โดย
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.
[email protected]
หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 4G 1800 MHz ที่ดุเดือดได้สิ้นสุดลง ก็มีผู้คนจำนวนมากถามผมว่า แล้วการประมูลคลื่น 900 MHz ในเดือนหน้าจะดุเดือดแบบนี้หรือไม่ ในฐานะผมเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม คงพูดอะไรไม่ได้มากไปกว่าให้ข้อมูลพื้นฐานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ท่านได้คิดวิเคราะห์เองครับ
การวิเคราะห์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น องค์สากล เช่น WTO จะใช้ตัวเลขการเข้าถึงข้อมูลความรู้ข่าวสารของประชาชนโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเลขสำคัญ
สำหรับประเทศไทย รายงานการจัดอันดับการพัฒนาด้าน ICT (ICT Development Index หรือ ‘IDI’) จัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ International Telecommunications Union (ITU) ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 81 จากทั้งหมด 166 ประเทศและมีคะแนน IDI อยู่ที่ 4.76 เมื่อเทียบกับการจัดลำดับในปี 2555 พบว่าประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 15 อันดับ และหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับการพัฒนาที่เหนือกว่าเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา กัมพูชา อินเดีย ลาว บังกลาเทศ และพม่า อย่างไรก็ดี ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย (ในบทวิเคราะห์ของ ITU ชี้ชัดว่าเป็นผลมาจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G 2100 MHz เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา)
หากประสบความสำเร็จในการประมูลคลื่น 4G 1800 MHz ก็จะทำให้ประเทศไทยมีลำดับก้าวกระโดดขึ้นไปอีก
ซึ่งรายงานของ ITU ก็สอดคล้องกับ GSMA Mobile Economy Report ซึ่งวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน ICT ที่โดดเด่นหลังจากมีการประมูลคลื่น 3G 2100 MHz และหากประสบความสำเร็จในการประมูลคลื่น 4G 1800 MHz ก็จะทำให้ประเทศไทยมีลำดับก้าวกระโดดขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง
ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจาก 61.8 ล้านเลขหมายเป็น 97.1 ล้านเลขหมายในปี 2557 สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ก็เติบโตในทิศทางเดียวกัน โดยผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านรายในปี 2551 เป็น 5.7 ล้านรายในปี 2557 ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานนั้นลดลงจาก 7.4 ล้านเลขหมายในปี 2551 เหลือ 5.7 ล้านเลขหมายในปี 2557
จากการวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. คาดการณ์ได้ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่อย่างมากในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการที่เริ่มหันมาใช้บริการข้อมูลมากขึ้น และตลาดผู้ใช้บริการ 2G จะน้อยลงในขณะที่ผู้ใช้บริการ 3G/4G จะมีมากขึ้น
ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2558 จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่บนเครือข่าย 3G ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 85.6 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 91.7 ของผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดสำหรับ 3G/4G ยังสามารถโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับแผนการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งของ กสทช. และการประกอบกิจการของผู้ให้บริการแต่ละราย ที่จะทำให้การถือครองความถี่และการใช้งานคลื่นความถี่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คาดการณ์ว่าในปี 2561 โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานในประเทศไทยเกือบทั้งหมดจะเป็น smart phone
การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนจากการใช้งานโทรศัพท์แบบ feature phone เป็นโทรศัพท์ smart phone อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2557 มีจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ smart phone เกือบ 20 ล้านเครื่องและเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ feature phone ประมาณ 27 ล้านเครื่อง โดย OVUM ได้คาดการณ์ว่าในปี 2561 โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ smart phone
นอกจากนี้ IDC ได้คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ในประเทศไทยมีปริมาณการใช้งานข้อมูลเฉลี่ย 192,265 MB ต่อเลขหมายต่อเดือน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีปริมาณการใช้งาน 72,531 MB ต่อเลข หมายต่อเดือน ถึงร้อยละ 165 หากพิจารณาลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ตพบว่า ในปี 2563 จะเน้นการใช้ Internet Browsing โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ของปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในปี 2563 ขณะที่ในปี 2558 สัดส่วนการใช้งาน Internet Browsing และ Instant Messaging เท่ากันที่ประมาณ 18,000 MB ต่อเลขหมายต่อเดือน หรือร้อยละ 25 ของปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในปี 2558
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่าน handset/tablet มากกว่า dongle โดยคาดว่าในปี 2563 มีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่าน handset/tablet ถึง 102,450 MB ต่อเดือนต่อเลขหมาย และปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่าน dongle ประมาณ 89,814 MB ต่อเดือนต่อเลขหมาย
จากการวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุค Mobile Economy อย่างชัดเจนแล้ว
ส่วนการประมูล 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จะดุเดือดขนาดไหนนั้น ผมขอให้ท่านผู้อ่านวิเคราะห์เองครับ
แหล่งอ้างอิง
เกี่ยวกับผู้เขียน
Col. Settapong Malisuwan
Ph.D. in Telecom. Engineering
D.Phil. (candidate) in Cybersecurity Strategy and Management
MS. in Mobile Communication
MS. in Telecom. Engineering
BS. in Electrical Engineering
Cert. in National Security (Anti-terrorism program)
Cert. in National Security (Defense Resource Management)
Cert. in National Security (Streamlining Gov.)
Cert. in Spectrum Management
Cert. in Intellectual Property