ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ตโฟน ในวันที่โลกยิ่งแคบลง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนจริง ข้อมูลไหนมีคุณภาพ มาจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ข่าวไหนเป็นเฟกนิวส์

เพื่อตอบโจทย์ให้ประเทศมีดิจิทัลแพลตฟอร์มกลาง ที่ทำให้คนในประเทศมีข้อมูลสถิติพื้นฐานที่ถูกต้อง มีคุณภาพ และทำให้การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความรวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ ประชาชนสามารถเข้าถึง สืบค้นข้อมูลได้อย่างง่าย สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ จัดทำ “บัญชีข้อมูลภาครัฐ” หรือ Government Data Catalog เรียกง่ายๆ ว่า GD Catalog สมุดหน้าเหลืองที่รวบรวมข้อมูลหน่วยงานภาครัฐไว้ในที่เดียว

ขณะที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผน และแก้ปัญหาต่างๆ ในระดับประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมองในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบข้อมูลของหน่วยงานรัฐมีการจัดเก็บแบบอิสระ ในลักษณะต่างคนต่างเก็บ และมีปริมาณข้อมูลมากมายมหาศาล ทำให้การเลือกใช้ข้อมูลและการสืบค้นหาแหล่งข้อมูลมีความซับซ้อนและยุ่งยาก การจัดทำบัญชีรายการข้อมูล จึงเป็นการปลดล็อกปัญหา และขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง เพราะ GD Catalog เป็นระบบที่จะแสดงรายการของชุดข้อมูล จำแนกแยกแยะโดยการจัดกลุ่มหรือจัดประเภทข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ว่ามีข้อมูลใดบ้าง เก็บอยู่ในรูปแบบไหน หน่วยงานใดถือครอง ข้อมูลใดเปิดเผยสาธารณะสามารถแบ่งปันให้ใช้งานได้ ข้อมูลใดที่ไม่สามารถเปิดเผยได้แต่ต้องร้องขอตามกระบวนการและข้อกฎหมายของหน่วยงานที่ดูแล

บัญชีข้อมูลภาครัฐจะมีความครบถ้วน สมบูรณ์ได้นั้น หน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยงาน จะต้องมีการจัดทำรายการของชุดข้อมูลของหน่วยงานที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานนั้นๆ หรือมี Data Catalog ของหน่วยงานตนเอง และนำมาขึ้นทะเบียนในระบบบัญชีข้อมูลกลางภาครัฐที่สำนักงานสถิติแห่งชาติกำลังจัดทำระบบต้นแบบ

แผนการดำเนินโครงการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ

ปัจจุบันจัดทำแผนการดำเนินโครงการฯ ระยะ 3 ปี คือ

• ปี 2563 เป็นการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน มาตรฐาน และออกแบบพัฒนาระบบ GD Catalog
• ปี 2564 เป็นการพัฒนาระบบต้นแบบ GD Catalog Platform ประกอบด้วย ระบบบัญชีรายการข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (Agency Data Catalog) ระบบลงทะเบียนและบริหารจัดการ (GD Catalog Register & Management) และระบบบริการบัญชีข้อมูลภาครัฐ (GD Catalog Directory Services) โดยในปีนี้ได้มีการสนับสนุนให้หน่วยงานนำร่อง 31 หน่วยงาน 3 จังหวัด จัดทำบัญชีรายการข้อมูลหน่วยงานให้สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนด โดยจะเปิดให้บริการระบบต้นแบบบัญชีข้อมูลภาครัฐได้ในเดือนพฤษภาคม 2564
• ปี 2565 เป็นการพัฒนาระบบ GD Catalog Platform เต็มรูปแบบ และสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจัดทำบัญชีรายการข้อมูลหน่วยงาน และที่มีระบบบัญชีหน่วยงานแล้วมาลงทะเบียนใน GD Catalog

ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากบัญชีข้อมูลภาครัฐ (GD Catalog)

• สามารถสืบค้นบัญชีข้อมูลภาครัฐ และเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐจากแหล่งเจ้าของข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

• สามารถใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐในการมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้า และความโปร่งใสของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

• สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ และวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือต่อยอดนวัตกรรม

• ได้รับความพึงพอใจในการเข้าถึงบริการดิจิทัลภาครัฐที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการปรับเปลี่ยนรัฐบาลดิจิทัลสู่การเป็นรัฐบาลอัจฉริยะ

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของ GD Catalog เช่น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องการข้อมูลเพื่อวางแผนและบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันต่อเวลา การมีบัญชีข้อมูลภาครัฐทำให้ทราบว่าข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มีการจัดเก็บอยู่หรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานใด จัดเก็บอยู่ในรูปแบบใด เพราะมีคำอธิบายข้อมูลหรือเมทาดาตา (Metadata) บอกให้ผู้ใช้ข้อมูลได้ทราบ ซึ่งปัจจุบันสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ได้รวบรวมบัญชีข้อมูลและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มากกว่า 100 รายการ และยังทำให้ทราบว่ายังขาดข้อมูลใด ซึ่งผู้บริหารสามารถกำหนดให้หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้

หากโฟกัสที่ข้อมูลสถิติซึ่งผลิตโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และส่วนหนึ่งจะถูกจัดเก็บใน GD Catalog นั้น ต้องบอกว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านข้อมูลสถิติ  และเป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติของประเทศ กว่าจะเป็นข้อมูลสถิติที่ภาคส่วนต่างๆ ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะส่งเจ้าหน้าที่ “คุณมาดี” ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล คุณมาดี ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 และนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ผู้ให้ข้อมูลจึงสบายใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณจะไม่ถูกเปิดเผยหรือนำไปโยงใยเรื่องภาษีเป็นอันขาด เพราะ พ.ร.บ. ระบุการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้อย่างชัดเจนและเคร่งครัด การันตีว่าข้อมูลจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางสถิติเท่านั้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ มุ่งมั่นและใส่ใจทั้งการพัฒนาบริการข้อมูลสถิติให้ทันสมัย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ข้อมูลในปัจจุบัน รวมถึงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแบบนี้แล้ว เราในฐานะผู้ใช้และผู้ให้ข้อมูล สามารถมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ
เพียงแค่สละเวลาให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริงกับคุณมาดี ข้อมูลของท่านจะถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศ

ข้อมูลดี ทำให้ประเทศดี และชีวิตเราก็ดีไปด้วย ช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส