ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แต่ตัดสินใจรอดูท่าทีจากผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิและบมจ.ท่าอากาศยานไทยที่เป็นต้นสังกัด รวมไปถึงการตัดสินใจของอัยการญี่ปุ่นที่จะฟ้องไม่ฟ้อง คุณคำรณวิทย์ฯ
แต่ด้วยการแถลงการณ์ของ ผู้อำนวยการท่าฯสุวรรณภูมิ ซึ่งได้เชิญสื่อมวลชนชมการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX และกระบวนการตรวจผู้โดยสารและสัมภาระติดตัวก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยได้สรุปชัดเจนฟันธงลงไปว่า ไม่พบอาวุธปืนดังกล่าว เท่ากับเป็นการโยนภาระทั้งหมดกลับไปให้คุณคำรณวิทย์ผู้ซึ่งถึงทุกวันนี้ยังถูกควบคุมตัวไม่รู้ชะตากรรมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น
นับเป็นการตัดสินใจเร่งรีบที่จะแถลงฯท่ามกลางสายตาที่จับจ้องจากทั้งคนไทยและต่างชาติ เป็นวิบากกรรมซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทยโดยแท้
หลังจากการแถลงฯของ สุวรรณภูมิ ได้ไม่กี่วัน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ต้องออกมาให้ข่าวสำทับอีกรอบเพียงแต่ครั้งนี้เป็นการแถลงข่าวที่เน้นไปที่ความสามารถของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าวมากกว่าที่จะออกมาฟันธงว่าเจอหรือไม่เจอซึ่งหาใช่สาระสำคัญของเรื่อง
ใครถูกใครผิดอย่างไรพ้นวิสัยที่เราจะมาตัดสินครับ เวลาเท่านั้นจะเป็นตัวบอกเราทั้งหมด
วันนี้ผมจะมาให้ข้อมูลกับท่านเกี่ยวกับการทำงานคร่าวๆของเจ้าเครื่อง CTX เมื่อผู้อ่านท่านได้รับทราบแล้วก็จะสามารถมีข้อมูลเชิงเทคนิคนำไปประกอบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจนเห็นได้เองว่าเรื่องราวนั้นเป็นมาอย่างไร
CTX ย่อมาจาก Computer Tomography X-ray เป็นเทคโนโลยี่ที่พัฒนาขึ้นโดย บริษัท InVision Technologies ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ไป คศ.๑๙๙๐ โน่น
หัวใจสำคัญของเครื่องตัวนี้ก็คือการใช้ระบบ CT Scan หรือ CAT Scan ร่วมกับการประมวลผลของภาพของวัตถุที่ผ่านการสแกนด้วยความซับซ้อนขั้นสูงสุด เพื่อตรวจจับมวลและจำนวนของวัตถุที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นระเบิดซุกซ่อนอยู่ในสัมภาระของผู้โดยสาร
ความเก่งกาจของเจ้าเครื่อง CTX โดยเฉพาะรุ่น ๙๐๐๐ ที่สนามบินสุวรรณภูมิของเราสั่งมาใช้ทั้งหมด ๒๖ เครื่องก็คือมันจะสามารถสแกนสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องบินได้ถึง ๕๔๒ ชิ้น ต่อเครื่อง ต่อชั่วโมง
เล่ามาถึงตรงนี้ผู้อ่านท่านน่าจะเดาออกแล้วนะครับว่าเจ้าเครื่องตัวนี้มีเอาไว้สำหรับงานสเกลใหญ่ที่ต้องแข่งกับเวลา ดังนั้นการสแกนแต่ละชิ้นจะไม่มี เจ้าหน้าที่ คอยนั่งดูจอ ระบบสมองกลจะทำการคัดแยกโดยตัวของมันเอง ถ้าสัมภาระชิ้นใดต้องสงสัยก็จะถูกคัดแยกเพื่อทำการตรวจสอบอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป หากการตรวจสอบยังไม่ได้ผลที่น่าพอใจขั้นตอนสุดท้ายก็คือการเชิญผู้โดยสารมาทำการเปิดกระเป๋าเพื่อดูให้รู้แน่ว่าวัตถุนั้นคืออะไร
ผู้อ่านท่านครับ CTX นี้ตรวจจับวัตถุระเบิดตามข้อมูลที่โปรแกรมใส่เข้าไปซึ่งจะมีการอัพเดทกันอยู่อย่างสม่ำเสมอและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
ดังนั้น CTX จะไม่สามารถตรวจจับอาวุธหรือแม้แต่กระทั่งกระสุนปืนจำนวนไม่กี่นัดได้ดอกหรอกครับ
ที่สำคัญต่อให้มีใครโหลดปืนยาวหรือมีดดาบใส่กระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องบินไปก็ไม่สามารถที่จะอันตรายต่อผู้โดยสารหรืออากาศยานได้เพราะที่เก็บสัมภาระอยู่ใต้ท้องเครื่องบิน ผู้โดยสารไม่สามารถเดินลงไปจากเคบินเพื่อไปค้นหาอาวุธเหล่านั้นได้
ทั้งหลายทั้งปวงมิได้หมายความว่าเจ้าเครื่อง CTX มันจะหลับหูหลับตามุ่งหาแต่วัตถุระเบิดถ่ายเดียวนะครับ ทุกการสแกนจะถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่รวมกันตรงศูนย์ปฏิบัติการได้มีโอกาสมองเห็นอย่างเร็วๆ ซึ่งอย่างที่ผมเรียนละครับ CTX มันยังประมวลผลจากมวลและจำนวนของวัตถุที่แม้จะไม่ใช่วัตถุระเบิดก็ตามทีหากมีมวลหรือจำนวนอันต้องสงสัยมันก็จะทำการส่งการเตือนให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ภาพการสแกนอีกครั้งหนึ่ง
พูดง่ายๆ ถ้าเป็นวัตถุระเบิดมันจะส่งสัญญาณเตือนทันทีและไม่ทำการส่งสัมภาระนั้นไปยังสายพานที่จะโหลดขึ้นเครื่องอย่างแน่นอน แต่หากเป็นวัตถุต้องสงสัยอย่างอื่นมันก็จะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีทำการตรวจสอบและตัดสินใจอีกชั้นหนึ่ง
มีผู้โดยสารมากมายครับที่โดนจับได้ว่าโหลดไฟแช็คเป็นกล่องๆ แม้กระทั่งบีบีกัน อันเนื่องมาจากเหตุผลที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้ว
ส่วนปืนเจ้าปัญหากระบอกนั้นพร้อมกระสุนอีกห้านัดเจ้า CTX มันเห็นแต่ไม่ส่งสัญญาณหรอกครับเพราะทั้งขนาดและจำนวนไม่ได้อยู่ใน อัลกอริทึม ที่กำหนดไว้และที่สำคัญมันไม่ใช่ วัตถุระเบิด
แต่ถ้าปืนและกระสุนชุดเดียวกันนั้นอยู่ในกระเป๋าที่ถือติดตัวจะต้องถูกตรวจสอบพบอย่างแน่นอนครับเพราะการตรวจค้นด้วยเครื่อง X-ray โดยการตรวจที่ละใบโดยมีเจ้าหน้าที่ดูจอเดียวกันถึงสองคนนั้นไม่สามารถผ่านไปได้ครับ และที่สำคัญถึงแม้เจ้าหน้าที่อาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนจากภาพในจอแต่ก็สามารถให้ผู้โดยสารเปิดกระเป๋านั้นได้ทันที
คำว่า ไม่พบ กับ ไม่มี นี่มันต่างกันนะครับ
ไม่พบเพราะเหตุผลทางเทคนิคที่ผมได้อธิบายคร่าวๆให้ท่านฟัง เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่การบอกว่า ไม่มี โดยที่ไม่ได้ยกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวมาสนับสนุนให้ผู้ฟังได้เข้าใจอย่างง่ายๆนั้นออกจะเป็นการสรุปง่ายดายเกินไปนิดเพราะความจริงที่สุดก็คือปืนกระบอกนั้นพร้อมกระสุนมันไปถูกตรวจพบเจอที่ญี่ปุ่น
ถึงแม้วิธีการโหลดกระเป๋าใบดังกล่าวจะแตกต่างกัน ขาไปโหลดใต้ท้องผ่าน CTX
ขากลับถือขึ้นเครื่องผ่านการตรวจตัวและกระเป๋าถือด้วยวิธีดั้งเดิม ปืนและกระสุนมันจะไปโผล่ที่ญี่ปุ่นได้อย่างไรถ้าไม่ได้ออกไปจากเมืองไทย
ตอนนี้ไม่ทราบว่าด้วยวิกฤตปืนคำรณวิทย์นี่จะทำให้ท้ายที่สุด บมจ.ท่าอากาศยานไทย ถือเป็นเหตุให้ตั้งที่ปรึกษาเพื่อจะทำการเปลี่ยน CTX ทั้ง ๒๖ ตัว อย่างที่กำลังเป็นข่าวละก็ นอกจากจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแล้วยังจะทำให้ผู้ที่เขามีความรู้ในเรื่องนี้ทั้งไทยและเทศมองดูพร้อมทั้งส่ายหน้าด้วยความปวดใจ
ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการที่ ICAO ปักธงแดงมาตรฐานความปลอดภัยของไทยนั้นมันสมด้วยเหตุและผลทุกประการ
ลาไปก่อนพบกันใหม่ครับ