กลับเข้าสู่ช่วง COVID-19 สังเกตว่าทางการไทยจะแนะนำและโน้มน้าวให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยโหลดแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือสแกนคิวอาร์หน้าทางเข้าของสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจะสามารถติดตามตัว เมื่อคนใกล้ตัวหรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน มีการยีนยันผลการตรวจ COVID-19 เป็นบวก เพื่อไปรับการตรวจ COVID-19 ต่อไป
แต่ทำไมปัจจุบันผู้ใช้ “ไทยชนะ” ถึงมีจำนวนผู้ใช้ที่น้อยลงจากในตอนเปิดตัวใหม่ ๆ จะใช้ได้ผลอีกหรือไม่ วันนี้เรามาดูเหตุผลกัน
หมายเหตุ : ข้อมูลที่อยู่ในบทความเป็นเพียงความเห็นจากผู้เขียน ที่เขียนบนพื้นฐานความเป็นจริง
มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า แค่ลงทะเบียน สแกน เช็กอิน และเช็กเอาต์ เพียงเท่านี้ ไม่เห็นยากเลย แต่ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าทำซ้ำ ๆ อย่างนี้กันทุก ๆ วัน ในทุก ๆ สถานที่ที่เข้าไป ยกตัวอย่างห้างสรรพสินค้า ทางห้างก็จะมีคิวอาร์สำหรับเช็กอินของทางห้าง จากนั้นร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้างก็มีอีกคิวอาร์หนึ่งเพื่อเป็นการเช็กอินให้กับทางร้านค้า
การที่จะให้ผู้ใช้หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเข้าหรือออกสถานที่หรือร้านค้าต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะในขั้นตอนเช็กเอาต์ เมื่อผู้ใช้เช็กอินลืมทำการเช็กเอาต์ ระบบก็จะมีความแม่นยำที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ
ลองนึกภาพว่า หากผู้ใช้ A ทำการเช็กอิน ทำธุระภายในร้านค้าเสร็จแล้ว และเดินทางออกไปแล้ว ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้เช็กเอาต์ หลังจากนั้นผู้ใช้ B เดินเข้ามาทำการเช็กอินทำธุระ และเช็กเอาต์ออกไป และปรากฏว่าผู้ใช้ B มีการยืนยันผล COVID-19 ว่าติดเชื้อ สังเกตว่าผู้ใช้ A และ B จะไม่ได้เจอกันหรือไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันเลย แต่ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ว่า A และ B มีเวลาทีอยู่ในสถานที่ดังกล่าวเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปได้ที่ระบบก็จะแจ้งไปยังผู้ใช้ A ซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ใช้ B แต่ทีแรกอยู่แล้ว เพียงลืมเช็กเอาต์ออกจากสถานที่นั้น
ข้อมูลที่ไม่เป็นส่วนตัว
ในเรื่องของความเป็นส่วนตัว จะต้องเน้นไปยังการลงทะเบียนลงบนกระดาษที่หลาย ๆ บริการและสถานที่จัดเป็นบริเวณสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟนหรือไม่สามารถสแกนคิวอาร์ได้ จะต้องเขียนชื่อและเบอร์โทรของตนลงบนกระดาษซึ่งไม่มีการเก็บข้อมูลเป็นบุคคลแบบ 1 ต่อ 1 แต่กลับเก็บเป็นตารางลิสต์รายชื่อทั้งหมดของผู้ใช้บริการวันนั้น ซึ่งผู้ที่มาทีหลังจะเห็นข้อมูลของคนที่เข้ามาใช้บริการก่อนหน้านี้ และนำไปทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงฉ้อโกงได้ตามสบาย เป็นอันตรายต่อผู้ใช้บริการก่อนหน้ามาก ๆ
ถ้าเปลี่ยนเป็นการให้สถานที่บริการจัดหาคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน เปิดหน้าเว็บไซต์เพื่อลงทะเบียนในระบบไทยชนะได้โดยตรง แทนการเขียนลงบนกระดาษก็จะสามารถช่วยตรงนี้ได้อีกมาก
2 เหตุผลนี้เป็นเหตุผลหลัก ๆ ว่าทำไมผู้ใช้ไทยชนะถึงมียอดที่น้อยลงจากตอนเริ่มโครงการมาก ๆ ตอนนี้ใครไปสถานที่ต่าง ๆ ก็จะเห็นว่ามีการตั้งคิวอาร์ไว้แต่มีเพียงส่วนน้อยที่สแกนเช็กอินเข้าระบบเท่านั้น นอกจากบางสถานที่ที่บังคับสแกน ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจจะทำเป็นสแกนแต่ไม่ได้สแกนจริงนั่นเอง
มีทางเลือกอื่นมั้ย??
ในปัจจุบันทาง Google ได้จับมือกับ Apple พัฒนาเทคโนโลยี Exposure Notifications API ให้ทางการในประเทศต่าง ๆ สามารถนำระบบไปใช้งาน และพัฒนาให้ง่ายมาขึ้นโดยที่ทางการไม่จำเป็นต้องพัฒนาแอปขึ้นมาในชื่อ Exposure Notifications Express แต่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากทางการยังไม่ได้วางระบบเปิดใช้งานในส่วน ๆ นี้ จึงยังไม่สามารถใช้งานได้
แต่ทางเลือกไม่ได้มีเท่านั้นสำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำการเปิดตัวแอป “หมอชนะ” ซึ่งมีฟีเจอร์การทำงานที่คล้าย ๆ กับ Exposure Notifications API จึงแนะนำให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดลงเครื่อง ลงทะเบียนไว้แทนดีกว่า แต่แอปนี้จะมีประสิทธิภาพที่เต็มที่ไม่ได้ถ้าหากทุกคนไม่ร่วมใจกันโหลดแอปมาลงทะเบียนไว้ หรือจะเปิดใช้ฟีเจอร์ Timeline ใน Google Maps เพื่อแทร็กตัวเองได้ด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส