หลังจากเผยภาพชุดแรกหลังยานสำรวจ ‘เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)’ ลงจอดบนดาวอังคาร ในที่สุด ทีมผู้ดูแลภารกิจก็ได้รับข้อมูลชุดใหม่จากเครื่องมือ SuperCam ที่เดินหน้าปฏิบัติภารกิจสำรวจบนดาวอังคาร และได้นำข้อมูลนี้ไปประมวลผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับภาพปกนี้ เป็นการรวมภาพ 2 ภาพเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นมุมมองระยะใกล้ของเป้าหมายหินบนดาวอังคารที่ชื่อว่า ‘Yeehgo’ จากเครื่องมือ SuperCam บนรถสำรวจ Perseverance ถ่ายโดย Remote Micro-Imager (RMI) ของ SuperCam แต่นอกจากถ่ายภาพได้แล้ว SuperCam ยังทำอะไรได้มากกว่านั้น
SuperCam เครื่องมือสุดปัง ผู้เก็บข้อมูลจากดาวอังคาร
SuperCam เป็นเครื่องมือที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันของ Los Alamos National Laboratory (LANL) ในนิวเม็กซิโก และกลุ่มห้องปฏิบัติการวิจัยของฝรั่งเศสภายใต้การดูแลของ Center National d’Etudes Spatiales (CNES) มีจุดประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลความละเอียดสูงแล้วส่งกลับมาให้ทีมนักวิทยาศาสตร์บนโลกวิเคราะห์ต่อไป
หลังเดินทางถึงดาวอังคาร เครื่องมือดังกล่าวก็ส่งข้อมูลรวมถึงเสียงของ ‘Laser zaps’ ไปยังศูนย์ปฏิบัติการของสำนักงานอวกาศฝรั่งเศสในตูลูส
โรเจอร์ เวียนส์ (Roger Wiens) ผู้ดูแลหลักของเครื่องมือ SuperCam จาก Los Alamos National Laboratory ในนิวเม็กซิโกกล่าวว่า “ มันวิเศษมากที่ได้เห็น SuperCam ทำงานได้ดีบนดาวอังคาร ตอนแรกที่เราจินตนาการถึงเครื่องมือชนิดนี้เมื่อแปดปีก่อน เรากังวลว่าเราทะเยอทะยานเกินไป แต่ตอนนี้มันกลับทำงานได้เหมือนต้องมนตร์”
หัวเซนเซอร์ขนาด 12 ปอนด์ (5.6 กิโลกรัม) ของ SuperCam ตั้งอยู่บนเสาของรถสำรวจ สามารถใช้วิเคราะห์ได้ถึง 5 รูปแบบ ใช้เพื่อศึกษาองค์ประกอบด้านธรณีวิทยาบนดาวอังคาร ทั้งยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เลือกหินที่รถสำรวจควรเก็บมาเป็นตัวอย่างเพื่อใช้ศึกษายังโลกต่อไปด้วย
ตั้งแต่รถสำรวจลงจอดบนพื้นผิวดาวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบและระบบย่อยทั้งหมด โดยข้อมูลเบื้องต้นจากการทดสอบ SuperCam รวมถึงเสียงที่บันทึกจากดาวอังคารนั้นน่าสนใจมาก
ครั้งแรก กับ การบันทึก ‘เสียง’ บนดาวอังคาร
นาโอมิ เมอร์ด็อกช์ (Naomi Murdoch) นักวิทยาศาสตร์การวิจัยและอาจารย์ประจำโรงเรียนวิศวกรรมการบินและอวกาศ ISAE-SUPAERO ในตูลูสกล่าวว่า “ เสียงที่ได้มามีคุณภาพที่น่าทึ่ง น่าเหลือเชื่อมากเมื่อคิดว่านี่คือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้วยเสียงจากดาวอังคารเป็นครั้งแรก! ”
เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมที่ทำภารกิจได้ปล่อยไฟล์เสียง SuperCam สามไฟล์ออกมา
มาลองฟังกันดูว่า เสียงบนดาวอังคารนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
(ตามไปฟังเสียงต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
โทมัส เซอร์บุเชน (Thomas Zurbuchen) ผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวว่า “SuperCam ช่วยให้เราแยกตัวอย่างหินที่มีแนวโน้ม และมีศักยภาพควรค่าแก่การนำกลับมาวิเคราะห์ ออกจากหินทั่วไปได้ โดยมันทำหน้าที่เสมือนหู ที่สามารถฟังได้ว่า เมื่อเลเซอร์เข้าไปกระทบกับพวกมันจะมีเสียงสะท้อนกลับอย่างไร ช่วยให้พิจารณาได้ว่าตัวอย่างใดที่จะเหมาะสม ควรนำกลับมาตรวจสอบยังโลกที่สุด ซึ่งการที่เราเลือกที่จะนำตัวอย่างกลับมาวิเคราหะ์เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนี้ นับว่าเป็นผลงานที่มีความทะเยอทะยานที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยทำมา”
นอกจากเสียง ทีม SuperCam ยังได้รับชุดข้อมูลจากเซ็นเซอร์ VISIR ที่ตรวจจับสัญญาณที่มองเห็นได้ และคลื่นอินฟราเรด รวมทั้งจากสเปกโตรมิเตอร์รามาน (Raman spectrometer) ด้วย
แสง สี เสียง เพื่อการศึกษาดาวอังคาร
VISIR นั้นใช้รวบรวมแสงที่สะท้อนจากดวงอาทิตย์ เพื่อศึกษาปริมาณแร่ของหินและตะกอน เทคนิคนี้ช่วยเติมเต็มสเปกโตรมิเตอร์รามาน ซึ่งใช้ลำแสงเลเซอร์สีเขียว เพื่อกระตุ้นพันธะเคมีในหินดังกล่าวเพื่อสร้างสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าองค์ประกอบแร่ของหินนั้นมีอะไรบ้าง
โอลิเวียร์ เบย์แซค (Olivier Beyssac) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส (French National Centre for Scientific Research: CNRS) กล่าวว่า “ นี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องมือชนิดนี้นอกจากบนโลก! สเปกโตรมิเตอร์รามานนี้จะมีบทบาทสำคัญในการล้วงข้อมูลเชิงลึกด้านธรณีวิทยา บ่งชี้ว่าพวกมันก่อตัวขึ้นในเงื่อนไขใด และยังตรวจจับโมเลกุลอินทรีย์และอนินทรีย์ที่อาจเกิดขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตได้ด้วย”
ช่างน่าทึ่งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างร่วมแรงร่วมใจกันค้นหาวิธีการที่จะทำให้การเดินทางไปยังดาวอังคารในครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด จนเกิดเป็นเทคโนโลยีที่น่าทึ่งเหนือจินตนาการแบบนี้ ท่าทางว่า ต่อไปต้องมีอะไรให้เราได้ทั้งฟังและชมกันอีกมากมายแน่นอน
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส