ท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นสวยเสมอ แต่ถ้าเรามองให้มันหลอนล่ะ! เราจึงรวมภาพผี ๆ ชวนขนหัวลุกจากอวกาศมาให้ชมกัน จะชมหรือจะให้หลอก ก็กดเลื่อนลงไปอ่านดูกันได้เลย
‘เนบิวลา’ ความฟุ้งฝันเสริมจินตนาการจากอวกาศ
แม้จะบอกว่าเป็นภาพผี ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ภาพเหล่านี้เป็นภาพของเนบิวลาหรือกลุ่มแก๊สที่สวยงามตระการตา แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่ามันเกิดจากอะไร ก่อนจะไปเข้าถึง เข้าใจกันทีละภาพ เราเลยขออธิบายความรู้เกี่ยวกับเจ้าเนบิวลา เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นกันสักหน่อย
ดวงดาว (ในกรณีนี้หมายถึงดาวฤกษ์ที่มีแสงในตัวเอง) นั้นมี ‘อายุขัย’ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินข้อสังเกตง่าย ๆ เกี่ยวกับดวงดาวว่า ดาวอายุน้อยมักมีแสงเป็นสีออกน้ำเงิน ส่วนดาวที่อายุมากหน่อยมักมีสีเหลือง ส่วนดาวชรามักมีสีออกไปทางแดง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะดวงดาวในแต่ละช่วงจะปลดปล่อยพลังงานออกมาแตกต่างกัน เมื่อแรกเริ่มจึงมีสีออกไปทางขาวน้ำเงิน เช่นเดียวกับเปลวเพลิงนั่นเอง (สังเกตดู เปลวไฟจากฟืนที่ร้อนน้อยกว่าจะเป็นสีแดง ส่วนไฟเตาแก๊สบ้านที่แรงกว่าเป็นสีฟ้า)
เนบิวลา ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการดังกล่าว มันเป็นชื่อเรียกของกลุ่มเมฆของฝุ่นและแก๊สในอวกาศ มีต้นกำเนิดอยู่สองประเภทด้วยกันคือ เนบิวลาที่มาจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว และเนบิวลาที่อยู่ในพื้นที่ที่เหล่าดวงดาวกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ ซึ่งในกรณีหลังนี้เนบิวลาบางอันจึงถูกเรียกว่าเป็นแหล่ง ‘อนุบาลดวงดาว (Star nurseries)’ (ฟังดูน่ารักสุด ๆ ไปเลยแหะ)
เนบิวลาประกอบด้วยฝุ่นและแก๊สซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้กระจายออกไปในบริเวณกว้างด้วยแรงระเบิด แต่ด้วยแรงโน้มถ่วงของวัตถุในอวกาศทำให้กลุ่มฝุ่นและแก๊สเหล่านี้ค่อย ๆ รวมกันด้วยกันอย่างช้า ๆ เกิดเป็น ‘กระจุก’ หรือ ‘กลุ่มก้อน’ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นก็ทำให้แรงโน้มถ่วงของมันเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
ในที่สุด กลุ่มฝุ่นและแก๊สก็มีขนาดใหญ่มากจนยุบลงจากแรงโน้มถ่วงของมันเอง การยุบตัวทำให้วัสดุที่ใจกลางเมฆร้อนขึ้น และแกนกลางที่ร้อนขึ้นนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของดาว หากจะพูดว่าความตายของดวงดาวอาจเป็นเหตุให้เกิดดาวดวงใหม่ก็อาจจะไม่ผิดนัก นี่ ‘อาจจะ’ เป็นวัฏสงสารของดวงดาวก็เป็นได้
ดังนั้นถ้าถามว่าเนบิวลาคืออะไร ก็น่าจะหมายถึงดวงดาวในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
สำหรับที่อยู่ของเนบิวลาที่ใกล้โลกที่สุดอยู่ห่างไปถึง 700 ปีแสง คือเนบิวลาเฮลิกซ์ (Helix Nebula) ดังนั้นการเก็บข้อมูลเนบิวลาเพื่อนำมาประมวลเป็นภาพสวย ๆ ให้เราชมกัน จึงต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศคุณภาพสูง หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่รับสัญญาณช่วงคลื่นได้หลากหลายมากกว่าคลื่นแสงในช่วงที่ตาเราเห็น
เนบิวลาศีรษะแม่มด
ที่เห็นอยู่นี้คือ เนบิวลาสะท้อนแสง ที่ดูคล้ายหญิงชราใบหน้าเหี่ยวย่น มีจมูกง้องุ้ม ชวนให้นึกถึงแม่มดในนิทานปรัมปรา จึงมีชื่อเรียกตามลักษณะว่า ‘เนบิวลาศีรษะแม่มด (Witch Head Nebula)’ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ IC 2118 มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion constellation) แสงเรืองที่เห็นอยู่นี้เกิดจากการสะท้อนแสงของดวงดาว ซึ่งมีดาวหลักคือดาวไรเจล (Rigel) ที่เป็นดาวสีน้ำเงินสุกสกาวที่สุดในภาพ
สีน้ำเงินจัดของเนบิวลาเกิดจากทั้งสีฟ้าของดาว และเป็นเพราะเม็ดฝุ่นสามารถสะท้อนแสงสีน้ำเงินได้ดีกว่าสีแดง ซึ่งกระบวนการทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันนี้เองที่ทำให้ท้องฟ้าในเวลากลางวันของโลกเป็นสีน้ำเงิน
ทั้งไรเจล เนบิวลาศีรษะแม่มด และกลุ่มแก๊สและฝุ่นทั้งหลายเหล่านี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 800 ปีแสง
(ชมภาพและเรื่องราวหลอกหลอนจากอวกาศต่อ คลิกหน้า 2 ด้านล่างเลย)
เนบิวลาหัวผี
สำหรับสายเกม ภาพนี้อาจชวนให้นึกถึงพวกปีศาจลูกไฟที่มีสองตามาดร้ายอยู่กลางเปลวเพลิง และนั่นก็อาจจะเป็นที่มาของชื่อเรียกเล่นว่า ‘เนบิวลาหัวผี (Ghost Head Nebula)’ ส่วนชื่อจริงของมันนั้นคือ NGC 2080 บันทึกภาพโดยกล้อง Wide Field และ Planetary Camera 2 ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
‘เนบิวลาหัวผี’ เป็นบริเวณหนึ่งในพื้นที่ที่ดาวก่อตัว ตั้งอยู่ทางใต้ของเนบิวลา Doradus 30 ในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) โดย 30 Doradus เป็นพื้นที่ก่อตัวดาวที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มกาแล็กซีท้องถิ่น ภาพนี้จึงช่วยให้นักดาราศาสตร์ตรวจสอบและทำความเข้าใจการก่อตัวของดาวยิ่งขึ้น
แสงสีแดงและสีน้ำเงินมาจากบริเวณที่มีแก็สไฮโดรเจนซึ่งได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ใกล้เคียง แสงสีเขียวด้านซ้ายมาจากออกซิเจนเรืองแสง พลังงานที่ทำให้เกิดการส่องแสงสีเขียวนั้นมาจากลมของดวงดาวอันทรงพลัง ซึ่งมาจากดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่อยู่นอกภาพนี้ ส่วนพื้นที่สีขาวตรงกลาง เป็นการรวมกันของการปล่อยทั้ง 3 สิ่งที่อธิบายไป ทั้งยังบ่งบอกถึงแกนกลางที่ร้อนจัดของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่หลายดวงที่กำลังก่อตัวขึ้นในบริเวณนี้ การปล่อยออกมาอย่างเข้มข้นจากดาวเหล่านี้นี่เองทำให้เกิดโพรงรูปชามในแก๊สโดยรอบ
สำหรับส่วน ‘ตาของผี’ มีชื่อว่า A1 (ซ้าย) และ A2 (ขวา) จะมีมวลของไฮโดรเจนและออกซิเจนที่ร้อนจัด โดยฟองอากาศใน A1 เกิดจากการแผ่รังสีที่เข้มข้น และแรงลมจากดาวฤกษ์มวลมากดวงหนึ่ง ส่วน A2 ประกอบไปด้วยฝุ่นที่มากกว่าและดาวมวลมหาศาลที่ซ่อนอยู่หลายดวง คาดว่าดาวฤกษ์มวลมากใน A1 และ A2 ก่อตัวขึ้นในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแก๊สธรรมชาติที่ห่อหุ้มพวกมัน ยังไม่ถูกรบกวนจากการแผ่รังสีอันทรงพลังของดาวแรกเกิด
เนบิวลาไม้กวาดแม่มด
10,000 ปีที่แล้ว ก่อนรุ่งอรุณแห่งช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ได้เกิดลำแสงใหม่ขึ้นลำหนึ่งบนท้องฟ้ายามค่ำคืนและจางหายไปหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าแสงนี้เป็นดาวที่กำลังระเบิด และทำให้เกิดเมฆหลากสีที่ขยายตัวออก เกิดเป็น ‘เนบิวลาผ้าคลุม (Veil Nebula)’ โดยมีชื่อทางเทคนิคว่า NGC 6960
ภาพนี้คือ บริเวณขอบสุดด้านตะวันตกของเนบิวลาผ้าคลุม หรือบางคนก็เรียกกันว่าเป็น ‘เนบิวลาไม้กวาดแม่มด (Witch’s Broom Nebula)’ แก๊สเหล่านี้ได้สีสันจากปฏิกิริยาที่มีต่อแก๊สใกล้เคียง เศษซากของซูเปอร์โนวานี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,400 ปีแสงไปทางกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus constellation) ไม้กวาดของแม่มดนี้มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงถึง 3 เท่า สำหรับ ดาวสว่าง 52 Cygnus ที่อยู่กลางภาพ สามารถมองเห็นจากโลกได้ด้วยตาเปล่าจากที่มืด แต่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเศษซากของซูเปอร์โนวาโบราณนี้
เนบิวลาผีผ้าคลุม
รูปร่างที่น่ากลัวเสมือน ‘ผีผ้าคลุม’ นี้ยังหลอกหลอนเอกภพอยู่ใกล้เนบิวลาผ้าคลุมด้านตะวันออก ในขณะที่ผ้าคลุมมีรูปร่างเป็นวงกลมขนาดประมาณเกือบ 3 องศาบนท้องฟ้าในบริเวณกลุ่มดาวหงส์ แต่ส่วนด้านตะวันออกของมันมีพื้นที่เพียง 1/2 องศา หรือขนาดปรากฏของดวงจันทร์ มีระยะห่างจากโลกประมาณ 1,400 ปีแสง ซึ่งสามารถคำนวณหาขนาดของเนบิวลานี้ได้ประมาณ 12 ปีแสง
ภาพนี้บันทึกผ่านฟิลเตอร์พิเศษที่สามารถกรองแสงเฉพาะช่วงคลื่นแคบ ๆ ได้ ช่วงแสงที่ปลดปล่อยออกจากอะตอมของไฮโดรเจนจะแสดงเป็นสีแดง ส่วนการปลดปล่อยอย่างรุนแรงจากอะตอมของออกซิเจน ปรากฏในเฉดสีเขียวอมฟ้า
เนบิวลาผี
รูปร่างที่ดูเหมือนจะพุ่งทะยานจากสนามดวงดาวและฝุ่นนี้ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,200 ปีแสง ทางกลุ่มดาวซีเฟอุส (Cepheus constellation) พื้นที่ที่ประดับด้วยเพชรพลอย เต็มไปด้วยเมฆที่สะท้อนแสงดาวจาง ๆ นี้อยู่ในระนาบของทางช้างเผือก บริเวณขอบเมฆโมเลกุลที่ชื่อว่า ‘Cepheus Flare’
วัตถุนี้มีชื่อเรียกว่า ‘เนบิวลาผี’ (Ghost Nebula) หรือชื่อย่างเป็นทางการว่า VdB 141 หรือ Sh2-136 มีขนาดประมาณ 2 ปีแสง ภายในเนบิวลาสะท้อนแสงคือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการยุบตัวของแกนกลางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของดาว
(ชมภาพและเรื่องราวหลอกหลอนจากอวกาศต่อ คลิกหน้า 3 ด้านล่างเลย)
เนบิวลาผี No.2
ดาวฤกษ์ที่สุกสว่างที่ฝังอยู่ในเนบิวลาทั่วทั้งกาแล็กซีของเรา ล้วนแผ่รังสีจำนวนมหาศาล รุกล้ำเข้าไปในเมฆแก๊สไฮโดรเจนซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสร้างดาวดวงใหม่ กระบวนการนี้ก่อให้เกิดการสลักเสลาภูมิทัศน์สุดแฟนตาซีขึ้น
สำหรับ เนบิวลานี้ในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (Cassiopeia constellation) ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น มันเต็มไปด้วยการปกคลุมของแก็สและฝุ่น จนทำให้ได้รับฉายาว่า ‘เนบิวลาผี (Ghost Nebula)’ ไปอีกอัน ซึ่งชื่อจริงของมันคือ IC 63 สำหรับเนบิวลานี้ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 550 ปีแสงในกลุ่มดาวราชินีแคสสิโอเปีย
กะโหลกกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส
อีกหนึ่งภาพหลอนนี้ เป็นผลงานจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา เผยให้เห็นกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส (Perseus Cluster of Galaxies) ที่อยู่ห่างจากโลก 320 ล้านปีแสง ประกอบด้วยกาแล็กซีหลายพันแห่ง แต่ไม่เห็นในภาพนี้
แทนที่จะมีแต่กาแล็กซี พื้นที่นี้เต็มไปด้วยเมฆของแก๊สซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทั้งหมดในกระจุกกาแล็กซีเสียอีก เมื่อมองจากมุมนี้ ช่องว่างและจุดสว่างในเมฆแก๊สร้อนที่เต้มไปด้วยรังสีเอ็กซ์ทำให้มันเกิดรูปลักษณ์เช่นนี้ขึ้น
สิ่งที่ดูเหมือน ‘ดวงตา’ ในกะโหลกศีรษะ คือฟองสีดำสองฟองขนาบข้างจุดศูนย์กลางที่ปลดปล่อยรังสีเอกซ์ที่สว่างสดใส ขณะที่ฟองทรงยาวก่อตัวขึ้นด้านล่าง จึงดูเหมือนเป็น ‘ปากที่ไม่มีฟัน’ แหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ที่สว่างนี้น่าจะเกิดจากหลุมดำมวลมหาศาลที่ใจกลางกระจุกกาแล็กซี ส่วนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นฟองอากาศน่าจะเกิดจากถูกพัดด้วยการระเบิดของอนุภาคพลังที่ถูกขับออกมาจากหลุมดำ และขยายตัวกลายไปเป็นเมฆแก๊สขนาดมหึมา ส่วนจุดมืดที่ก่อตัวเป็น ‘จมูก’ ของกะโหลกศีรษะคือเงาของรังสีเอ็กซ์
นอกจากนี้ ยังมีเงาของกาแล็กซีขนาดใหญ่ที่พาดผ่านใจกลางกระจุกกาแล็กซี และด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า 1 แสนปีแสง ‘กะโหลกกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส’ จึงมีขนาดใหญ่กว่ากะโหลกฮาโลวีนทั่วไปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เห็นด้วยตาเปล่ามันคงน่าพรั่นพรึงมากทีเดียว
เมฆแห่งความมืดมิด
ภาพนี้คือ เนบิวลาสะท้อนแสง NGC 1999 ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion constellation)
เช่นเดียวกับหมอกรอบ ๆ โคมไฟบนถนน เนบิวลาสะท้อนแสงไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่ส่องสว่างได้เพราะแหล่งกำเนิดแสงอยู่ภายในฝุ่นของมันเอง
เนบิวลาสว่างไสวด้วยดาวฤกษ์ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งมองเห็นได้ทางด้านซ้ายของจุดศูนย์กลาง ดาวดวงนี้คือ V380 Orionis มันมีสีขาวเนื่องจากมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงประมาณ 10,000 องศาเซลเซียสซึ่งเกือบเท่ากับสองเท่าของดวงอาทิตย์ของเราเอง และมีมวลประมาณ 3.5 เท่าของดวงอาทิตย์ และด้วยอายุที่น้อยมากจึงยังเหลือเศษซากของการก่อตัว เป็นกลุ่มเมฆเนบิวลาสะท้อนแสงนั่นเอง
ใกล้ใจกลางภาพ ปรากฏเมฆดำโดดเด่นทางด้านขวาของดวงดาว เมฆมืดนี้เป็นตัวอย่างของ ‘Bok globule’ ซึ่งตั้งชื่อตาม Bart Bok นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาผู้ล่วงลับ มันคือเมฆของแก๊ส โมเลกุลและฝุ่นคอสมิกที่เย็นตัวลง และมีความหนาแน่นมากจนปิดกั้นแสงทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลัง จนเหมือนเป็นภาพซิลูเอต (Silhouette) (ถ้าเห็นอะไรแบบนี้บนโลกเราคงไม่คิดว่ามันเป็นเมฆหนาแต่คิดว่า มันเป็นช่องฟ้าเปิดที่มีเมฆรายล้อมมากกว่า) ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่า อาจมีดาวดวงใหม่กำลังก่อตัวขึ้นภายใน Bok globules นั้น
เอาละ ผ่านกันหลากหลายภาพเลยทีเดียวกับนานาภาพเนบิวลาสุดหลอน หวังว่าจะช่วยเสริมให้บรรยากาศฮาโลวีนในปีนี้ สดใสเต็มไปด้วยสาระกันมากขึ้น และนอกจากจะตรงกับเทศกาลฮาโลวีนแล้ว ปีนี้ยังตรงกับวันลอยกระทงและคืน Blue moon (จันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน) + Micro full moon (จันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี) อีกด้วย หากใครจะไปเลี้ยงฉลองหรือลอยกระทงที่ไหน ก็ขอให้สนุกสุขสันต์และเดินทางปลอดภัย Happy Halloween & Loy Krothong Festival ค่าาา!!
อ้างอิง
ขอบคุณการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลจาก: ธนกร อังค์วัฒนะ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส