หากพูดถึง ‘นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)’ คาดว่าไม่มีใครไม่รู้จัก แต่นั่นไม่ใช่คนในภาพปกและคนที่เราจะพูดถึงในวันนี้ เบื้องหลังความสำเร็จของการ ‘ลงเหยียบดวงจันทร์’ ครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ ล้วนเกิดได้จากกลุ่มคนจำนวนมหาศาล ทั้งภาคประชาชนที่สนับสนุน ภาครัฐที่ผลักดันโครงการ ทีมงานผู้ดูแลภารกิจ และมนุษย์ผู้กล้าที่แบกรับหน้าที่และความเสี่ยงเดินทางไปยังอวกาศ วันนี้เราจึงจะมาพูดถึง หนึ่งในนักบินอวกาศผู้ร่วมใน Apollo 11 ไฟล์ทประวัติศาสตร์นั้น แต่กลับเป็นที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุด เขาคือ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) นั่นเอง
เพลง Michael Collins จาก F.HERO ที่บรรยายเรื่องราวของชายผู้โดดเดี่ยวที่สุดในอวกาศไว้ (แนะนำว่าให้เปิดฟังระหว่างอ่านบทความ จะเพิ่มอรรถรสขณะอ่านได้เป็นอย่างดี)
ในขณะที่บ้านเรา วงการบันเทิงได้สูญเสียดาวตลกไทยอย่าง ‘น้าค่อม’ ด้วยเชื้อโควิดไปอย่างน่าเศร้า แวดวงดาราศาสตร์ก็อยู่ในห้วงโศกเช่นเดียวกัน เนื่องจากอดีตนักบินอวกาศผู้ยิ่งใหญ่ ‘ไมเคิล คอลลินส์’ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
“วันนี้ ประเทศเราได้สูญเสีย ไมเคิล คอลลินส์ ผู้บุกเบิกที่แท้จริง และผู้ที่อุทิศชีวิตในการสำรวจอวกาศ…ในฐานะนักบินอะพอลโล 11 บางคนเรียกเขาว่า ‘ชายผู้โดดเดี่ยวที่สุดในประวัติศาสตร์’ ระหว่างที่เพื่อนร่วมงานของเขาลงเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เขาคือนักบินผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้การลงเดินในครั้งนั้นเป็นไปได้ นอกจากนี้ เขายังเป็นนักบินที่มีความสามารถโดดเด่นทั้งในโครงการเจมีนี (Gemini) และในฐานะนักบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วย ”
สตีฟ ยัวเช็ก (Steve Jurczyk) โฆษกของนาซากล่าวไว้อาลัยต่อการจากไปครั้งนี้
ในขณะที่ครอบครัวของเขากล่าวว่า “ไมค์เผชิญกับความท้าทายด้วยความสง่างามและความถ่อมตนเสมอ และเผชิญหน้ากับความตาย ซึ่งเป็นความท้าทายสุดท้ายของเขาในทำนองเดียวกัน เราจะคิดถึงเขาอย่างมาก แต่เราก็รู้ด้วยว่า ไมค์รู้สึกโชคดีแค่ไหนที่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เขาเป็น”
แค่คำไว้อาลัยเหล่านี้ก็พอจะอธิบายในเบื้องต้นได้แล้วว่าเขามีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อคนรอบข้างได้อย่างไร และเพื่อเป็นการร่วมไว้อาลัยและเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง เราจึงขอเล่าวีรกรรม (ที่ทำให้ได้ฉายา) และภารกิจที่เขาต้องเผชิญให้เราได้รู้จักเขาขึ้นอีกสักนิด
การเดินทางจากพื้นโลกสู่อวกาศของชายที่ชื่อว่า ‘ไมเคิล คอลลินส์’
ไมเคิล คอลลินส์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1930 (พ.ศ. 2473) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์อัลบันส์ (Saint Albans School) ในวอชิงตันดีซี และสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการทหารสหรัฐฯ ที่เวสต์พอยต์ในปี 1952 จากนั้นจึงเริ่มต้นอาชีพเป็นทหารอากาศ และได้เป็นนักบินขับไล่ตั้งแต่ปี 1959 ถึง 1963 ทำหน้าที่บินทดสอบ สังกัดฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส์ (Edwards Air Force Base) ในแคลิฟอร์เนีย โดยมีชั่วโมงการบินมากกว่า 4,200 ชั่วโมง
ด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสม เขาจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกนักบินอวกาศกลุ่มที่ 3 ของนาซา เมื่อเดือนตุลาคม 1963 และได้เป็นนักบินอวกาศอย่างเต็มตัวครั้งแรกในภารกิจเจมินี 10 (Gemini 10) ที่ออกเดินทางเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1966 ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้น 3 วัน
เที่ยวบินนั้น มีผู้บัญชาการคือ จอห์น ยัง (John Young) และมีเป้าหมายคือ เพิ่มระดับความสูงของการเดินทางไปยังอวกาศ จรวดได้นำพาพวกเขาให้เชื่อมต่อกับท่าเทียบที่เป็นเป้าหมาย หรือ Agena Target Vehicle ซึ่งเป็นยานอวกาศไร้คนขับ ที่นาซาใช้ในโครงการเจมินี เพื่อพัฒนาและฝึกฝนเทคนิคการหาพื้นที่โคจรและการเชื่อมต่อ ซึ่งนำไปสู่การปรับแปลงวงโคจรขนาดใหญ่ เตรียมพร้อมสำหรับโครงการอะพอลโล (Apollo) ที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ โดยเขาทั้งคู่ได้เดินทางไปอยู่ในระดับความสูง 476 ไมล์ (ประมาณ 766 กิโลเมตร) เหนือพื้นโลกในเที่ยวบินนั้น
ต่อมาเขาทั้งคู่ก็ได้เดินทางไปยัง Agena ตัวที่ 2 และนั่นทำให้คอลลินส์กลายเป็นนักบินอวกาศคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่ได้ ‘เดินในอวกาศ (Spacewalker)’ เพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์ตรวจจับอุกกาบาต (Micrometeorite detection) ของ Agena นั้น
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
ภารกิจสะท้านโลก กับ ฉายา ‘ชายผู้โดดเดี่ยวที่สุดในประวัติศาสตร์’
ไม่กี่ปีต่อมา เขาก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินประวัติศาสตร์อะพอลโล 11 (Apollo 11) ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนยานจะทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ หรือในเดือนมิถุนายน 1969 นักบินอวกาศของอะพอลโล 11 ยังคงฝึกซ้อมที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี เพื่อนร่วมทีมอย่างนีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ต้องซ้อมเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงฝึกการใช้ชุดการทดลอง Early Apollo Surface Experiment Package (EASEP) และใช้เวลาส่วนใหญ่ในเครื่องจำลองโมดูลดวงจันทร์ ในขณะที่คอลลินส์ฝึกซ้อมและทบทวนขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในส่วนโมดูลคำสั่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของทีมผู้ควบคุมการบินซึ่งมีทีมงานหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง
หลังการเดินทางขึ้นสู่อวกาศ เมื่อเดินทางถึงดวงจันทร์ นักบินอวกาศทั้งสามต่างก็แยกย้ายกันทำหน้าที่ของตัวเอง นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน ได้แยกตัวจากยานหลักไปอยู่ในโมดูลที่เดินทางลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ขณะที่คอลลินส์ประจำการอยู่ในยานที่โคจรรอบดวงจันทร์ และเฝ้ามองเพื่อนร่วมทีมก้าวเท้าลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์จากบนนั้น ในวินาทีประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969
ชั่วขณะที่คนทั้งโลกจับจ้องไปที่เพื่อนร่วมทีมทั้งสองและลุ้นตัวโก่งให้มนุษย์ย่ำบนไปในดาวดวงอื่นได้สำเร็จ คอลลินส์ซึ่งอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ห่างออกไป 65 ไมล์ (ประมาณ 105 กิโลเมตร) ก็ถูกลืมไปชั่วครู่ แต่หลังจากนักบินอวกาศทั้งสามเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย และผ่านพ้นช่วงกักตัวในสถานกักกันเป็น 21 วัน (ในตอนนั้นแม้ไม่ได้มีโควิด แต่ก็ต้องกักตัวเพราะไม่รู้ว่าจะนำเชื้อโรคหรือสิ่งอื่นใดกลับมาจากอวกาศและดวงจันทร์หรือไม่) ผู้คนนับล้านที่มาต้อนรับวีรบุรุษพิชิตดวงจันทร์ จึงได้เห็นอย่างเต็มตาว่า มีนักบินอวกาศผู้สร้างประวัติศาสตร์อยู่สามคน
สำหรับฉายา ‘ชายผู้โดดเดี่ยวที่สุดในประวัติศาสตร์’ นั้น ไม่ใช่แค่เพราะผู้คนแทบไม่เห็นเขาในการออกอากาศ แต่นั่นเป็นเพราะเขาใช้เวลาอยู่ในยานอวกาศเพียงผู้เดียวถึง 21 ชั่วโมง ขณะที่เพื่อนร่วมภารกิจของเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ เขายังต้องควบคุมดูแลทุกอย่างให้เรียบร้อยไปได้ด้วยดี ต้องทำหน้าที่ทั้งประสานกับศูนย์ควบคุมและเฝ้ามองเพื่อนทั้งสองด้วยใจระทึก เรียกได้ว่าทั้งเหงา และแบกรับความกดดันอยู่ไม่น้อยในคราวเดียวกัน
หากคิดในแง่ที่ว่า พื้นผิวดวงจันทร์อยู่ตรงหน้าแล้วแต่ก็ทำได้แต่เพียงเฝ้ามอง ก็ยิ่งเหงาเข้าไปใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นการเสียสละเพื่อเพื่อนร่วมทีมและมวลมนุษยชาติจริง ๆ
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)
ชีวิตหลังสร้างประวัติศาสตร์
หากนับรวมภารกิจอะพอลโล 11 คอลลินส์ใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศถึง 266 ชั่วโมง นอกจากการเป็นนักบินอวกาศแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็น CAPCOM หรือผู้สื่อสาร (Capsule communicator) ให้กับอะพอลโล 8 โดยถ่ายทอดข้อมูลระหว่างศูนย์ควบคุมภารกิจและลูกเรือด้วย
ไม่เพียงแต่สร้างผลงานในการสำรวจอวกาศเท่านั้น ด้วยความสามารถทั้งทางด้านบริหารและสื่อสาร หลังเกษียณจากกองทัพอากาศในฐานะพลตรีและออกจากการทำงานให้นาซาในปี 1970 เขาก็ได้กลายเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะ ต่อมาในปี 1971 ก็ได้ร่วมงานกับสถาบันสมิธโซเนียนในตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติ มีความรับผิดชอบที่รวมไปถึงการวางแผนและการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี 1976 ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการและงบประมาณที่วางไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
ในปี 1980 เขายังได้เป็นรองประธานของบริษัท LTV Aerospace and Defence Co. และดำรงตำแหน่งอยู่ 5 ปี ก่อนจะลาออกมาเปิดบริษัทเอง ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอิสระในงานเขียนและบรรยายเกี่ยวกับอวกาศ โดยได้สร้างผลงานเขียนเป็นหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ ‘Carrying the Fire (1974)’ ‘Flying to the Moon and Other Strange Places (1976)’ ‘Liftoff: The Story of America’s Adventure in Space (1988)’ และ ‘Mission to Mars (1990)’
นอกจากผลงานเหล่านี้ คอลลินส์ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยหกแห่ง รวมถึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และรางวัลอีกหลายอย่าง ได้แก่ Presidential Medal for Freedom, Robert J. Collier Trophy, Robert H. Goddard Memorial Trophy และ Harmon International Trophy
เรียกได้ว่าเก่งหลากหลายด้านมาก ๆ แถมยังพัฒนาตัวเองไม่หยุดจริง ๆ และนั่นก็ทำให้ไม่ว่าเขาจะไปที่ใด ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้เสมอ
ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2019 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่ยานอะพอลโล 11 เดินทางสู่ดวงจันทร์ นักบินอวกาศ ไมเคิล คอลลินส์ เป็นผู้กล่าวในงานที่ศูนย์ควบคุมการปล่อยยานอวกาศเคนเนดี และพูดคุยกับทีมอาร์ทิมิส 1 (Artemis 1) ซึ่งเป็นทีมที่จะเป็นผู้ตามรอยสร้างประวัติศาสตร์ เดินทางไปดวงจันทร์อีกครั้ง
ลิซา เดฟรีส์ (Lisa Devries) ผู้ประสานงานด้านความปลอดภัยของอาร์ทิมิส 1 กล่าวด้วยความตื่นเต้นว่า “ วันนี้ช่างเป็นวันที่เหลือเชื่อจริงๆ ! ช่างเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พูดคุยกับคนที่ทำงานนี้และสร้างประวัติศาสตร์มาก่อน… เมื่อตอนเป็นเด็ก ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มายืนในจุดนี้ จุดที่ได้พูดคุยกับพวกเขา เหล่าบุคคลที่สร้างประวัติศาสตร์ ได้รู้และซาบซึ้งกับทุกสิ่งที่พวกเขาอุทิศให้โครงการอะพอลโล และได้ตระหนักว่า พวกเรานี่แหละ จะเป็นผู้กุมบังเหียน และสืบทอดเจตนารมณ์ที่มุ่งหน้าเดินทางไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง”
แม้หลายคนนอกวงการอาจไม่ค่อยคุ้นหูชื่อเขามากนัก แต่อย่างน้อยบนแผ่นป้าย ‘เรามาอย่างสันติเพื่อมวลมนุษยชาติ’ ที่ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ ก็ยังมีชื่อของเขาปรากฏเด่นหรายากจะลบเลือน และเราก็เชื่อว่า คุณความดี ความเสียสละของเขาอย่างที่ได้ถ่ายทอดในบทความนี้ จะยังคงตราตรึงใจคนในแวดวงดาราศาสตร์และเยาวชนคนรุ่นหลังไปอีกตราบนานเท่านาน
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส