เพื่อจะเอาเรือใหญ่ยักษ์ให้พ้นคลองสุเอซ รู้หรือไม่ว่าวิศวกรต้องพึ่งพาการเรียงตัวของดวงดาว ซึ่งในที่นี้คือ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ด้วยนะ !
หลายวันหลังความพยายามกับการจัดการให้เรือขนสินค้าของบริษัทเอเวอร์กรีน หรือ เรือเอฟเวอร์ กิฟเวน ไม่เบียดบังขวางช่องทางการเดินเรือในคลองสุเอซ ทีมกู้ภัยที่รับผิดชอบตั้งความหวังของพวกเขาไว้ที่จันทร์เต็มดวงในสัปดาห์นี้ สองสามวันก่อน ระดับน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าปกติช่วยให้การดึงเรือขนาด 1,300 ฟุต ออกจากการกีดขวางในคลอง โดยยังไม่ทันได้ขนตู้บรรทุกสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ออกจากเรือแม้แต่ตู้เดียว
น้ำขึ้นเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ทีมที่ปฏิบัติภารกิจกู้เรือออกจากคลองสุเอซจึงต้องลงมืออย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้สินค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สามารถกระจายไปยังทั่วโลกได้ต่อไป
ระดับน้ำที่สูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เต็มดวงหรืออยู่ในช่วงคืนเดือนดับ เมื่อดวงจันทร์เรียงตัวในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยมีโลกอยู่ระหว่างดาวทั้งสองพอดี จะทำให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาลระหว่างดาวขึ้นที่ทั้งสองด้านของโลก ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นสองครั้งต่อเดือน
สำหรับเหตุการณ์กู้เรือได้ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงซูเปอร์ฟูลมูน (Super fullmoon) ที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดครั้งแรกของปีพอดี
เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่า เรือลากจูงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้เพียงลำพัง ทีมกู้เรือจึงรอคอยช่วงเวลานี้ให้มาถึง และเพื่อให้เป็นไปตามแผน ทีมกู้ภัยก็จำเป็นต้องอาศัยการขนถ่าย ดูดทรายที่อยู่ใต้คลองให้ทันการด้วย
หากพลาดกำหนดเวลานี้ จะมีค่าใช้จ่ายสูงตามมา เรือที่รอเดินทางข้ามคลองสุเอซอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง จะต้องเผชิญกับการเดินทางที่ยาวนานขึ้น เรือทั้งหลายคงต้องเดินทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของแอฟริกาเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในยุโรปและเอเชียเหมือนในอดีต
Sea-Intelligence ซึ่งเป็นศูนย์ประมวลข้อมูลในโคเปนเฮเกนประเมินว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนเส้นทางเรือในครั้งนี้ ในระยะยาวจะลดประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าของโลกลงไปถึง 6% เนื่องจากเรือจะใช้เวลามากขึ้น ล่องเรือในการเดินทางที่ยาวนานขึ้น
ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซี (Abdel Fattah Al Sisi) ของอียิปต์ จึงต้องเผชิญกับการทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในวาระการทำงาน 7 ปีที่ผ่านมา เขาสั่งให้หน่วยงานคลองสุเอซที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินการตามแผนฉุกเฉินเพื่อขนถ่ายตู้สินค้าออกจากเรือ หากการกู้เรือล้มเหลว ทีมกู้ภัยต้องการหลีกเลี่ยงผลลัพธ์นั้นด้วยความพยายามทั้งหมด
ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สถานการณ์ร้ายแรงเพียงใด เมื่อเรือเอฟเวอร์ กิฟเวน พุ่งเข้าฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซในระหว่างเกิดพายุทรายตามฤดูกาลที่เรียกว่า แคมซินเมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. ของวันที่ 23 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้ส่วนหัวของเรือความยาว 16 ฟุตปักเข้าไปในชั้นดิน
จากการประเมินนี้ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลคลองสุเอซอนุญาตให้มีเรือเข้าไปเพิ่มเติมเข้าไปในพื้นที่ โดยคิดว่าในไม่ช้า จะกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวน ได้แต่มันไม่ง่ายดายเช่นนั้น
เมื่อความพยายามครั้งแรกล้มเหลว ได้มีการนำเรือขุดไปขุดทรายจากรอบ ๆ เรือและพยายามใช้เรือลากจูงเคลื่อนย้ายเรือเจ้าปัญหาได้เล็กน้อยเท่านั้น
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Smit Internationale N.V. ผู้ปฏิบัติการกอบกู้สัญชาติดัตช์ได้เข้าร่วมทีมเพื่อช่วยเหลือและใช้กลยุทธ์ใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขุดลอกทรายไปแล้วประมาณ 87% คิดเป็นเกือบ 600,000 ลูกบาศก์ฟุตหรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 7 แห่ง เพื่อให้ช่องทางเปิดโล่งมีสิ่งกีดขวางน้อยที่สุด
และด้วยความพยายามนี้ ทีมกู้เรือจึงได้ยลโฉมใบพัดและหางเสือของเรือเป็นครั้งแรก ทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่เรือจะหลุดจากคลองมากขึ้น แต่ความหวังนี้เริ่มริบหรี่ลงเมื่อกระแสน้ำในแต่ละวันลดลงและหัวเรือของเรือยังคงติดอยู่ที่ด้านข้างของคลอง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทีมใช้เรือโยง 12 ลำ โดย 2 ลำอยู่ด้านหน้า 6 ลำผลักด้านหลัง และ 4 ลำดึงท้ายเรือเพื่อให้เรือเอเวอร์ กิฟเวน หลุดออกจากสันทราย โดยเรือขุดได้กำจัดทราย 950,000 ลูกบาศก์ฟุตและขุดลงไปที่ความลึก 60 ฟุตรอบตัวเรือ
ในคืนวันอาทิตย์ ปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูนทำให้ระดับน้ำสูงกว่า 6 ฟุต สร้างโอกาสอันดีที่สุดในการกอบกู้เรือ เมื่อเวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เรือลากจูง Alp Guard ที่มีกำลังดึงถึง 285 เมตริกตัน อันเป็นแรงหนุนหลักได้มาถึงพื้นที่ปฏิบัติการ
และจากนั้น วันเวลาแห่งการขุดลอกและการขุดก็เริ่มหยุดลง เรือลากจูงเร่งเครื่องยนต์ จนในที่สุด ก็สามารถดึงหัวเรือออกจากฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซได้ในเวลาประมาณ 05.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ซึ่งตรงกับช่วงเช้ามืดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ในประเทศไทย)
“เราทำงานกับเรือลากจูง 4 วัน” กัปตัน เวสซัม ฮาเฟซ (Wessam Hafez) หัวหน้าผู้นำร่องที่เชี่ยวชาญในคลองสุเอซกล่าว “ เมื่อเรือลากจูงลำนี้มาถึงท้ายเรือก็หลุดออกจากตลิ่งทันที”
เรือลากจูงคู่หนึ่งดึงจากด้านขวาของท้ายเรือ ในขณะที่เรือลำอื่น ๆ ผลักจากฝั่งตรงข้าม และค่อย ๆ ดึงด้านหน้า ด้านซ้ายของเรือออกไปที่กึ่งกลางของลำคลอง เมื่อกระแสน้ำลดลงและเคลื่อนตัวออกไปทางใต้สู่ทะเลแดง เรือก็ค่อย ๆ เคลื่อนออกไปกลางลำคลองอย่างช้า ๆ
และเมื่อระดับน้ำสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเที่ยง งานทั้งหมดก็ใกล้เข้าสู่ตอนจบ เรือลากจูงหลายลำเริ่มดึงเรืออีกครั้ง และเมื่อถึงยามบ่ายเรือเอฟเวอร์ กิฟเวนก็ค่อย ๆ ลอยเข้าหาใจกลางคลองสุเอซในที่สุด
ช่างน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในที่สุดวิกฤตเรือปิดคลองสุเอซก็สิ้นสุดลงเสียที ไม่น่าเชื่อเลยว่าการเรียงตัวของดวงดาวจะส่งผลกระทบกับการกู้ภัยในครั้งนี้ ช่างมาได้ถูกจังหวะเสียเหลือเกิน ไม่งั้นคงต้องเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจขยายวงกว้างกันอีกเยอะเลยทีเดียว
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส