ผู้อ่านท่านครับเมื่อเรามองลงไปให้ลึกซึ้งถึงปัญหาความปลอดภัยทางด้านการบินที่ประเทศไทยไชโยของเราถูกธงแดง ICAO เสียบลงกลางใจหลังผลสอบอัปยศที่ กรมการบินพลเรือน ผู้คุ้มกฎการบินแห่งสยามประเทศสอบตกและถูกตรวจพบความไม่ชอบมาพากลในการออกใบอนุญาตนานาชนิดอันส่งผลให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยโดนมรสุมการตรวจสอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลการบินของแต่ละประเทศชนิดตั้งการ์ดรับแทบไม่ทัน อันที่จริงแล้วมันเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งครับ
ปัญหาซุกใต้พรมยังมีอีกเยอะเอาเป็นว่าที่รายงานกันขึ้นไปให้ทั้ง รมว.คมนาคม และ นายกรัฐมนตรี ฟังนั้นเป็นความจริงครึ่งเดียวทำให้การจัดการแก้ปัญหา ธงแดง ยังคงห่างไกลความสำเร็จ
ปัญหานี้ต้องขอเรียนว่าผิดทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำครับ
ฝ่ายการเมืองผิดที่ตั้งคนไม่มีความรู้และความเข้าใจเข้าไปบริหารและควบคุมองค์กร สักแต่เอาคนที่ยอมทำตามนโยบายเรียกใช้คล่องเป็นที่ตั้ง
ฝ่ายข้าราชการประจำก็ใช่ย่อยผู้รู้ผู้มีความสามารถพอไม่ได้รับการแต่งตั้งก็เดินหน้าเข้าเกียร์ว่างกันเป็นทิวแถว แทนที่จะร่วมใจทำงานเพื่อศักดิ์ศรีของตนและความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมขอเรียนว่าในแวดวงการบินเรามีผู้รู้ลึกรู้จริงและปฎิบัติเป็นผลมากมายหลายท่านครับ ทั้งภาคเอกชนและราชการ ไม่อย่างนั้นอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยคงไม่ดำเนินเจริญรุดหน้ามาได้ถึงขนาดนี้
น่าเสียดายที่การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ มักจะได้คนที่ถูกใจนายแต่ไม่ถูกใจลูกน้องในที่สุดก็ขยับขับเคลื่อนองค์กรไปไหนไม่ได้ไกล
ผมยังจำช่วงเวลาดีๆ ที่เคยได้ร่วมแก้ปัญหาบ้านเมืองในเรื่องการบินหลังจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองของผู้ประท้วงทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน ในเวลานั้นรัฐบาลฯโดยกระทรวงคมนาคมจัดตั้ง คณะกรรมการฟื้นฟูความเชื่อมั่นฯ ที่มี ดร.ศรีสุข จันทรางศุ ผู้ที่มีความเป็นเลิศทางด้านคมนาคมอย่างแท้จริงเป็นประธานฯ
ดร.ศรีสุขฯในวัยหลังเกษียณยังคงไว้ซึ่งความรอบรู้ท่านไม่คิดอะไรแต่เพียงผู้เดียวหรือรับฟังแต่ข้าราชการ ท่านได้เรียกตัวแทนผู้ประกอบการสายการบินเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและอยู่ในคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พวกเราประชุมกันทุกสัปดาห์เป็นเวลาเกือบสองปีถึงได้แก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้นานาอารยะประเทศยังคงทำการบินเข้าออกประเทศไทยของเราเสมือนว่าการประท้วงปิดและยึดสนามบินรวมไปถึงอากาศยานของสายการบินทุกสัญชาตินั้นไม่เคยเกิดขึ้น
ท่านนายกรัฐมนตรีครับปัญหา ธงแดง มันกำลังจะ ลงแดง เพราะท่านได้รับข้อมูลที่มีความจริงไม่ครบมาตั้งแต่ต้น การใช้ ม.๔๔ ผ่าทางตันยุบ กรมการบินพลเรือน และ ตั้ง กรมท่าอากาศยาน พร้อมทั้งหน่วยงานอิสระแยกย่อยเป็นความคิดที่ดีครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาที่โดน ธงแดง ยังไม่ได้รับการแก้ไขเรากำลัง เล่นไพ่รอตำรวจ อย่างท้าทายมากครับ
ท่านโยก กัปตันเรือ มาขับเครื่องบินนี่ก็ผิดฝาผิดตัวอย่างแรงแล้วแถม รองอธิบดีฯหญิง ของท่านประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมการบินของบประเทศไทยชักจะเติบโตเกินไปแล้วต้องแช่แข็ง
เหนื่อยนะครับแบบนี้
ทำไมผมถึงเรียนผู้อ่านท่านว่าปัญหามาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบินของเรามีปัญหา ? ผมได้เขียนเรียนมาถึงท่านอยู่เกือบจะทุกครั้งนั่นเป็นเพราะเรามีปัญหาจริงๆ ครับ
ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยไม่มีอุบัติเหตุมันก็ดีไปแต่วันใดที่มีเหตุเกิดขึ้นมันจะรับกันไม่ไหว
ไม่ไหวอย่างไรผมมีอุบัติเหตุรายล่าสุดที่เกิดขึ้นในลานจอดเครื่องบินของสุวรรณภูมิมาเล่าให้ฟังครับ
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ที่ผ่านมา ป้าคนหนึ่งรับงานเป็นลูกจ้างรายวันเพื่อกวาดลานจอด ทำไมต้องกวาดลานจอดนั่นเป็นเพราะบนลานจอดมีสิ่งแปลกปลอมนานาชนิดที่เกิดจากความสะเพร่าของมนุษย์ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในเขตลานจอดทิ้งเอาไว้ครับ เช่น แก้วน้ำทั้งกระดาษและพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ถ้วยบะหมี่สำเร็จรูป หนังสือพิมพ์ โพยแทงหวยแทงบอล พลาสติกที่ใช้พันตู้ใส่กระเป๋า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า F.O.D Foreign Object Debris สิ่งที่ไม่สมควรจะไปอยู่ในลานจอดเครื่องบินอันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน
ทุกสนามบินมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ครับรวมถึง สุวรรณภูมิ ด้วย
ป้าเป็นลูกจ้างรายวันของบ.กำแพงเพชรที่รับงานจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อมาทำหน้าที่กวาด FOD ที่ว่านี่แหละและป้าคงจะไม่นึกว่าวันนั้นจะเป็นเช้าสุดท้ายในชีวิตของป้า
ป้าโดนรถลากสินค้าซึ่งทราบภายหลังจากเกิดเหตุว่าเป็นของการบินไทย เฉี่ยวและลากป้าจากในบริเวณที่มีการสันนิษฐานจากคำให้การของ ป้า อีกคนหนึ่งโดยคาดว่า ป้าผู้เสียชีวิตเข้าไปหลบแดดร้อน อยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการขนย้ายตู้สินค้า
กล้องวงจรปิดไม่สามารถให้ความกระจ่างใดๆ ได้เนื่องจากเหตุเกิดในมุมอับ
ญาติของป้าได้รับการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นเป็นจำนวนหนึ่งแสนบาท จากการบินไทย
ป้าทำงานกวาดลานจอดอยู่กับ บ.กำแพงเพชร นี้เป็นเวลา ๗ ปี แสดงว่าป้ามีความชำนาญพื้นที่แต่เป็นเพราะอายุที่มากขึ้นและอากาศที่ร้อนอบอ้าวป้าจึงอาจไปอยู่ในจุดที่ไม่สมควรอยู่
อย่างไรก็ดีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้วและการตายระหว่างการทำงานในลานจอดฯ ที่สุวรรณภูมิไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้การตายของป้าและผู้เสียชีวิตก่อนหน้าไม่ใช่การตายเปล่าอีกต่อไป
ผมขอเรียบเรียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้อ่านท่านที่มีความชำนาญในเรื่องกม.ลองพิจารณาว่าพอจะมีมูลฟ้องเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างและนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้องยั่งยืนดังต่อไปนี้ครับ
- ประเทศไทยไม่มี พรบ.ประกาศเขตลานจอดเครื่องบิน ทั้งๆ ที่เรามีสนามบินมากมายและกว่าครึ่งเป็น สนามบินนานาชาติ ซึ่งต้องมีกฎระเบียบที่สอดคล้องกับองค์กรการบินระหว่างประเทศ เมื่อเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตเป็นความอาญาการพิจารณาคดีจักต้องเป็นไปตามสำนวนที่จัดทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งก็คือตำรวจและว่ากันไปตามประมวลกฎหมายอาญา
- การเข้ามาทำงานในพื้นที่หวงห้ามและมีอันตรายเช่นลานจอดเครื่องบินพนักงานทุกคนต้องผ่านการอบรมเบื้องต้นในเรื่องของความปลอดภัย ในกรณีของป้าและคนขับรถคู่กรณีได้ผ่านการอบรมเรียบร้อย
ทีนี้เรามาลงลึกกันอีกสักนิดครับ ถึงแม้จะไม่มี พรบ.ประกาศเขตลานจอดฯแต่ธุรกิจการบินต้องดำเนินต่อไปผู้ที่เกี่ยวดองหนองยุ่งทั้งระบบจึงต้องมีระบบการฝึกอบรมของตนเองอย่างน้อยที่สุดก็ในสองเรื่องสำคัญ- ความปลอดภัยในลานจอด จะปฏิบัติตนอย่างไร Do & Don’t ทั้งหลาย
- ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย
- SMS – Safety Management System กระบวนการบริหารจัดการในเรื่องของความปลอดภัย
ทุกสนามบินจะต้องมีหัวข้อนี้ครับเป็นสิ่งสำคัญมากแยกย่อยได้สี่เสาหลัก คือ- การฝีกอบรม จะต้องมีการฝึกอบรมให้พนักงานแต่ละคนเข้าใจวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติตนในพื้นที่การทำงานที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงการศึกษาความเสี่ยงในการทำงาน งานต่างกันย่อมมีความเสี่ยงต่างกัน เมื่อพบความเสี่ยงแล้วทำอย่างไรจึงจะเสี่ยงให้น้อยที่สุด
- เมื่อฝึกอบรมแล้วก็ต้องนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง
- การตรวจสอบดูแลว่าผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมนั้นปฏิบัติตนและปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่
- การทบทวน ตรงนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งครับไม่ใช่ฝึกอบรมกันไปแล้วก็แล้วกันไปต้องมีการเรียกกลับมาอบรมใหม่อยู่เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของงานที่ปฏิบัติถ้าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมากการอบรมทบทวนก็จะต้องมีความเข้มข้นและทันสมัย เช่น โลกเข้าไปถึง Power Bank ที่มีความสามารถ Jump start รถยนต์ได้แล้วแต่เรายังนั่งอบรมเรื่องแบตเตอรี่เซลเดี่ยวอยู่ก็คงจะไม่ใช่
สรุป การไม่มี พรบ.เขตลานจอดฯทำให้ผู้ประกอบการต้องหา Best Practice มาปรับใช้ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นสากล ไม่มีเรื่องทุกคนก็ดำเนินชีวิตกันไปแต่พอเกิดเหตุต่างฝ่ายต่างงัดตำราของตนขึ้นมาโต้แย้งในเรื่องเดียวกันแถมยังต้องถูกวินิจฉัยบนพื้นฐานของประมวลกม.อาญาหรือความแพ่งซึ่งอาจจะไม่มีความยืดหยุ่นสำหรับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นธุรกิจเฉพาะทางและมีมูลค่ามหาศาลผมเรียนท่านอย่างนี้มิได้หมายความว่าธุรกิจนี้จะอยู่เหนือกม.ของบ้านเมืองแต่การที่เราต้องมีกม.เฉพาะไว้เพื่อกำกับดูแลย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
คำถามที่จะนำไปสู่การสอบสวนที่ชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับ สน.สุวรรณภูมิ ในกรณีนี้ก็คือ
- การกำจัด FOD เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ การกำหนดจุดพักผ่อนของพนักงานทำความสะอาดมีหรือไม่เพราะพื้นที่ลานจอดย่อมเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายของยานพาหนะต่างๆ
- การที่การบินไทย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนหนึ่งแสนบาทนั้นแปลว่าอะไร ?
- ยอมรับผิด หรือเป็นการจ่ายด้วยน้ำใจช่วยเหลือไปก่อนในรูปคดีก็ว่ากัน
- บริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีประกันอุบัติเหตุหรือไม่ ถ้ามีเป็นแบบไหน ?
เรื่องนี้เราต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่าให้จบไปอย่างง่ายๆครับ ต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่าง
วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ