จวนสิ้นปีทั้งที มีการประมวลเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมามากมาย แล้วสาวกอวกาศอย่างเราจะไม่ประมวลเรื่องเด็ดจากอวกาศก็กระไรอยู่ และไม่น่าเชื่อว่า แม้เป็นปีที่มีวิกฤตโควิดทั่วโลก ก็ไม่อาจหยุดยั้งการค้นพบใหม่ ๆ และงานวิจัยที่น่าทึ่งได้ ว่าแต่มันจะมีอะไรบ้างนั้น เคยผ่านตากันมาบ้างหรือไม่ ตามมาดูกันเถอะ

1 – การระบุตำแหน่งสัญญาณวิทยุลึกลับได้เป็นครั้งแรก

ในห้วงอวกาศ มีการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็วหรือ Fast radio bursts: FRB ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงเสี้ยววินาที บางครั้งมันมีพลังมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 ล้านเท่า แม้นักวิทยาศาสตร์จะตรวจจับการระเบิดนี้มาได้หลายปีแล้ว ทว่า ยังไม่มีใครทราบว่าต้นกำเนิดของการระเบิดนี้มาจากอะไร และสิ่งที่น่าสนใจคือ การระเบิดนี้ บางครั้งเกิดขึ้นในบริเวณเดิมซ้ำ ๆ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารสาร Nature มีงานวิจัยระบุว่า นักดาราศาสตร์ตรวจจับการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็วในทางช้างเผือกของเราเองได้เป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ใกล้โลกกว่า FRB ที่เคยตรวจพบมาก่อน และมันอาจจะให้เบาะแสสาวไปถึงต้นกำเนิดที่เป็นปริศนาของมันได้ (อ่านรายละเอียดการค้นพบได้ที่บทความ ‘ครั้งแรก! พบการระเบิดของพลังงานวิทยุลึกลับในกาแล็กซีของเราเอง‘)

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่า FRB เกิดจากอะไร บ้างก็เชื่อว่าเกิดจากดาวนิวตรอน บ้างก็คาดว่าเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ยังไม่อาจสรุปไปในทางใดทางหนึ่งได้

แม้จะยังมีปริศนาให้มาคิดต่อ และยังมีข้อโต้เถียงอยู่มากมาย แต่การค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ เกี่ยวกับ FRB ในปีนี้ก็นับว่า น่าตื่นเต้นและกระตุ้นความสนใจจากทั้งนักดาราศาสตร์และบุคคลทั่วไปไม่น้อยเลย

2 – พบน้ำของดาวอังคารยุคโบราณในอุกกาบาตแอนตาร์กติก

หลายปีก่อนเมื่อมีการค้นพบอุกกาบาตโบราณในแอนตาร์กติกา มันก็ได้กลายเป็นข่าวการค้นพบเกี่ยวกับอวกาศที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งทันที และในปี 2020 นี้เองที่นักวิจัยวิเคราะห์อุกกาบาตและพบว่า อุกกาบาตนั้นมีร่องรอยของคาร์บอนและไนโตรเจน บ่งชี้ว่าดาวอังคารเคยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทั้งแม่น้ำและมหาสมุทรเมื่อในอดีตหลายพันล้านปีมาแล้ว ชี้ให้เห็นว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงนั้น

งานวิจัยในวารสาร Nature ระบุว่า ไนโตรเจนและคาร์บอนบางส่วนบนอุกกาบาต ถูกเก็บรักษาไว้ภายในคาร์บอนเนตทรงกลมซึ่งห่อหุ้มป้องกันไม่ให้สัมผัสกับองค์ประกอบภายนอก หรือสสารบนโลกหลังจากที่ตกลงมาเมื่อ 15 ล้านปีก่อน นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นยังนำชิ้นส่วนจากอุกกาบาตไปผ่านกระบวนการขจัดสิ่งปนเปื้อนที่ผิวหน้าด้วยลำไอออน (Ion beam) ในห้องปฏิบัติการที่ปลอดการปนเปื้อนระดับสูง ทำให้มั่นใจว่า การวิเคราะห์นี้ เป็นผลของการวิเคราะห์เนื้อในแท้ ๆ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาค้นพบอุกกาบาตในแอนตาร์กติกา
และพบว่ามันมาจากดาวอังคาร
Credit: kirov-bomj.ru/en/obnaruzhennoe-v-antarktide-shokirovalo-ne-tolko-uchenyh-obnaruzhennoe-v.html

การค้นพบนี้มีความสำคัญ เพราะยุติการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า สารอินทรีย์ที่พบบนอุกกาบาตดาวอังคารในแอนตาร์กติกามีต้นกำเนิดมาจากดาวอังคารจริงหรือไม่ หรือปนเปื้อนสารบนโลกกันแน่ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า อาจเคยมีแม่น้ำ มหาสมุทร หรือน้ำใต้ดินบนดาวอังคาร และมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่นั่นด้วย

และการค้นพบที่น่าตื่นตะลึงนี้ ก็ทำให้มันเป็นหนึ่งในข่าวการค้นพบใหญ่อีกข่าวของปี 2020

3 – ฤๅโลกคือตัวการทำให้เกิดสนิมบนดวงจันทร์?

เป็นเรื่องที่สร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาสตร์ เมื่อข้อมูลจากยานอวกาศจันทรายาน-1 (Chandrayaan-1) แสดงให้เห็นว่ามีบางสิ่งที่คล้าย ‘สนิม’ ปรากฏอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณขั้วดาว เพราะบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำในรูปของเหลวและอากาศอยู่เลย จึงไม่น่าจะทำให้เกิดกระบวนการออกไซด์ ที่สร้างสนิมจากเหล็กขึ้นมาได้ 

ภาพแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่พบสนิมบนดวงจันทร์
Crtdit : NASA

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายนำทีมโดย ฉ่วย ลี่ (Shuai Li) จึงพยายามหาว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ออกซิเจนหรือน้ำไปสัมผัสกับแร่เหล็กในบริเวณดังกล่าวได้บ้าง จึงเกิดเป็นสมมติฐาน 3 ประการด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ การที่ออกซิเจนจากโลกเดินทางผ่านสนามแม่เหล็กระหว่างโลกและดวงจันทร์ ทำให้ออกซิเจนจากโลกถูกถ่ายเทไปบนดวงจันทร์ เมื่อไปสัมผัสกับแร่เหล็ก จึงทำให้เกิดสนิมขึ้น โดยกระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องมีโมเลกุลน้ำในสถานะของเหลวมาเกี่ยวข้องก็ได้

สมมติฐานนี้อิงจากการค้นพบเมื่อปี 2007 ยานสำรวจคางุยะของญี่ปุ่นพบว่า ออกซิเจนในชั้นบรรยากาศโลกด้านบนสามารถเดินทางไปกับ ‘หางสนามแม่เหล็ก (Magnetotail)’ เป็นระยะทางโดยประมาณ 385,000 กิโลเมตร (239,000 ไมล์) ไปถึงดวงจันทร์ได้

ทฤษฎีนี้จะก่อให้เกิดสนิมบริเวณด้านดวงจันทร์ที่หันเข้าหาโลกมากกว่าจุดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ร่องรอยสนิมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงด้านที่หันเข้าหาโลกเท่านั้น ทีมวิจัยเดียวกันนี้จึงเสนอความเป็นไปได้ที่ 2 คือ ค่าไฮโดรเจนที่ผันผวนไปตามลมสุริยะ (Solar wind) เพราะ ไฮโดรเจนคือตัวที่ขัดขวางกระบวนการเกิดสนิม ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ไฮโรเจนลดลงมันก็อาจเปิดโอกาสเกิดสนิมขึ้นมาได้

สำหรับสมมติฐานที่ 3 นั้นไม่เกี่ยวกับโลก แต่ใครอยากรู้เพิ่มสามารถตามไปอ่านได้ที่บทความ ‘ไขคำตอบ ‘สนิม’ บนดวงจันทร์ อาจช่วยเผยวิวัฒนาการชั้นบรรยากาศโลกได้!’

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

4 – เชื้อราผู้เขมือบรังสีที่เชอร์โนบิลสู่การทำชุดอวกาศสู้รังสีอันตรายนอกโลก 

นับตั้งแต่เหตุนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี 1986 ก็มีรายงานที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เติบโตได้ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยรังสีร้ายแรง หนึ่งในนั้นคือ เชื้อราดำชนิดหนึ่งที่อาจเป็นกุญแจสำคัญ ช่วยมนุษย์ต้านทานรังสี

เชื้อราดำชนิดนี้คือ C. sphaerospermum มันกินรังสีแกมมาที่เหลืออยู่จากการระเบิดในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเชอร์โนบิล เนื่องจากมันมีเม็ดสีเมลานินเข้มข้นสูง จึงช่วยดูดซับรังสีแกมมาและเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีได้ กระบวนการนี้คล้ายกับการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช แต่ต่างกันที่ว่าเป็นการสังเคราะห์ด้วยรังสี ด้วยความสามารถนี้ นักวิจัยจึงนำมันมาศึกษาต่อ หาวิธีใช้ป้องกันรักษาให้กับมนุษย์ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการฉายรังสี การปกป้องคนที่ทำงานในโรงงานนิวเคลียร์ หรือแม้กระทั่งชุดของนักบินอวกาศ

เพื่อหาแนวโน้มพัฒนาชุดอวกาศ ในปี 2018 ตัวอย่างของเชื้อราดำจึงถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทดสอบคุณสมบัติการดูดซับรังสีในอวกาศ และผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปีนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าเชื้อราสามารถป้องกันรังสีที่เข้ามาได้ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับส่วนเกินรับเข้ามา มันกลับรักษาตัวเองได้และเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ

เชื้อราดำ C. sphaerospermum ในถาดเพาะเชื้อ กำลังกลืนกินกัมมันตภาพรังสี
Credit : NASA/JPL/CALTECH

และแม้จะมีผลงานวิจัยในแง่บวก แต่นักวิจัยก็ยังต้องศึกษาค้นคว้าว่ามันสามารถเป็นเช่นนั้นในอวกาศในระยะยาว และนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ …แต่แค่นี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งในวงการอวกาศแล้วล่ะ

5 – การบันทึกภาพดวงอาทิตย์ที่มีรายละเอียดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในเดือนมกราคม 2020 กล้องโทรทรรศน์สุริยะแดเนียล เค อิโนอุเอะ (Daniel K. Inouye Solar Telescope) ในฮาวาย ได้บันทึกภาพดวงอาทิตย์ที่มีรายละเอียดสูง นับเป็นภาพที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ของเราอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยแต่ละพิกเซลที่เห็นมีขนาดเท่าประเทศฝรั่งเศส

โทมัส ริมเมเล (Thomas Rimmele) ผู้อำนวยการโครงการกล้องโทรทรรศน์สุริยะดังกล่าว กล่าวว่า “เราเคยคิดไว้ก่อนหน้านี้ว่าดวงอาทิตย์ดูเหมือนเป็นจุดสว่างที่มีโครงสร้างเดียว แต่ภาพนี้ทำให้เห็นว่า มันแตกออกเป็นโครงสร้างขนาดเล็กจำนวนมาก” 

ภาพคมชัดที่เผยให้เห็นรายละเอียดบนดวงอาทิตย์
Credit : National Science Foundation

แต่นอกจากการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ความละเอียดสูงที่น่าทึ่ง กล้องโทรทรรศน์ยังทำอย่างอื่นได้ด้วย นั่นคือการทำแผนที่สนามแม่เหล็กของชั้นนอกของดวงอาทิตย์ซึ่งเรียกว่าโคโรนา ที่อุณหภูมิร้อนจัดถึงหนึ่งล้านองศา ซึ่งร้อนกว่าแกนในมาก และเป็นจุดที่เกิดการปะทุของแสงอาทิตย์หรือพายุ ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยสามารถคาดการณ์การเกิดพายุสุริยะที่อาจส่งผลต่อระบบโทรคมนาคมบนโลกได้แม่นยำยิ่งขึ้น 

นอกจากภาพจากกล้องโทรทรรศน์นี้แล้ว ESA และนาซา ยังถ่ายภาพดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยถ่ายได้ในประวัติศาสตร์ โดยถ่ายจากยานสำรวจดวงอาทิตย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอีกด้วย ฮอลลี่ กิลเบิร์ต (Holly Gilbert) นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของนาซา (NASA’s Goddard Space Flight Center) อธิบายว่า ภาพที่น่าทึ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นชั้นบรรยากาศที่หลากหลายของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจว่ามันขับเคลื่อนสภาพอากาศในอวกาศ ทั้งในส่วนที่ใกล้โลกและทั่วทั้งระบบสุริยะได้อย่างไร อ่านรายละเอียดและชมภาพเพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘คมชัดทุกรายละเอียด! เมื่อ ESA และ NASA เผยภาพหลากมุมของดวงอาทิตย์ คมชัดใกล้ชิดสุดเท่าที่เคยมีมา’

เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งภาพดวงอาทิตย์ที่ได้ทั้งภาพซูมชัด ๆ และภาพระยะใกล้สุด ๆ ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว และนั่นจึงทำให้มันเป็นข่าวการค้นพบที่ติดโผใน 9 อันดับนี้

6 – ฝนตกเป็นเพชรบนดาวเนปจูนและยูเรนัส!?

นับเป็นข่าวอวกาศชิ้นหนึ่งที่น่าทึ่งในปีนี้ เมื่อนักวิจัยรายงานความเป็นไปได้ของการเกิด ‘ฝนเพชร’ ภายในดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสด้วยการทดลอง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า ทั้งดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสมีสภาพแวดล้อมที่ผันผวนใต้พื้นผิว ลึกลงไปในแกนกลางของยักษ์น้ำแข็งเหล่านี้ อาจมีอุณหภูมิสูงถึงหลายพันองศาฟาเรนไฮต์ (1000 องศาฟาเรนไฮต์มีค่าประมาณ 538 องศาเซลเซียส) พื้นผิวของดาวเคราะห์เองก็มีแรงดันสูงเช่นกัน จึงเกิดสมมติฐานกันว่า บนดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสน่าจะมีฝนเป็นเพชรตกลงมา

เพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้น ในปี 2020 นักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานการเกิดของมันว่า แรงดันภายในดาวเคราะห์นั้นแรงพอที่จะแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนออกเป็นรูปแบบที่เล็กที่สุด และทำให้คาร์บอนแข็งตัวเป็นเพชร ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจึงทดลองเลียนแบบกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในดาวเคราะห์ที่รู้จักกันในนาม ‘ยักษ์น้ำแข็ง’ นี้

ภาพดาวเนปจูน
Credit: NASA

การทดลองนี้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘การกระเจิงของรังสีเอกซ์ทอมสัน (X-ray Thomson scattering)’ โดยใช้เลเซอร์ X-ray ชนิดพิเศษที่เรียกว่า Linac Coherent Light Source (LCLS) เพื่อให้ได้ผลการวัดที่แม่นยำที่สุดและพบว่า กระบวนการเกิดเพชรเป็นการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นผลึกเพชรโดยตรง

เมื่อเพชรก่อตัวขึ้นใต้พื้นผิวก๊าซ จะเกิด ‘กระแสเพชร (A shower of diamonds)’ ที่ความลึกประมาณ 6,200 ไมล์ และมันจะค่อย ๆ จมลงสู่แกนของดาวเคราะห์ อาจฟังดูไม่ค่อยน่าเชื่อ แต่นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การทดสอบนี้ โดยพื้นฐานแล้ว จะสร้างสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในก๊าซยักษ์เช่นดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส

ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบของคาร์บอนได้กลายเป็นผลึกภายใต้ความกดดันและความร้อนสูงในสภาพแวดล้อมที่จำลองขึ้น

โดมินิก คราอุส (Dominik Kraus) ผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากล่าวว่า “เทคนิคนี้ช่วยให้เราสามารถดูได้ว่า ไฮโดรเจนและฮีเลียมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบภายในดาวก๊าซยักษ์ เช่น ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ จะผสมและแยกกันอย่างไรภายใต้สภาวะที่รุนแรงเหล่านี้” 

ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ไมค์ ดันเน (Mike Dunne) ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการเลเซอร์ LCLS ได้อธิบายเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า การที่ได้เห็นว่า องค์ประกอบแยกออกจากกันในการทดลองนี้ก็เหมือนได้เห็นมองยาเนสแยกกลับไปเป็นน้ำส้มสายชูและน้ำมันนั่นแหละ

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

7 – แสงสว่างวาบจากการชนกันของดาวสองดวงที่นักวิทย์ฯ ไม่เคยเห็นมาก่อน

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้พบแสงสว่างมากอย่างไม่คาดคิด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการชนกันของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่สองดวง ที่ก่อให้เกิดดาวที่มีสนามแม่เหล็กแปลกประหลาดขึ้นมา 

นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ที่ทำให้เกิดความสับสน เพราะมันระบุสัญญาณรังสีแกมมา ที่บ่งบอกถึงการชนกันระหว่างดาวนิวตรอนสองดวง โดยดาวเหล่านี้เป็นวัตถุดาวฤกษ์ขนาดใหญ่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1.4 เท่า

การปะทะกันระหว่างวัตถุในอวกาศขนาดใหญ่เหล่านี้มักทำให้เกิดแสงสว่างวาบ ประหนึ่ง ‘ดอกไม้ไฟ’ อันน่าอัศจรรย์ ซึ่งในที่สุดจะแปรเปลี่ยนเป็นบางสิ่งที่ลึกลับยิ่งขึ้น แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร บางคนสงสัยว่าการชนกันเหล่านี้ส่งผลให้เกิดหลุมดำในภายหลัง แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด

ภาพที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็น “kilonova” การระเบิดรังสีแกมมาที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของดาวนิวตรอนที่ทรงพลัง
Credit : D. Player/STScI/NASA/ESA

อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างผิดปกติ พวกเขาตรวจพบว่าแสงสว่างวาบนี้ที่มีแสงอินฟราเรดมากกว่าปกติถึง 10 เท่าในระหว่างปรากฏการณ์ดังกล่าว แสงเรืองที่รุนแรงนี้เรียกว่า ‘กิโลโนวาแฟลช (Kilonova flash)’ ซึ่งสว่างกว่าดาวทั่วไปถึง 1,000 เท่า

เหวิน-ไฟ ฟง (Wen-fai Fong) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) และผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาอธิบายว่า“ ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ตรงกับคำอธิบายแบบดั้งเดิมของการระเบิดของรังสีแกมมาในระยะสั้น …สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับคลื่นวิทยุและรังสีเอกซ์จากการระเบิดครั้งนี้ไม่ตรงกัน”

การที่เราตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรดนี้จำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การระเบิดของรังสีแกมมาในระยะสั้นนั้นเกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน แต่น่าประหลาดใจที่ผลพวงของการชนอาจไม่ใช่หลุมดำอย่างที่เคยคาด แต่ดูเหมือนจะเป็น ดาวแมกนีตาร์ (Magnetar) ไปซะนี่

“เราคิดว่า ดาวแมกนีตาร์ส่วนมากก่อตัวขึ้นจากการระเบิดในช่วงสุดท้ายของชีวิตของดาวมวลมาก ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีดาวแมกนีตาร์ส่วนน้อยเกิดจากการรวมดาวนิวตรอน ..เพราะเราไม่เคยเห็นหลักฐานแบบนี้มาก่อน แค่ค่าอินฟราเรดที่สูงมากแบบนี้ นั่นก็ทำให้การค้นพบนี้พิเศษมาก ๆ แล้ว” ฟงกล่าว

8 – พบน้ำในดวงจันทร์มากเกินกว่าที่เคยจินตนาการไว้!

การค้นพบที่น่าตื่นเต้นในปี 2020 เผยให้เห็นแผ่นน้ำแข็งจำนวนมากบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงในพื้นที่ที่หนาวเย็นโดยเฉพาะซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดซึ่งเรียกว่า ‘Cold traps’ และยังพบน้ำในพื้นที่แสงสว่างส่องถึงเป็นครั้งแรกด้วย

นักวิจัยใช้ข้อมูลจาก SOFIA ของกล้องโทรทรรศน์ในช่วงอินฟราเรดไกลบนหอสังเกตการณ์ SOFIA ของนาซา เพื่อสังเกตพื้นผิวดวงจันทร์ ที่นั่นพวกเขาค้นพบน้ำเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ที่โดนแสงแดดเป็นครั้งแรก มีการตรวจพบลายเซ็นทางเคมีที่แตกต่างของน้ำใกล้กับหลุมอุกกาบาต Clavius ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของดวงจันทร์และในบริเวณอื่น ๆ

นาซาได้ประกาศการค้นพบน้ำบนพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ปกติด้านสว่างของดวงจันทร์มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงได้ถึง 127 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์จึงไม่เคยคาดว่าจะมีน้ำหลงเหลืออยู่บริเวณนั้นได้ นอกจากนี้ การค้นพบนี้ยังพบว่า ในหินบนดวงจันทร์ทุกหนึ่งลูกบาศก์เมตร มีน้ำถึง 100 ถึง 412 ppm เทียบเท่ากับปริมาณน้ำหนึ่งขวด นับเป็นการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับกำเนิดของน้ำบนวัตถุในระบบสุริยะเลยทีเดียว เพราะมันอาจบ่งชี้ว่าน้ำอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่เคยคาดคิดกัน (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการค้นพบได้ในบทความ ‘ตะลึง! นาซาแถลง ‘พบน้ำบนดวงจันทร์’ อาจนำไปสู่การเป็นเชื้อเพลิงสำรวจอวกาศในอนาคต’ )

ภาพแสดงให้เห้นว่าน้ำแข็งอาจก่อตัวภายใต้ ‘Cold traps’ บนพื้นผิวดวงจันทร์
Credit: NASA

แม้บริเวณที่มีน้ำเหล่านี้ยังต้องได้รับการสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติมจากรถสำรวจในอนาคต แต่นี่ก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะหากดวงจันทร์มีน้ำอยู่จริง นั่นอาจหมายถึงความเป็นไปได้ในการตั้งรกฐาน หรือ ใช้นำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อไปดาวอังคารในอนาคตด้วย

9 – ยูโรปา ดวงจันทร์ที่อาจเรืองแสงได้!

ยูโรปาเป็นหนึ่งในสี่ดวงจันทร์ใหญ่ของดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวบริวารของดวงจันทร์กาลิเลียนอีกที มันถูกปกคลุมไปด้วยเปลือกน้ำแข็งหนา และมีมหาสมุทรลึกที่มีปล่องน้ำร้อนใต้นั่น ซึ่งเป็นไปได้ว่ามัน ‘อาจจะ’ มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แม้ยังไม่พบหลักฐานเช่นนั้น แต่มีการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ชี้ให้เห็นว่าอาจมีเรื่องน่าทึ่งอีกเรื่องนั่นคือ การที่ดวงดาวอาจจะ ‘เรืองแสง’ เป็นสีเขียวในที่มืด

ภาพจำลองการเรืองแสงของยูโรปา
Cerdit : NASA

บทความใน Nature Astronomy เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมารายงานว่า นักวิจัยได้ทำการทดลองในห้องแล็บเพื่อดูว่า น้ำแข็งและเกลือบนพื้นผิวของดวงจันทร์ที่อยู่ห่างไกล จะมีปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กที่แข็งแกร่งของดาวพฤหัสบดีอย่างไร และมันก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจเพราะทำให้เกิดการ ‘เรืองแสง’ ขึ้น

ดร. เมอร์ฟี กูดิพาติ (Murthy Gudipati) นักวิจัย จากศูนย์ Jet Propulsion Laboratory ของนาซา กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การคาดการณ์เรื่องการเรืองแสงบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์นี้ จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นผิวของยูโรปาได้ และองค์ประกอบที่หลากหลายนี้อาจให้เบาะแสว่า ยูโรปามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหรือเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของแสงเรืองขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของโมเลกุลที่พบในน้ำแข็ง จึงไม่แน่ว่ายูโรปาจะเรืองแสงเช่นนี้จริง เนื่องจากการทดลองทั้งหมดทำบนโลก แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ปรากฏการณ์นี้ก็อาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ได้ว่า มีสารหรือธาตุอะไรที่ปกคลุมพื้นผิวดาวได้

แม้การเรืองแสงนี้ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์บนโลก แต่ภารกิจ ‘Europa Clipper’ ของนาซาที่มีกำหนดปฏิบัติการในปี 2024 และคาดว่าจะเข้าใกล้ยูโรปาหลายครั้ง อาจพิสูจน์เรื่องนี้ได้ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรืองแสงได้ที่ >> https://www.facebook.com/beartaiWTF/posts/1553863851475090

และนี่คือการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่น่าทึ่งและชวนให้ทั้งนักวิทยาศาสตร์ และคนทั่วไปตกตะลึงในปี 2020 แม้จะมีวิกฤตต่าง ๆ รุมเร้าเพียงใด แต่ก็มิอาจหยุดยั้งความก้าวไกลของเทคโนโลยีลงไปได้เลย …. สงสัยว่าปีหน้าเราก็น่าจะได้เห็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจจากอวกาศอีกแน่ ๆ 

อ้างอิง

Allthatsinteresting.com

bbc.com

Wikipedia

Sciencealert.com

Space.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส