โดย
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.
[email protected]

ผมรีบอาบน้ำแต่งตัว ก่อนเข้าที่ทำงานที่ กสทช. ไปนั่งดืมกาแฟกับลูกน้องที่ร้านสตาร์บัค พร้อมกับมองไปรอบตัว แทบทุกคนรอบๆตัวผมกว่า 20 คนนั่งก้มหน้าก้มตา ยุ่งอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในร้านสตาร์บัคเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แตกต่างกับวันนี้โดยสิ้นเชิง

ผมเลยคิดมาแว๊บนึง จึงหยิบ mobile ของผมขึ้นมาพร้อมกับ search หาบทความวิเคราะห์ที่ผมเคยส่งตีพิมพ์ใน International Journal เกี่ยวกับผลกระทบของการประมูล 3G 2100 MHz (แหล่งข้อมูล link ท้ายบทความนี้) เห็นได้ว่ามีประชาชนใช้งานบนคลื่นนี้กว่า 60 ล้านเลขหมาย ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ปีซึ่งเป็น record ที่วงการโทรคมนาคมระดับนานาชาติถือว่าเป็นเติบโตเร็วที่สุดในโลก จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2556 ในรอบ 10 ปีนี้จำนวนเลขหมาย ได้เพิ่มจาก ประมาณ 27 ล้านเลขหมาย เป็นประมาณ 92 ล้าน เลขหมาย ซึ่งเป็นการเติบโตถึง 2.4 เท่าตัวใน 10 ปี หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 24 ต่อปี นั่นจึงเห็นได้ชัดว่าประชาชนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ได้อย่าง Real time ประเทศไทย เปลี่ยนไปแล้วอย่างรวดเร็วจริงๆ

ในช่วง 10 ปี ไทยมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 65 ล้านเลขหมาย

จากสถิติพบว่าคนไทยใช้ Social network ติดอันดับต้นๆของโลก และมีแนวโน้มที่จะใช้ด้วยความถี่และปริมาณที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการใช้งาน Data ประเภท Video ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้งานของโลก แต่อัตราการใช้งานต่อวันของคนไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีหากมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการใช้เพื่อการสร้างนวัตกรรมที่นำไปสร้างธุรกิจใหม่ได้ เหมือนกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว จนสามารถผลักดันให้ก้าวข้ามจากประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาทางด้าน ICT ไปเป็นกลุ่มที่พัฒนาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันแล้วทั่วโลกว่า เทคโนโลยี Mobile Broadband Internet เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ โดย McKinsey ได้วิเคราะห์ 12 เทคโนโลยีที่มีผลกระทบที่สุดต่อภาคธุรกิจของโลก มีดังนี้คือ

  1. การกักเก็บพลังงาน (Energy storage)
  2. ศาสตร์ที่เกี่ยวกับยีน (Genomics)
  3. วัสดุชาญฉลาด (Advanced materials)
  4. รถยนต์อัตโนมัติ (Autonomous vehicles)
  5. พลังงานทดแทน (Renewable energy)
  6. ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ (Advanced robotics)
  7. การพิมพ์สามมิติ (3D printing)
  8. โมบายอินเทอร์เน็ต (Mobile internet)
  9. ระบบการทำงานอัตโนมัติบนฐานความรู้ (Automation of knowledge work)
  10. Internet of things
  11. เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud technology)
  12. ความก้าวหน้าด้านการค้นหาพลังงาน (Advanced oil and gas exploration and recovery)

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีใน List ดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับเทคโนโลยี Mobile Broadband Internet คือ โมบายอินเทอร์เน็ต (Mobile internet), Internet of things และเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud technology) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและรูปแบบของเศรษฐกิจของโลก อีกทั้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก

nature-laptop-outside-macbook

มีการคาดการณ์จากนักวิชาการระดับโลกหลายท่านว่า ผู้คนนับจากนี้ไปจะสามารถเข้าถึงฐานความรู้ได้อย่างง่ายดาย อาชีพต่างๆจะปรับสภาพรูปแบบการทำงานใหม่เป็นลักษณะ mobile worker และสถานที่ทำงานก็จะเป็นแบบ mobile workplace ตำแหน่งงานในภาคการผลิตระดับแรงงานจะลดลงและถูกแทนที่โดยเครื่องจักรและหุ่นยนต์อัตโนมัติ ธุรกิจที่จับต้องได้เช่น ร้านขายหนังสือ แม้แต่ร้านเสื้อผ้าแบบ economy of scale ก็จะล้มหายตายจากเปลี่ยนเป็นรูปแบบขายผ่านระบบ electronic commerce และ mobile commerce เกือบทั้งหมดจะยกเว้นแต่ธุรกิจที่เป็นแนวออกแบบที่ใช้งานฝีมือจริงๆ จะเหลืออยู่บ้าง ธุรกิจ Banking จะมีจำนวนตู้ ATM ลดลงตามลำดับ จนคาดว่าไม่น่าเกิน 7-8 ปีต่อจากนี้ ผู้คนจะทำธุรกรรมแบบ Mobile Banking ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะธุรกิจ Banking มองว่าการลงทุนในเครื่อง ATM และเครือข่ายเป็นการลงทุนที่สูงมากและเป็นภาระในการดูแลรักษาอย่างมากแถมทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

คนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือหากเข้าถึงก็ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพของมันได้อย่างเต็มที่และถูกทาง จึงทำให้ประเทศของเราต้องเร่งพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศและเข้าถึงประชาชนทุกคน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมสนับสนุนการใช้งานที่จะเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไปโดยไม่ชักช้า

และแน่นอน เมื่อถึงการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลับตามที่คาดการณ์ไว้ เราจะได้เห็นว่า ผู้ที่มีวิสัยทัศน์และปรับตัวได้ทันเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ดังนั้น “คุณจะยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือจะยอมตายไปกับการเปลี่ยนแปลง” เลือกเอาเองครับผม

แหล่งอ้างอิง