เป็นประเด็นร้อนแรงกันที่เดียว กับการประกาศ คลอด ‘พรบ.กิจการอวกาศ’ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนสงสัยว่า การออก พรบ.นี้ในห้วงเวลาเช่นนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่ และงานด้านอวกาศนั้นจะมีประโยชน์อะไร และส่งผลกับชีวิตเราอย่างไร สำหรับคำตอบของคำถามแรกนั้น เราคงไม่อาจตอบได้ แต่เพื่อให้เห็นปลายทางของคำตอบที่สองและสามมากขึ้น เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านอวกาศมาให้อ่านและทำความเข้าใจกัน

หากพูดถึง ‘อวกาศ’ หลายคนอาจนึกภาพนักบินอวกาศอยู่ในจรวด ที่กำลังพุ่งทะยานออกเดินทางมุ่งสู่พื้นที่อันไกลโพ้น เพื่อสำรวจดวงดาวต่าง ๆ และหาคำตอบนานาประการเกี่ยวกับเอกภพ แต่ที่จริงแล้วงานด้านอวกาศและดาราศาสตร์สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้หลากหลาย และมีมิติที่มากมายกว่านั้น 

สำรวจทรัพยากรโลก เพื่อฟื้นฟูรักษาสมดุล

คำว่า ‘ทรัพยากรโลก’ อาจชวนให้นึกถึง ป่าไม้ แร่ธาตุ ระดับน้ำทะเล หรือสิ่งที่เป็นวัตถุต่าง ๆ ในธรรมชาติ ซึ่งก็แน่นอนว่าวัตถุเหล่านี้สามารถสำรวจตรวจสอบได้จากการใช้ดาวเทียมสำรวจนั่นเอง และนั่นก็อาจจะไม่ใช่สิ่งเหนือคาดสำหรับใครหลายคนเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน ความหมายของทรัพยากรในที่นี้นั้นครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตด้วย 

ล่าสุด หน่วยงานชั้นนำด้านอวกาศอย่างนาซา (NASA) ก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่ทำงานอนุรักษ์ฉลาม โดยใช้ดาวเทียมและเทคโนโลยีขั้นสูงเก็บเกี่ยวข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ชนิด ซึ่งวิธีการที่ใช้สำรวจและเก็บข้อมูลนั้นก็น่าทึ่งมาก ๆ มีทั้ง:

  • ติดตามการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Cloud-Aerosol Lidar and Infrared Pathfinder Satellite (CALIPSO) ที่เกิดจากการร่วมทุนของนาซาและหน่วยงานอวกาศของฝรั่งเศส (Center National D’Etudes Spatiales: CNES) มาผสานกับการวัดภาคสนามในพื้นที่จริง ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างภาพจำลองของเส้นทางการเดินทางของฉลามและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ได้ ช่วยให้เห็นการอพยพของสัตว์จำนวนมาก มองเห็นว่าแหล่งอาหารของฉลามอยู่บริเวณใด และการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศใดจะส่งผลต่อสุขภาพของฉลามและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนนี้ยังสนับสนุนแนวทางการจับปลาอย่างยั่งยืนได้ด้วย
ดาวเทียม CALIPSO ของนาซาใช้ไลดาร์ (lidar) ตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
Credits: NASA / Timothy Marvel
  • ในปี 1986 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้พัฒนาอัลกอริธึม เพื่อนำภาพที่กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลถ่าย มาทำแผนที่ดาวและกาแล็กซี และตอนนี้ได้มีการนำอัลกอริธึมนั้นมาปรับ โดยโฟกัสกับรูปแบบคล้ายดาวบนฉลามวาฬที่มีผิวเป็นลายจุด วิธีนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์แยกฉลามชนิดนี้ออกจากฉลามสายพันธุ์อื่นและสามารถติดตามฉลามหายากเหล่านี้ได้ (โอโห้ คิดได้ไงเนี่ย)
ฉลามวาฬที่มีผิวลายจุดแหวกว่ายในมหาสมุทร
Credits: NASA’s Goddard Space Flight Center with footage from Alexpunker via Motion Array and Tom Cook.
  • ใช้ดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศ ช่วยวัดระดับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท้องทะเล เช่น อุณหภูมิ ระดับน้ำทะเล รูปแบบการไหลเวียนและขึ้นลงของกระแสน้ำ เทียบเคียงว่ามีความสัมพันธ์ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของฉลามอย่างไร
  • ดำเนินโครงการศึกษา EXport Processes in the Ocean from Remote Sensing (EXPORTS) ศึกษาปั๊มชีวภาพของมหาสมุทร โดยใช้ทั้งการสังเกตการณ์ทั้งจากอวกาศ เรือ และยานยนต์ใต้น้ำเพื่อดูว่ากระบวนการดึงคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศลงไปกักเก็บที่พื้นผิวมหาสมุทรได้อย่างไร และเป็นไปอย่างปกติหรือไม่ โดยที่ฉลามนั้นถือเป็นส่วนนี้ในกระบวนการนี้ (แพลงก์ตอนพืชดึงคาร์บอนออกจากบรรยากาศผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์ จากนั้นก็ถูกสิ่งที่มีชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่ากินเป็นทอด ๆ และในที่สุด เมื่อสัตว์ทะเลขนาดใหญ่รวมทั้งฉลาม ตายลง พวกมันจะนำคาร์บอนที่สะสมในร่างกายไปสู่พื้นมหาสมุทร)
ภาพจำลองแสดงการทำงานของดาวเทียม (SWOT satellite) ในโครงการ EXPORTS ที่กำลังสำรวจพิ้นผิวมหาสมุทรทะลุผ่านเมฆ
Credits: Centre National D’Etudes Spatiales (CNES)

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในโครงการที่นำเทคโนโลยีอวกาศเข้ามาช่วงสอดส่องดูแลทรัพยากรบนโลกเท่านั้น ยังมีโครงการของนาซาในลักษณะนี้อีกมากมายหลายอย่าง ลองเข้าไปดูตามลิงก์นี้กันได้เลย

เกาะติดสภาพภูมิอากาศและนานาภัยพิบัติ เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ภาพที่เห็นข้างบนนี้คือภาพที่ถ่ายจากดาวเทียมสำรวจของนาซา แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของพื้นที่ในออสเตรเลีย ช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและขณะเกิดน้ำท่วม ช่วยทำให้เห็นว่าความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณใดบ้าง ทั้งยังมองเห็นเส้นทางที่จะลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปถึง ขณะเดียวกันยังใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อเตรียมการรับมือในภายภาคหน้าได้ด้วย

นอกจากน้ำท่วมแล้ว หลายครั้งดาวเทียมเหล่านี้ยังติดตามไฟป่า ไฟไหม้ ช่วยแจ้งเตือนให้ผู้คนได้อพยพจากพื้นที่เสี่ยง ดูทิศทางลม ใช้เป็นข้อมูลประกอบการดับไฟ และจำกัดไฟให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมอีกด้วย

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านหลังเลย)

นอกจากภัยพิบัติดาวเทียมสำรวจยังตามติดสภาพอากาศ ตรวจจับและพยากรณ์การเกิดพายุ ไต้ฝุ่น รวมทั้งสภาวะที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทั้งระดับก๊าซในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิน้ำทะเล ระดับน้ำทะเล การกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่ง ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลก คุณภาพอากาศ ฝุ่นควันมลพิษ ตลอดจนการติดตามการใช้พื้นที่อันตรายอย่างเหมืองแร่ เพื่อสอดส่อง และสังเกตการณ์การรั่วไหลของสารพิษ หรือ ความเสียหายที่เกิดจากกิจกรรมการทำเหมืองได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแล แต่ยังเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึง เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ และร่วมวางแผนรับมืออีกด้วย

ภาพแสดงระดับน้ำทะเลของทั้งโลกในช่วงปี ค.ศ. 1992-2019 โดยพื้นที่สีแดงและส้ม บ่งชี้ว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
Credits: NASA’s Scientific Visualization Studio
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2020 น้ำแข็งในในมหาสมุทรอาร์กติกแตะถึงระดับต่ำสุดที่ 1.44 ล้านตารางไมล์ (3.74 ล้านตารางกิโลเมตร)
นับเป็นระดับที่ต่ำสุดอันดับสอง ตั้งแต่การเก็บรักษาสถิติสมัยใหม่เริ่มขึ้น
Credit: NASA’s Scientific Visualization Studio

ไม่เพียงแต่การเฝ้าสังเกตการณ์บนโลก หลายครั้งภารกิจสำรวจดาวต่างๆ ก็เพราะต้องการหาสาเหตุว่าทำไมดวงดาวเหล่านั้น ถึงมีสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยเหมือนโลก ทั้งที่อาจมีความใกล้เคียงทางกายภาพหลายอย่าง เช่น ดาวศุกร์ หรือดาวอังคาร หากสามารถไขคำตอบนี้ได้ ไม่แน่เราก็อาจจะมีวิธีป้องกัน หลบหลีก ทำให้เกิดความระแวดระวังวิธีการที่เราปฏิบัติต่อโลกมากขึ้นก็ได้

ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าจู้หรง (Zhurong) ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีน เดินทางบนพื้นผิวดาวเคราะห์แดงเป็นระยะทาง 450 เมตรแล้ว และได้เผยแพร่ภาพส่วนห่อหุ้มด้านหลังและร่มชะลอความเร็วยานลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564
Credit : องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน

เชื่อมต่อโลกทั้งใบผ่านเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร

ยุคนี้ใคร ๆ ต่างก็รู้กันดีว่า ดาวเทียมช่วยเชื่อมต่อทำให้การสื่อสารข้ามมุมโลกเป็นไปได้ แต่จะมีกี่คนรู้ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารนี้ มีต้นกำเนิดอย่างไร และที่จริงมันเกี่ยวกับอวกาศอย่างไรกัน

ในอดีต นักดาราศาสตร์ผู้ใฝ่รู้ได้พยายามสรรหาวิธีที่จะเก็บข้อมูลจากฟากฟ้า นอกเหนือจากการสังเกตด้วยตา จึงเกิดความคิดที่จะตรวจจับคลื่นวิทยุที่แผ่มาจากวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ขึ้น ซึ่งหากแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุอยู่ไกลจากโลกเพียงไร ค่าสัญญาณที่ได้นั้นก็จะยิ่งอ่อนลง ส่งผลให้ต้องพัฒนาตัวรับและสะท้อนสัญญาณขึ้น นักดาราศาสตร์วิทยุและภาคอุตสาหกรรมจึงร่วมกันพัฒนาจานสะท้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ถึง 25-75 เมตรขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา บริษัทหลายแห่งทั่วโลกได้นำวิทยาการใหม่นี้ไปใช้เพื่อประกอบธุรกิจสถานีดาวเทียมสื่อสารภาคพื้นดิน

การยกประกอบติดตั้งส่วนรับสัญญาณรอง ของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติและแห่งแรกของประเทศไทยเรา
บันทึกภาพเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563
Credit : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

หลังจากนั้นมานักดาราศาสตร์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังมีการคิดค้นระบบรับคลื่นไมโครเวฟที่มีความไวสูงขึ้น การพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับและขยายสัญญาณในย่านความยาวคลื่นระดับต่ำกว่ามิลลิเมตรและย่านอินฟราเรด (submillimeter and infrared wavelengths) ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างการตรวจความปลอดภัยในสนามบิน และระบบหลีกเลี่ยงการชนในอากาศยานอีกด้วย

หรืออย่าง “WiFi” ที่เราใช้กันในปัจจุบันเองก็เกิดจาก ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ หรือ ซีเอสไออาร์โอ (Commonwealth Scientific  and  Industrial  Research  Organization หรือ CSIRO) ในออสเตรเลีย ได้คิดค้นเทคนิคใหม่ในการส่งข้อมูลแบบไร้สาย โดยใช้เทคนิคที่พัฒนาขึ้นเพื่อวิเคราะห์คลื่นวิทยุจากหลุมดำ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ประดิษฐ์ไมโครชิปชนิดหนึ่งขึ้น ทำให้เราสามารถใช้คลื่นวิทยุในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะซับซ้อนได้ และสิ่งนี้เองได้ช่วยปูทางให้บริษัททั่วโลกนำ WiFi มาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายกับอุปกรณ์พกพาในเวลาต่อมา

นอกจากหน่วยงานด้านอวกาศของชาติต่าง ๆ แล้ว ปัจจุบัน บริษัทเอกชนก็ต่างพากันเข้ามาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในด้านนี้ จนเป็นที่มาของการส่งดาวเทียมสื่อสารเพื่อแสวงหากำไรกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ที่ดัง ๆ ก็ได้แก่ Starlink ของบริษัท SpaceX ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เองก็เป็นเสมือนดาบสองคม อาจจะมีการใช้ดาวเทียมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่รุกรานความเป้นส่วนตัว ตลอดจนความเป็นอธิปไตยของประเทศอื่น ๆ ก็ได้

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสื่อสาร (relay satellite) ดวงใหม่ นาม เทียนเลี่ยน I-05 (Tianlian I-05) ด้วย จรวดขนส่งลองมาร์ช-3ซี (Long March-3C)
จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชางในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ทั้งนี้ การส่งดาวเทียมสื่อสารครั้งนี้นับเป็นภารกิจครั้งที่ 378 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ชแล้ว
เครดิต : สำนักข่าวซินหัว

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

นอกจากการสื่อสารผ่านคลื่นสัญญาณแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีสื่อที่เราคุ้นเคยกันดี และวิวัฒน์อย่างก้าวกระโดดได้เพราะดาราศาสตร์ นั่นคือ เทคโนโลยีการสร้างภาพ นั่นเอง

การสร้างภาพในที่นี้ไม่ใช่การออกมาโปรโมตว่า ตนเป็นคนดีแต่อย่างใด (ผ่างง)  แต่มันคือวิทยาการด้านการสร้างภาพถ่าย ต่างหาก ช่างภาพหลายคนอาจรู้จัก ฟิลม์โกดักเทคนิคอลแพน (Kodak Technical Pan) เพราะเป็นฟิล์มที่มีการใช้หลากหลาย ทั้งในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม ช่างภาพอุตสาหกรรม และศิลปิน แต่จริงๆ แล้ว ต้นกำเนิดของฟิล์มชนิดนี้เกิดจากนักดาราศาสตร์ต้องการฟิล์มที่ใช้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นผิวดวงอาทิตย์เพื่อนำมันศึกษา และไม่ใช่แค่แผ่นฟิล์มเท่านั้น ระบบบันทึกภาพที่ทันสมัยใช้แทนที่ฟิล์มอย่าง อุปกรณ์ถ่ายเทประจุ หรือ ซีซีดี (Charge Coupled Device: CCD) เองก็ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เช่นกัน

อุปกรณ์ถ่ายเทประจุ หรือ ซีซีดี (Charge Coupled Device: CCD)
Credit : Wikipedia / NASA

นับตั้งแต่วิลลาร์ด เอส. บอยล์ และ จอร์จ อี. สมิธ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในฐานะผู้ประดิษฐ์ซีซีดี เมื่อปีพ.ศ.2552 เซนเซอร์ประเภทนี้ก็ได้เข้ามาแทนที่ฟิล์มอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ในกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในกล้องถ่ายภาพทั่วไป กล้องเว็บแคม และกล้องในสมาร์ตโฟนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันด้วย 

จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นว่างานอวกาศมีส่วนต่อการพัฒนางานด้านการสื่อสารไม่น้อยเลยทีเดียว และจากนี้ไป ก็น่าจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างแน่นอน

ต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

นอกจากเทคโนโลยีสื่อสาร ดาราศาสตร์และอวกาศยังเป็นบ่อกำเนิดนวัตกรรมอีกหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเพื่อสังเกตการณ์รังสีแกมมาระยะไกล ปัจจุบันสนามบินนำไปใช้ในสายพาน ใช้สแกนสัมภาระ หรือ เครื่องโครมาโทกราฟ (chromatograph) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แยกและวิเคราะห์สารประกอบที่ใช้ในภารกิจบนดาวอังคาร ปัจจุบัน สนามบินได้นำมาดัดแปลงให้กะทัดรัดและมีนำหนักเบาขึ้น ใช้สำรวจและสแกนสัมภาระเพื่อตรวจหายาเสพติดและวัตถุระเบิด

ความล้ำหน้าของนวัตกรรมจากอวกาศยังก้าวเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในแวดวงการแพทย์ มีการนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งในเทคนิคการวินิจฉัยไปจนถึงการประมวลผลภาพ

และหนึ่งในเทคโนโลยีที่ว่า นั่นคือ อินเทอร์เฟอโรเมทรี (Interferometry) เป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์ใช้ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงคลื่นวิทยุแบบความละเอียดสูง อินเทอร์เฟอโรเมทรีจำลองการใช้จานรับสัญญาณขนาดใหญ่ด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบรวมสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยวขนาดเล็กหลายๆ แห่งที่ตั้งอยู่คนละพื้นที่กัน นำมาประมวลผลออกมาให้เป็นภาพเดียว โดยผู้ที่คิดค้นเทคนิคนี้คือ มาร์ติน ไรล์ นักดาราศาสตร์วิทยุและผู้ได้รับรางวัลโนเบล … ลองเดาดูสิว่า มันถูกนำมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นเทคโนโลยีอะไร

นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ ESO (European Southern Observatory) ที่มีขนาดใหญ่มาก จับภาพขอบวงในของขอบดิกส์ที่ก่อเกิดดาวเคราะห์ได้ 15 ภาพโดยใช้เทคนิคอินเทอร์เฟอโรเมทรีอินฟราเรด
เครดิต : Jacques Kluska และคณะ

คำตอบก็คือ การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก หรือ เอ็มอาร์ไอ (Magnetic  Resonance Imaging หรือ MRI) นั่นเอง โดยนวัตกรรมนี้จะอาศัยแม่เหล็กแรงสูงและพัลส์ความถี่วิทยุ เพื่อสร้างประจุและกระตุ้นโปรตอนภายในโมเลกุลน้ำในเนื้อเยื่อร่างกายมนุษย์ เมื่อปิดพัลส์ โปรตอนจะเปลี่ยนจากสภาวะถูกกระตุ้นกลับสู่สภาวะปกติและปล่อยคลื่นวิทยุออกมา ซึ่งมองเห็นได้ด้วยเครื่องรับความถี่วิทยุในเครื่องเอ็มอาร์ไอ ก่อนจะบันทึกและประมวลผลเป็นภาพ คล้ายกับการถ่ายภาพด้วยเทคนิคอินเทอร์เฟอโรเมทรีนั่นเอง

นอกจาก MRI การวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายทางการแพทย์ในเทคนิคการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดโดยอาศัยคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า แคทสแกน (Computer-Assisted Tomography หรือ CAT) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เกิดจากงานด้านดาราศาสตร์เช่นกัน กระทั่ง ระเบียบวิธีการใช้ห้องปลอดเชื้อ แผ่นกรองอากาศ และชุดสำหรับห้องปลอดเชื้อที่คิดค้นขึ้นเพื่อการสร้างกล้องโทรทรรศน์ ปัจจุบัน ก็ได้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลและห้องทดลองเวชภัณฑ์ด้วยเช่นกัน (มิน่าชุดของแพทย์และพยาบาลในช่วงวิกฤตโควิดนี้ จึงดูไม่ต่างจะชุดอวกาศเลย)

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 นักบินอวกาศบนยานอวกาศเสินโจว-12 สองคนสวมชุดอวกาศสำหรับการเคลื่อนที่นอกยานพาหนะ (EMU) รุ่นใหม่ที่จีนออกแบบเอง ออกปฏิบัติกิจกรรมนอกโมดูลหลักเทียนเหอ
ทั้งนี้จีนถือเป็นชาติที่สามที่สามารถผลิตชุดอวกาศเองได้
เครดิต : สำนักข่าวซินหัว

นอกจากแวดวงการแพทย์ นวัตกรรมอีกหลายอย่างที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเราก็ยังเกี่ยวข้องกับอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถนอมอาหาร องค์ความรู้ด้านโภชนาการ การพัฒนากายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ การทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีช่วยพยากรณ์ เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ฯลฯ ซึ่งแต่ละอย่างล้วนอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของเราอย่างมาก การเปิดเวทีด้านอวกาศจะส่งผลให้บุคลากรของเราได้เรียนรู้ มีส่วนร่วมในงานวิจัย มีโอกาสที่จะต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของบ้านเราได้มากขึ้นตามไปด้วย

(อ่านต่อหน้า 4 คลิกด้านล่างเลย)

ธุรกิจอวกาศเพื่อการขนส่งและการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เที่ยวบินสู่อวกาศของบริษัท “Virgin Galactic” โดยยาน VSS Unity ที่นำ Richard Branson มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Virgin Group พร้อมนักบินและลูกเรืออีก 5 คน ขึ้นสู่อวกาศ แล้วร่อนกลับลงมาสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย นับเป็นปูทางสู่ธุรกิจเที่ยวบินอวกาศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ทั้งนี้ Virgin Galactic มีแผนจะทดสอบเที่ยวบินอีก 2 ครั้ง ก่อนจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบในปีหน้า โดยขณะนี้มีผู้จองตั๋วแล้วเป็นจำนวนกว่า 600 ที่นั่ง สำหรับค่าตั๋วโดยสาร 1 ที่นั่งมีมูลค่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,155,000 บาท 

ด้านจีน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการใช้จรวดขนส่งในวงโคจรย่อย (suborbital) แบบใช้ซ้ำได้ โดยจรวดดังกล่าวได้เดินทางออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนในทะเลทรายโกบีของภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อช่วงเช้าของวัน และกลับสู่โลกด้วยลงจอดอย่างมั่นคงที่สนามบินในแคว้นอาลาซ่าน เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน ระหว่างโครงการสาธิตและตรวจสอบเที่ยวบิน

ความสำเร็จครั้งนี้จึงถือเป็นการวางรากฐานสำคัญของการพัฒนาการขนส่งในอวกาศแบบใช้ซ้ำได้ของจีน

ภาพจรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 6 ธ.ค. 2020
เครดิต : สำนักข่าวซินหัว

หากคิดในมุมว่านี่เป็นเพียงเที่ยวบินแรกที่ประสบความสำเร็จ เราก็อาจจะคิดไปว่า มันยังห่างไกลตัว และยังไม่ได้เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ในโลกสักหน่อย แต่หากมองในมุมว่าทุกวันนี้เทคโนโยลีได้ก้าวล้ำพัฒนาไปได้เร็วอย่างเหลือเชื่อแล้วละก็ บางทีปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ อาจจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจประเภทนี้ภายในทศวรรษนี้ก็ได้นะ

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาอันมากมายที่เกิดมาจากงานด้านอวกาศและดาราศาสตร์เท่านั้น และนั่นคือมูลเหตุให้นานาชาติต่างเร่งพัฒนาและตื่นตัวในอุตสาหกรรมนี้ หลายประเทศมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับอวกาศมานานแล้ว เพราะช่วยให้กรอบความคิด ความเข้าใจ เกี่ยวกับกิจการอวกาศมีความชัดเจน ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านนี้ต่อไป ตลอดจนช่วยควบคุมการหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ด้วย จะเรียกว่าเป็นกฎหมายเพื่ออนาคต เพื่อรองรับยุคอวกาศที่เริ่มต้นขึ้นก็คงจะไม่ผิดนัก

สำหรับประเทศไทยเรา การวางข้อกฏหมายรายละเอียดคงยังต้องมีการเพิ่มเติมสาระสำคัญต่างๆ ลงไปอีกมาก เพราะหากดูจากงานในแวดวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศแล้วละก็ จะเห็นได้ว่ามีอีกมากมายมหาศาล เรียกได้ว่าสามารถเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เลยทีเดียว ‘กิจการอวกาศ’ จึงเปรียบเสมือน ‘เหมืองขุดทอง’ ที่เปิดช่องให้นักธุรกิจมาหาผลประโยชน์ และถ้าหากภาครัฐไม่สามารถออกกฎหมายวางรากฐานให้ครอบคลุม และทำให้เกิดความชัดเจนในแง่ขอบเขตการรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐเอง และระหว่างภาครัฐและเอกชนแล้วละก็ การพัฒนาในอนาคตก็คงมีข้อติดขัด ไม่พ้นเรื่องคอร์รัปชันและมีปัญหาอีกมากมายตามมาแน่
อ้างอิง

NASA
Xinhuathai 1 / Xinhuathai 2 / Xinhuathai 3 / Xinhuathai 4
NARIT 1 / NARIT 2
innovationnewsnetwork

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส