survey Extraordinaire 360 (GLIMPSE360)
ปกติแล้วเราสามารถมองเห็นกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแล็กซีที่เราอยู่ได้ หากเราอยู่ในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทยามค่ำคืน แต่นั่นเป็นเพียงแค่การ ‘มองเห็น’ จากมุมด้านข้างของกาแล็กซีเท่านั้น เราจึงเห็นมันเป็นเส้นเหมือนทางที่ลากยาวออกไป แต่จริง ๆ แล้วกาแล็กซีของเรามีรูปทรงเป็นเกลียวขด ๆ ภาพที่เราเห็นนั้น จึงเป็นภาพของดวงดาวและฝุ่นมากมายซ้อนทับอยู่หลายชั้น และฝุ่นปริมาณมหาศาลนี่เองที่ปิดกั้นแสงที่เรามองเห็นได้เอาไว้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกาแล็กซีจึงถูกซ่อนไว้จากสายตาของเราเรื่อยมา
แต่เพราะรังสีอินฟราเรดมักทะลุผ่านบริเวณที่มีฝุ่นได้ดีกว่าแสงที่มองเห็นได้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่ตรวจจับรัวสีดังกล่าวจึงเผยให้เห็นส่วนที่ซ่อนอยู่ของกาแล็กซีได้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่โครงสร้างเกลียวของกาแลคซี และ “แถบ” ที่อยู่ใจกลางได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ค้นพบสถานที่ก่อตัวของดาวที่ห่างไกลแห่งใหม่และเผยให้เห็นปริมาณคาร์บอนในกาแล็กซีที่สูงกว่าที่คาดไว้ด้วย
ภาพจำลองที่น่าตื่นเต้นด้วยข้อมูลจากสปิตเซอร์
เผยการมีอยู่ของ ‘วงแหวนดาวเสาร์ล่องหน’ อันมหึมา
2009 – การถ่ายภาพวงแหวนของดาวเสาร์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก่อนหน้าการปฏิบัติภารกิจของกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ ยังไม่เคยมีใครให้เห็นวงแหวนอันใหญ่ที่สุดของดาวเคราะห์นี้เลย ด้วยโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอนุภาคกระจายโคจรรอบดาว ทำให้วงแหวนนี้ห่างจากดาวมากกว่าวงแหวนอื่น ๆ ที่เราเห็นด้วยตา วงแหวนห่างจากดาวเสาร์ประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร (3.7 ล้านไมล์) มีความกว้างกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวประมาณ 170 เท่าและหนากว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวประมาณ 20 เท่า ถ้าเรามองเห็นวงแหวนด้วยตาของเรา มันจะมีขนาดเป็นสองเท่าของดวงจันทร์เต็มดวงบนท้องฟ้าเลยทีเดียว
คาดว่า ฟีบี้ (Phoebe) ดวงจันทร์ที่ไกลที่สุดดวงหนึ่งของดาวเสาร์ น่าจะเป็นต้นกำเนิดของวงแหวนนี้ อนุภาคจำนวนน้อยในวงแหวนนี้ไม่สามารถสะท้อนแสงในช่วงที่ตามองเห็นได้มากนัก และยิ่งมันอยู่ในบริเวณที่แสงจากดวงอาทิตย์มีความเบาบางด้วยแล้ว มันจึงซ่อนตัวจากเราได้มาโดยตลอด ก่อนที่สปิตเซอร์จะตรวจพบการเรืองแสงของฝุ่นเย็นในวงแหวนซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ -193 องศาเซลเซียสได้ และทำให้เกิดการสร้างภาพที่น่าทึ่งนี้ขึ้น
(คลิกอ่านหน้า 3 กดด้านล่างเลย)
ศึกษาระบบดาวที่ใหญ่ที่สุด ที่คาดว่าน่าจะมีมนุษย์ต่างดาวอยู่
2018 – ในบรรดาระบบดาว ระบบTRAPPIST-1 ที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลก 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ถือเป็นระบบดาวที่มีดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกจำนวนเยอะที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ระบบดาวเคราะห์ที่น่าทึ่งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจและความใคร่รู้ให้กับนักวิทยาศาสตร์และผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะมีดาวเคราะห์ที่อยู่ใน “เขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยได้ (habitable zone)” ถึง 3 ดวง คือน่าจะมีอุณหภูมิเหมาะสม ทำให้น้ำอยู่ในสถานะที่เป็นของเหลวบนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้ การค้นพบนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะของเรา
จากการสังเกตระบบ TRAPPIST-1 เป็นเวลานานกว่า 500 ชั่วโมงด้วยกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ระบุจำนวนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ตามข้อมูลข้างต้นได้ เนื่องจากการศึกษาในช่วงอินฟราเรดยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาดาว TRAPPIST-1 ซึ่งเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นการลดลงของแสงที่เกิดขึ้นเพียงเล็กขึ้น ขณะที่ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงเคลื่อนผ่านผ่านหน้าดาวฤกษ์ไปได้ นอกจากนี้ ข้อมูลจากสปิตเซอร์ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ขนาดและมวลของดาวเคราะห์เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ตัดตัวเลือกและตีกรอบความน่าจะเป็นของสสารต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดาวเคราะห์ให้แคบลง
แผนภูมินี้แสดงให้เห็นดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดของ TRAPPIST-1 พร้อมข้อมูล อาทิ คาบการโคจร ระยะทางจากดาว รัศมี มวล ความหนาแน่น และแรงโน้มถ่วงที่พื้นผิวเมื่อเทียบกับโลก ตัวเลขเหล่านี้ได้จากภารกิจสำรวจระบบTRAPPIST-1 ของสปิตเซอร์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2018
สำหรับแถวล่างของภาพ แสดงตัวเลขของข้อมูลในรูปแบบเดียวกันของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นในของเรา ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร จะเห็นว่า ดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 โคจรรอบดาวฤกษ์ของตนอย่างใกล้ชิด โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 1.5 – 20 วันเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าช่วงเวลาของดาวพุธซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ในรอบ 88 วันเสียอีก
ปิดท้ายด้วยภาพผลงานและการวิเคราะห์ล่าสุดที่เผยให้เราเห็นว่า ‘โรงงานผู้ผลิตดาว’ มีหน้าตาเป็นเช่นไร
และแม้สปิตเซอร์ปลดระวางไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา นาซาก็ได้นำภาพเนบิวลา W51 จากกล้องดังกล่าวมาวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจออกมาเพิ่มเติม
W51 เป็นพื้นที่ก่อตัวของดาวที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในกาแลคซีทางช้างเผือก พบครั้งแรกเมื่อปี 1958 ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 17,000 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) เมื่อสังเกตจากโลก มันแทบจะมองไม่เห็นด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่สังเกตการณ์ใรช่วงแสงที่ตามองเห็น เพราะมีเมฆฝุ่นกั้นระหว่างW51 และโลก แต่เมื่อสปิตเซอร์ตรวจจับอินฟราเรดไปที่ W51 ก็ก่อให้เกิดภาพสุกสว่างที่น่าประทับใจนี้ เพราะมันปล่อยอินฟราเรดเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ 20 ล้านดวงเลยทีเดียว
“โรงงานผลิตดวงดาว” เช่นนี้ สามารถดำเนินการได้เป็นล้านปี บริเวณโพรงสีแดงทางด้านขวาของ W51 นั้นมีอายุมากกว่าส่วนอื่นของภาพ เห็นได้ชัดจากการที่มันถูกลมจากดาวฤกษ์มวลมาก (อย่างน้อย 10 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ของเรา) พัดพาไป เมื่อดาวเหล่านั้นตายและระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ฝุ่นและก๊าซในพื้นนี้จะถูกกวาดไปรอบ ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ในเนบิวลาที่อายุน้อยกว่าทางด้านซ้าย ดาวจำนวนมากเพิ่งเริ่มกำจัดก๊าซและฝุ่นออกไปในลักษณะเดียวกับที่ดาวฤกษ์ที่มีอายุมากกว่าได้ทำมาก่อนหน้า เห็นได้ชัดว่าดาวรุ่นใหม่หลายดวงกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างฟองอากาศที่ว่างเปล่ารอบตัว
บริอันนา ไบเดอร์ (Breanna Binder) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California State Polytechnic University) ผู้ซึ่งศึกษาวงจรชีวิตของดาวมวลสูงกล่าวว่า “ภาพที่น่าตื่นตานี้ถูกถ่ายเมื่อปี 2004 แต่เมื่อร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์เสริมอื่น ๆ จำนวนมาก ก็ทำให้เราเข้าใจว่าดาวมวลมหาศาลก่อตัวขึ้นอย่างไรในทางช้างเผือก และลมและรังสีอันทรงพลังของพวกมันมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสภาพแวดล้อมที่เหลืออยู่หลังจากนั้น”
และนี่เป็นเพียงการคัดสรรเรื่องราวการค้นพบอันน่าทึ่งบางส่วนที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ที่เพิ่งเกษียณไปเท่านั้น ยังมีภาพและเรื่องราวน่าทึ่งที่สปิตเซอร์ได้ฝากความประทับใจและองค์ความรู้ให้แก่ชาวโลกอีกมากมาย หากสนใจสามารถเข้าไปสืบค้นผ่านทางคลังข้อมูลได้จากเว็บของสปิตเซอร์ในลิงก์นี้เลย
บ้ายบายสปิตเซอร์ เราจะคิดถึงนายนะพวก ถึงในอนาคตคตจะมีกล้องน้องใหม่มาช่วยสำรวจจักรวาลแต่เราจะไม่ลืมคุณประโยชน์มากมายที่นายสร้างไว้ให้แก่โลกเลย
อ้างอิง
- Spitzer.caltech.edu
- NASA JPL / NASA JPL1 / NASA JPL2 / NASA JPL3 /NASA JPL4 / NASA JPL5 /NASA JPL6
- NASA
- เครดิตภาพทั้งหมดจาก: NASA/JPL-Caltech
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส