โดย
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.
[email protected]
การเปลี่ยนแปลงของโลกเราในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง จนทำให้ประชาชนของบางประเทศที่มีความรู้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการต่อต้านกับการหลั่งไหลของคลื่นที่ถาโถมเข้ามาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเชื่อมต่อของโลกที่ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ (Globalization)
พวกเขาเชื่อว่าการต่อต้านของเขาจะสามารถต้านทานระเบียบโลกใหม่ได้ โดยลืมคิดไปว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดเวลา
เพียงแต่จะปรับตัวอย่างไร ? …..อยู่กับมันอย่างไร ?
ความรู้ของประชาชนในชาติ มีความสำคัญยิ่ง ณ เวลานี้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับอดีต ก็คือ คนในอดีตเชื่อและคิดว่า พวกเขามีความรู้ ที่ถูกต้องว่าโลกแบน แต่แท้ที่จริง ความรู้ใหม่ ที่ถูกค้นพบในช่วงเวลาต่อมานั้นผิดถนัดเพราะแท้ที่จริงนั้นโลกเรากลม
เมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีผู้คนมากมายเคยหัวเราะขบขัน ในความคิดของผู้บริหารประเทศฟินแลนด์ ว่า ในอนาคตผู้คนในโลกจะมีการใช้อุปกรณ์พกพาที่สามารถพูดคุยกันได้ทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลฟินแลนด์ ตัดสินใจตั้งศูนย์วิจัย และโรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียขึ้น จนในปี 2005 มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านราย ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียได้รับความนิยมสูงสุดจนไม่มีใครจะเชื่อว่าจะมีใครสามารถมาโค่นได้ และในวันนี้มีจำนวนการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 4 พันล้านรายแล้ว และไม่นานมานี้เองสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นคือ โนเกียประมาทและวิ่งไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยอัตราเร่ง ทำให้ iphone และ Samsung วิ่งตามมาทันจนโค่นโนเกียเสียราบคาบในที่สุด และขณะนี้มีผู้คนมากมายเชื่อว่า ไม่มีใครที่จะสามารถมาโค่น iphone และ Samsung ได้… แล้วคุณหล่ะ เชื่ออย่างนั้นจริงๆหรือ?
จากเวลานี้ไป เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมจะทำให้ข่าวสารความรู้จากทุกมุมโลกเชื่อมต่อกับผู้คน เป็นลักษณะเครือข่าย อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับองค์กรโดยสมบูรณ์ตลอดเวลา (Always on) จนทำให้โลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเร่ง
ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ Sir John Rose ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้กล่าวว่า ต่อไปยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) จะทำให้คำว่า ประเทศด้อยพัฒนา (Underdeveloped Country), ประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country), ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ต้องเปลี่ยนเป็น ประเทศที่ฉลาด (Smart Country), ประเทศที่ฉลาดกว่า (Smarter Country), และประเทศที่ฉลาดที่สุด (Smartest Country) มาแทน
โดยความรู้ที่ถ่ายทอดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดใหม่คือ
“การทำงานที่ฉลาดกว่าผู้อื่นย่อมดีกว่าการทำงานที่มีมูลค่าถูกกว่า และต้องทำงานหนักกว่า”
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศที่มีแนวคิดในลักษณะนี้ สามารถผลักดันธุรกิจท้องถิ่นของตน สู่ธุรกิจระดับโลกได้
ตัวอย่างเช่นประเทศสวีเดน มีความเชื่อว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้น จะทำให้พวกเขาค้นพบโอกาสใหม่บนโลกใบนี้ ผลคือ สามารถผลักดัน บริษัท SAAB, IKEA, VOLVO และ ERICSSON สู่ตลาดโลกได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งๆ ที่ประเทศสวีเดนเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรปและในโลกเท่านั้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเยาวชนของประเทศ ในแถบเอเชีย ติดอันดับท็อปเท็น (Top Ten) ด้านความสามารถทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนจากประเทศจีน, เกาหลี, อินเดีย, และสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน เพราะขณะนี้จีนกลายเป็นประเทศชั้นนำด้านทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว ส่วนสิงคโปร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกาะอัจฉริยะ (Intelligent Island) เนื่องจากไม่มีทรัพยากร ไม่มีพืชพรรณเศรษฐกิจ นั่นคือพวกเขาต้องเอาชนะด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น
เมื่อเร็วๆนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2559 ของนิตยสารยูเอส นิวส์ แอนด์ เวิล์ด รีพอร์ต ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ระบุว่า มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) แดนมังกรแซงหน้าเอ็มไอที (MIT) ของสหรัฐฯ ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของโลกด้านการวิจัยทางวิศวกรรม โดยศิษย์เก่าชี้ว่าเป็นอานิสงส์จากแผนพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะในอดีต MIT ยืนอยู่บนอันดับ 1 มาตลอด
…โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ส่วนสิงคโปร์มุ่งกับการจัดการกับแหล่งทรัพยากรนอกประเทศเพราะสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรมากนัก และเตรียม Knowledge Worker เพื่อรับกับสังคมโลกใหม่ให้ได้ นั่นคือต้องทำให้เกิดสังคมที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลาในขณะเคลื่อนที่ (Mobile Worker) เพราะพวกเขาเชื่อว่าการที่องค์กร หรือประเทศทำงานกับคนที่มีกรอบความคิดและความรู้เดียวกัน จะทำให้ประเทศเขาหยุดชะงักการพัฒนาทันที พวกเขาจึงต้องออกไปร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญภายนอก
ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศจีนและอินเดียได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นๆ ในโลก จีนได้ก้าวขึ้นมาติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับจีดีพีของโลก ขณะที่อินเดียก็กำลังขยับใกล้เข้ามาติดๆ และจากการคาดคะเนของนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน
ศตวรรษที่ 21 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลกครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง
การเชื่อมต่อของโลกทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบเปิด และขยายตัวไปทั่วโลกมากขึ้น คำถามที่สำคัญคือ ประเทศกำลังพัฒนาจะปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ของโลก คำตอบคือต้องสร้างแรงงานเปรื่องปัญญาหรือที่เรียกว่า Knowledge worker และต้องผลิตสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมหลากหลายส่งออกเชื่อมโยงไปทั่วโลก ในรูปแบบดิจิทัลนั่นเอง
ขณะนี้โลกหันมาใช้วิธีการแชร์ความรู้กันมากขึ้น จนทำให้องค์กรที่ทำวิจัยแบบปิดลับ โดยไม่มีการทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรอื่นเริ่มหายตายจากไป เช่น ห้องวิจัยของไอบีเอ็ม, อินเทล, เอทีแอนด์ที เป็นต้น
องค์กรที่ไหวตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ทัน ก็เริ่มกระจายความรู้สู่องค์กรที่เขาจับมือด้วย ทำให้ความรู้แตกตัวออก และพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้นทันตา จึงทำให้องค์กรที่ปรับตัวทันมีความได้เปรียบองค์กรอื่น จนทำให้เทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
บริษัทที่เกิดใหม่ที่เคยเป็นบริษัทเล็กๆ มาก่อน เช่น เดลล์, กูเกิล, อาลีบาบา และอะเมซอน ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถต้านทานการเติบโตของพวกเขาได้ เพราะปัญญาและความรู้นั่นเอง
โลกใหม่จะเป็นโลกแห่งความรู้ โดยมนุษย์จะมีเครื่องมือซอฟท์แวร์ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล บนอินเทอร์เน็ต โดย Berners-Lee นักคอมพิวเตอร์ผู้ชาญฉลาด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบเวิลด์ ไวด์ เวบ (WWW) แห่ง MIT ได้คาดไว้ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะมีระบบซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถที่จะหาข้อมูลที่เขาต้องการจากเวบได้อย่างรวดเร็ว และตามความความต้องการ อีกทั้งยังช่วยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักปราชญ์หลายท่านได้เห็นพ้องกันว่า
“ความรู้ก็คือการรู้ว่าตนเองไม่รู้ คนฉลาดคือคนที่รู้ว่าตัวเองโง่ ส่วนคนโง่คือคนที่อวดตัวเองว่าฉลาด สิ่งที่เราไม่รู้สามารถทำอันตรายต่อเราได้”
ดังนั้น การรู้ว่าตนเองโง่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ดังนั้น คนในชาติต้องถูกปลูกฝังให้เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องรู้ว่าสิ่งใดที่ไม่สามารถต้านทานได้ แต่สามารถชนะได้ด้วยความรู้และปัญญา (Knowledge and Wisdom) และต้องรู้ด้วยว่าสิ่งใดที่ไม่ควรเสียเวลาไปใส่ใจ เช่น การต่อต้านกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังถาโถมเข้ามาในประเทศ หรือควรใช้เวลากับการต่อต้านไปหาความรู้และปัญญามาต่อสู้จะเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดกว่า หรือไม่?
แหล่งข้อมูล
[1] Mobile Economy 2015, GSMA Report : http://www.gsmamobileeconomy.com/GSMA_Global_Mobile_Economy_Report_2015.pdf
เกี่ยวกับผู้เขียน
Col. Settapong Malisuwan
Ph.D. in Telecom. Engineering
D.Phil. (candidate) in Cybersecurity Strategy and Management
MS. in Mobile Communication
MS. in Telecom. Engineering
BS. in Electrical Engineering
Cert. in National Security (Anti-terrorism program)
Cert. in National Security (Defense Resource Management)
Cert. in National Security (Streamlining Gov.)
Cert. in Spectrum Management
Cert. in Intellectual Property