เพราะกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) มีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ นาซาจึงเลือกนำภาพไปประมวลผลใหม่ เพื่อเป็นของขวัญในวาระครบรอบ โดยแต่ละภาพนั้นมีความพิเศษคือ เป็นอัญมณีแห่งห้วงอวกาศที่สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลังบ้าน หรือกระทั่งมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Space Shuttle Discovery) ในเดือนเมษายนปี 1990 หลังนักบินอวกาศออกไปเดินในอวกาศ (Spacewalk) เพื่ออัปเกรดและบำรุงดูแลถึง 5 ครั้ง ปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่มีอายุเข้าสู่ปีที่ 30 สามารถปฏิบัติงานได้ดีกว่าเมื่อครั้งถูกส่งขึ้นไปในขวบปีแรก และยังคงค้นพบสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทาย ซึ่งพัฒนาความเข้าใจพื้นฐานของเราเกี่ยวกับเอกภพอยู่เรื่อย ๆ 

ในชุดภาพใหม่ล่าสุดที่เป็นผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมีจำนวนกว่า 50 ภาพ และมีวัตถุท้องฟ้าถึง 30 ภาพ มาจากในแคตตาล็อกคาลด์เวล (Caldwell) อันที่จริงแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถ่ายภาพเหล่านี้เรื่อยมาตั้งแต่แรกเริ่มปฏิบัติภารกิจ แต่จนถึงขณะนี้ นาซาก็ยังประมวลผลภาพทั้งหมดเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะไม่เสร็จสิ้น 

ภาพในแคตตาล็อก Caldwell ซึ่งจะมีระบุว่าภาพใดเป็นภาพใหม่บ้าง

เนื่องจากมุมมองที่ละเอียดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทำให้มันไม่สามารถจับภาพวัตถุคาลด์เวลได้ครบทั้งวัตถุในบางภาพ บางครั้ง กล้องซูมเข้าไปที่กระจุกดาวอายุน้อยในแขนของกาแล็กซีก้นหอยหรือดวงดาวที่อยู่รอบนอกกระจุกดาว หรือดวงดาวที่สิ้นอายุแล้วใจกลางเนบิวลาแทน แต่ในกรณีกลับกันบางกรณี การสังเกตของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กลับให้รายละเอียดเป็นภาพที่นำมาปะติดปะต่อกันแล้วรวมเป็นภาพที่สมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์หรือความน่าตื่นตาของวัตถุท้องฟ้านั้น ๆ อย่างยิ่ง

แคตตาล็อกคาลด์เวลรวบรวมโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ นามว่า เซอร์แพทริก คาลด์เวล – มัวร์ (Sir Patrick Caldwell-Moore) ตีพิมพ์โดยนิตยสาร Sky & Telescope เมื่อ 25 ปีที่แล้วในเดือนธันวาคม 1995 เป็นแคตตาล็อกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแคตตาล็อกเมซีเย (Messier) ผลงานของชาร์ล เมซีเย (Charles Messier) นักล่าดาวหางชาวฝรั่งเศส ที่ประกอบไปด้วย วัตถุที่ส่องสว่างแต่รูปร่างเลือนรางจำนวน 110 วัตถุ ซึ่งปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าของซีกโลกเหนือและน่าจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นดาวหาง 

จุดเด่นของแคตตาล็อกของคาลด์เวลล์คือ กาแล็กซีจำนวน 109 กาแล็กซี กระจุกดาวและเนบิวล่าที่ไม่รวมอยู่ในแคตตาล็อกของเมซีเย แต่ก็สว่างพอที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นมองเห็นได้ นอกจากนี้วัตถุในแคตตาล็อกคาลด์เวลยังมีทั้งวัตถุที่สังเกตเห็นได้จากท้องฟ้าซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลกสามารถใช้อ้างอิงหรือติดตามได้

และนี่คือตัวอย่างของภาพปล่อยใหม่แคตตาล็อกคาลด์เวลล์ ซึ่งนาซาเพิ่งรวบรวมแล้วปล่อยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ธันวาคม 2563) รวมกับจะร่วมเฉลิมฉลองเป็นของขวัญที่เลอค่าส่งท้ายสิ้นปี

Caldwell 36

Credits: NASA, ESA, and S. Smartt (The Queen’s University of Belfast);
Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

ที่เห็นอยู่นี่คือแกนกลางและแขนก้นหอยบางส่วนของกาแล็กซี Caldwell 36 หรือที่เรียกว่า NGC 4559 มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 30 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวโคมาเบเรนิกส์

ด้วค่าความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude – ยิ่งค่านี้น้อย ยิ่งสว่าง) 10 ทำให้เรามองเห็น Caldwell 36 ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลาง และสามารถส่องหาได้ง่ายในยามค่ำคืนเนื่องจากอยู่ใกล้กับกระจุกดาวโคม่า (Coma Star Cluster – Melotte 111) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่มีค่าความสว่างปรากฏถึง 1.8 

วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) คือผู้ค้นพบ Caldwell 36 ในปี 1785 สำหรับฤดูกาลที่ง่ายต่อการสังเกตเห็นที่สุด ถ้าสังเกตจากซีกโลกเหนือคือฤดูใบไม้ผลิ สำหรับผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกใต้ ต้องมองหาบนท้องฟ้าทางทิศเหนือในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตการณ์ Caldwell 36 ในช่วงความยาวคลื่นที่มองเห็นได้และอินฟราเรดโดยใช้ Wide Field และ Planetary Camera 2 (WFPC2) เพื่อช่วยระบุตำแหน่งที่แม่นยำของการระเบิดของซูเปอร์โนวา และพวกเขาก็พบซูเปอร์โนวาใน Caldwell 36 ในปี 1941 และ 2019

ในปี 2016 นักดาราศาสตร์ยังสังเกตเห็นการระเบิดที่ดูคล้ายซูเปอร์โนวาจากดาวแปรแสงสีน้ำเงิน (Luminous Blue variable: LBV) ใน Caldwell 36 LBV เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ยักษ์ที่แสดงความแปรปรวนของค่าความสว่างและสเปกตรัมที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดาวเหล่านี้น่าจะหายากอย่างยิ่ง ปัจจุบัน เราพบว่ามีดาวเช่นนี้อยู่ในแคตตาล็อกทั่วไปของดาวแปรผันเพียง 20 ดวงเท่านั้น (และบางดวงยังคงมีข้อโต้แย้งอยู่ว่าใช่ดาวประเภทนี้หรือไม่) ดวงดาวเหล่านี้คือดาวที่ส่องสว่างสุด ๆ และบ่อยครั้งที่การระเบิดของดาวหรือการปะทุอย่างรุนแรงภายในดาว หรือในช่วงที่เรียกกันว่า “การระเบิดครั้งใหญ่” ของดาว จะทำให้เกิดแสงสว่างที่ต่างจากเดิมอย่างมากและยังทำใหมันสูญเสียมวลไปด้วย ส่งผลให้บางครั้ง นักดาราศาสตร์เข้าใจผิดว่าเป็นการระเบิดของซูเปอร์โนวา และเช่นเดียวกับดาวมวลมากอื่น ๆ บรรดา LBV ล้วนมีอายุขัยสั้น พวกมันจะวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและเปล่งประกายความสว่างเพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

Caldwell 40

Credits: NASA, ESA, and P. Erwin (Max Planck Institute for Extraterrestrial Physics);
Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

กาแล็กซีประกอบด้วยโครงสร้างที่แตกต่างกันจำนวนมาก และชิ้นส่วนหรือรายละเอียดของโครงสร้างเหล่านี้คือตัวที่กำหนดและขับเคลื่อนวิวัฒนาการของกาแล็กซี หนึ่งในโครงสร้างแบบนั้นของกาแล็กซี Caldwell 40 (หรือ NGC 3626) ซึ่งเป็นกาแล็กซีก้นหอย คือส่วนที่โป่งออกของกาแล็กซี โครงสร้างนี้ พื้นที่ที่มีดาวฤกษ์หนาแน่นจะล้อมรอบใจกลางกาแล็กซี และจะมีหลุมดำมวลมหาศาล (Supermassive black holes) อยุ่ภายใน โดยมวลของหลุมดำและส่วนที่นูนนี้มักจะเชื่อมโยงกัน (ส่วนนูนที่ใหญ่กว่าจะมีหลุมดำขนาดยักษ์จำนวนมากกว่า)

ส่วนที่นูนของกาแล็กซีมีสองประเภทหลักคือ แบบ ‘Classic bulges’ ที่พัฒนาขึ้นหลังจากการรวมตัวกับกาแล็กซีอื่น และแบบ ‘Pseudobulges’ ที่ประกอบขึ้นจากสสารจากบริเวณรอบนอกของกาแล็กซี การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่ามีส่วนนูนของกาแล็กซีอีกแบบคือ ‘Composite bulges’ อันเป็นรูปแบบที่เกิดจากการรวมกันของส่วนนูนหลักทั้งสองแบบ ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติทั่วไปในจักรวาล 

สำหรับการสร้างภาพ Caldwell 40 นี้ ใช้ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ในคลื่นอัลตราไวโอเลต อินฟราเรด และช่วงแสงที่มองเห็นได้ โดยใช้กล้อง Wide Field 3 ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เพื่อช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการกระจายตัวหรือความชุกของส่วนโป่งนูนของกาแล็กซีแบบ ‘Composite bulges’ ในเอกภพได้ดีขึ้น

วิลเลียม เฮอร์เชล ค้นพบ Caldwell 40 ในปี 1784 มันอยู่ห่างจากโลก 70 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวลีโอ มีขนาดที่ชัดเจนเท่ากับค่าความสว่างปรากฏที่ 10.6 ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปีในการสังเกต Caldwell 40 คือช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือและฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกใต้ เราสามารถมองเห็นกาแล็กซีนี้ได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม กาแล็กซีนี้จัดเป็นวัตถุคาลด์เวลล์ที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งในท้องฟ้า ดังนั้น หากอยากสังเกตกาแล็กซีชัด ๆ การใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่จึงเหมาะสมกว่า

Caldwell 56

Credits: NASA, ESA, J. Westphal (California Institute of Technology), and K. Werner (Eberhard Karls Universitat);
Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

มุมมองที่ดูราบเรียบเงียบสงบนี้ คือส่วนหนึ่งของเนบิวลาดาวเคราะห์ NGC 246 หรือที่เรียกว่า Caldwell 56 ที่มันได้รับการตั้งชื่อว่าเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebulae) ก็เพราะเมื่อสังเกตเห็นครั้งแรกผ่านกล้องโทรทรรศน์ในยุคแรกพวกมันมีดูคล้ายกับดาวเคราะห์ 

เนบิวลาดาวเคราะห์คือ ขั้นตอนสุดท้ายในการวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ของเรา เมื่อดาวฤกษ์ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต แรงสั่นสะเทือนในดาวและลมของดาวฤกษ์จะพัดพาก๊าซที่ห่อหุ้มดาวออกไป แกนกลางที่ร้อนของดาวจะปล่อยรังสีที่รุนแรงออกมา ทำให้ก๊าซอยู่ในภาวะเรืองแสงเป็นเวลา 2-3 หมื่นปี ก่อนที่เนบิวลาจะสลายไปโดยทิ้งดาวแคระขาว (White dwarf) ไว้ที่ศูนย์กลางของ Caldwell 56

ภาพนี้ถ่ายโดยกล้อง Wide Field และ Planetary Camera 2 ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของ Caldwell 56 และดาวตรงกลาง ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า เส้นใยเล็ก ๆ ในเนบิวลาดาวเคราะห์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป

Caldwell 56 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,600 ปีแสงในกลุ่มดาวซีตัส มีค่าความสว่างปรากฏเท่ากับ 8 และปรากฏเป็นแสงกลมจาง ๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดปานกลาง โดยจะมีดาวสองสามดวงปรากฏซ้อนด้านหน้าเนบิวลา ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกต Caldwell 56 คือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือและฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้ และอีกเช่นเคย วัตถุท้องฟ้านี้ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ วิลเลียม เฮอร์เชลในปี 1785

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

Caldwell 78

Credits: NASA, ESA, and G. Piotto (Università degli Studi di Padova);
Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีนาม นิโคโล คาซิเอทอเร (Niccolò Cacciatore) คือผู้ที่สังเกตเห็น กระจุกดาวทรงกลม Caldwell 78 หรือที่เรียกว่า NGC 6541 เป็นครั้งแรกในปี 1826 และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน เจมส์ ดันลอป นักดาราศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ ก็ระบุการค้นพบกระจุกดาวนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกัน

ช่วงเวลาที่สังเกต Caldwell 78 ได้ดีที่สุดในซีกโลกเหนือ คือช่วงฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้จะเห็นได้ดีในช่วงฤดูหนาว กระจุกดาวนี้มีค่าสว่างปรากฏ 6.3 และตั้งอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวโคโรนาออสตราลิส อยู่ห่างจากโลกประมาณ 22,000 ปีแสง สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา และจะเห็นแบบขมุกขมัวในกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ส่วนกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่จะช่วยเผยให้เห็นดาวฤกษ์บางดวงที่ซ่อนอยู่ในกระจุกดาวได้

ภาพ Caldwell 78 นี้สร้างจากข้อมูลช่วงแสงที่มองเห็นได้และอัลตราไวโอเลต ที่ได้จากกล้อง Wide Field 3 ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยมีความมุ่งหวังให้นักดาราศาสตร์สามารถระบุลักษณะของดาวฤกษ์ต่าง ๆ ภายในกระจุกดาวได้ดีขึ้น

Caldwell 81

Credits: NASA, ESA, A. Sarajedini (Florida Atlantic University), A. Kong (National Tsing Hua University),
and G. Piotto (Università degli Studi di Padova); Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

เดิมนักดาราศาสตร์เชื่อว่า กระจุกดาวทรงกลมประกอบด้วยดาวฤกษ์ที่มีอายุใกล้เคียงกันและมีปริมาณสารประกอบที่คล้างคลึงกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อนี้ไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป ดูเหมือนว่า กระจุกดาวทรงกลมหลายแห่ง มีดาวฤกษ์สมาชิกที่มีสารประกอบทางเคมีที่หลากหลาย บ่งชี้ว่าดาวแต่ละดวงก่อตัวขึ้นในเวลาที่ต่างกัน

Caldwell 81 หรือ NGC 6352 เป็นกระจุกดาวทรงกลมแบบหลวม ๆ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 20,000 ปีแสง มีพิกัดอยู่ในกลุ่มดาว Ara และถูกค้นพบในปี 1826 โดยเจมส์ ดันลอป (James Dunlop) นักดาราศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ขณะที่เขาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ด้วยค่าความสว่างปรากฏ 7.8 ทำให้เราสามารถหา Caldwell 81 ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก เราสามารถเห็นกระจุกดาวนี้ได้ชัดที่สุด จากท้องฟ้าซีกโลกใต้ในช่วงฤดูหนาว และแม้จะมีมุมมองที่ด้อยกว่ากว่า แต่ผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกเหนือ ก็สามารถมองเห็นได้ในช่วงฤดูร้อน

ภาพของ Caldwell 81 นี้เป็นส่วนผสมจากข้อมูลในช่วงแสงที่มองเห็นได้และอินฟราเรด จากกล้องขั้นสูงสำหรับการสำรวจ ร่วมกับการสังเกตการณ์อัลตราไวโอเลตของกล้อง Wide Field 3 ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจลักษณะของดาวกระจุกดาวและตรวจสอบวิวัฒนาการของกระจุกดาวทรงกลม ปัจจุยัน นักวิจัยสามารถติดตามการเคลื่อนที่ของดวงดาวในกระจุกดาวและประเมินอายุของ Caldwell 81 ได้ดีขึ้น ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 พันล้านปี

Caldwell 99

Credits: NASA, ESA, and R. Sahai (Jet Propulsion Laboratory); Processing: Gladys Kober (NASA/Catholic University of America)

ภาพที่น่าทึ่งนี้จับภาพบริเวณเล็ก ๆ ของขอบเนบิวลาโคลแซก (Coalsack Nebula) อันคมเข้ม หรือ Caldwell 99 ได้

Caldwell 99 เป็นเนบิวลามืด เป็นกลุ่มฝุ่นระหว่างดวงดาวที่หนาแน่นที่ปิดกั้นแสงที่เดินทางมาจากด้านหลังได้อย่างสมบูรณ์ วัตถุที่อยู่ตรงกลางภาพคือ เนบิวลาดาวเคราะห์ก่อนเกิด หรือ จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (Protoplanetary nebula) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก ระยะของเนบิวลาดาวเคราะห์ก่อนเกิด คือช่วงท้ายของดวงดาวฤกษ์ ในช่วงนี้มันจะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนออกมาและเกิดความร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่พันปี ดาวศูนย์กลางของเนบิวลาดาวเคราะห์ก่อนเกิดจะมีอุณหภูมิไปถึงประมาณ 30,000 เคลวิน (29726.85 องศาเซลเซียส) ณ จุดนี้ ดาวศูนย์กลางจะผลิตพลังงานมากพอที่จะทำให้เปลือกก๊าซรอบ ๆ เรืองแสง และกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebula)

Caldwell 99 เป็นวัตถุที่โดดเด่นมากในท้องฟ้าซีกโลกใต้ ในคืนที่ฟ้าโปร่ง สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า จุดมืดนี้อยู่ถัดจากกลุ่มดาวกางเขนใต้ (Southern Cross) ในกลุ่มดาว Crux สำหรับช่วงที่มองเห็นได้ง่ายในซีกโลกใต้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนผู้สังเกตการณ์ทางซีกโลกเหนือจะเดินทางไปให้ใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่าที่จะทำได้และมองหามันในฤดูใบไม้ผลิ

เราไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ค้นพบ Caldwell 99 แต่ชาวยุโรปได้รู้จักวัตถุท้องฟ้านี้จากนักสำรวจชาวสเปนนาม วินเซนต์ ยาเนส ปินซอน (Vicente Yáñez Pinzón) ในปี 1499 มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 600 ปีแสงและมีความกว้างประมาณ 100 ปีแสง 

ภาพนี้สร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากกล้องขั้นสูงสำหรับการสำรวจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในช่วงความยาวคลื่นที่มองเห็นได้และอินฟราเรด มีวัตุประสงค์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของเนบิวลาดาวเคราะห์ก่อนเกิดไปสู่เนบิวลาดาวเคราะห์เพิ่มเติม

เมื่อกดเข้าไปชมในแคตตาล็อก จะมีแผนที่เอกภพให้สำรวจดูด้วยว่าวัตถุที่เราชมอยู่ ตั้งอยู่บริเวณไหนบ้าง
Credit: nasa.gov/skymap/caldwell

และนี่เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งจาก 30 ภาพ ที่เราคัดสรรมาให้ชมกันเท่ากัน ใครอยากชมภาพให้ครบทั้ง 30 ภาพ กดเข้าไปชมต่อได้ ที่นี่ รับรองความตื่นตาตื่นใจแน่นอน

อ้างอิง

NASA
Hubble-NASA1/ Hubble-NASA2/ Hubble-NASA3/ Hubble-NASA4/ Hubble-NASA5/ Hubble-NASA6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส