Cloud Computing นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ความแปลกอยู่อย่างหนึ่งนะครับ ถึงเราจะมองไม่เห็นตัว ไม่เคยอยู่ใกล้ และไม่รู้ด้วยว่าไอ้ที่เรียกว่าคลาวด์ๆ มันอยู่ที่ไหนของโลก แต่เราสัมผัสมันได้อยู่ทุกวันครับ ยิ่งในยุคนี้คลาวด์นั้นยิ่งใกล้เรายิ่งกว่าเคย จนแทบจะเรียกได้ว่าแทบทุกสิ่งที่เปิดอยู่ตรงหน้าเรานั้นมาจาก Cloud Computing เลยก็ว่าได้

ทำไม Cloud Computing ถึงเติบโต

สาเหตุหลักที่ทำให้ Cloud Computing เติบโตอย่างมากในปัจจุบันคือความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่กี่ปีก่อนเราจำเป็นต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์เองเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว สามารถปรับปรุงข้อมูลได้จากเครือข่ายภายใน มาทุกวันนี้เมื่อความเร็วอินเทอร์เน็ตพื้นฐานของประเทศสูงขึ้นมาก ทั้งอินเทอร์เน็ตแบบมีสายลากใช้ตามบ้านและที่ทำงาน หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้เราสามารถจัดการกับข้อมูลที่อยู่ที่ไหนของโลกก็ได้ (แต่ถ้า Cloud นั้นมีฐานอยู่ในประเทศไทยด้วยก็จะทำงานได้เร็วขึ้น)

iris-cloud

ซึ่งเมื่อข้อจำกัดเรื่องตำแหน่งที่ตั้งลดลงเพราะอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมโยงได้ถึงกันหมด จึงทำให้ผู้ให้บริการ Cloud สามารถเปิด IDC หรือ Internet Data Center เพื่อนำเซิร์ฟเวอร์มารวมศูนย์ให้อยู่ในกระจุกเดียวกัน เปิดไฟ เปิดแอร์รักษาอุณหภูมิครั้งเดียว ประหยัดต้นทุนมากขึ้น แล้วก็จ้างผู้ดูแลเก่งๆ สร้างระบบสำรอง เครื่องปั่นไฟยามฉุกเฉิน ทำให้ระบบมีเสถียรภาพ ไม่ล่มกันบ่อยๆ

คลาวด์จึงเป็นรูปแบบที่เอาทรัพยากรมารวมเป็นถังกลาง แล้วปันไปใช้ตามส่วน

จุดเด่นของ Cloud นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายจากการลงทุนซื้อและดูแลเซิร์ฟเวอร์เอง และลดปัญหาระบบล่มเพราะมีระบบสำรองและคนดูแลให้ตลอด ยังมีความยืดหยุ่นในการใช้บริการด้วย ผู้ใช้สามารถปรับเพิ่มหรือปรับลดความสามารถของเซิร์ฟเวอร์เสมือนบนคลาวด์ให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างรวดเร็ว เช่นเปิดเว็บเกี่ยวกับดนตรีและกำลังจะเปิดให้จองบัตรศิลปิน ก็สั่งเพิ่มประสิทธิภาพเซิร์ฟเวอร์เพื่อรอรับคนได้ทันที โดยไม่ต้องลงทุนและรอซื้อเซิร์ฟเวอร์ใหม่

เมื่อคลาวด์จะกลายเป็นมาตรฐานของอนาคต

ตอนนี้ก็น่าจะเห็นภาพกันชัดเจนแล้วว่า Cloud Computing จะกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมไปในที่สุด เพราะเทคโนโลยีและธุรกิจอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าที่ระบบข้อมูลเดิมๆ จะปรับตัวได้ทัน มีบริการใหม่เกิดขึ้น และปิดตัวลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบริการ Social Network อย่าง facebook ที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายคลาวด์ขนาดใหญ่, บริการสตรีมภาพยนตร์หรือเพลงที่ในไทยแข่งขันกันหนักมาก มีผู้ให้บริการรวมกันแล้วนับสิบราย ก็ทำงานกันผ่านคลาวด์ทั้งหมด หรือแอปต่างๆ ที่ก็รันระบบฐานข้อมูลกันผ่านคลาวด์เป็นส่วนใหญ่ สำหรับผู้บริโภคแล้ว Cloud Computing จึงเหมือนหมุนอยู่รอบตัวตลอดเวลา

iris-cloud2

แต่ในภาคองค์กรยังมีการปรับตัวช้ากว่าบริการในกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากความกังวลในด้านความปลอดภัยและความเป็นเจ้าของของข้อมูล คือยังไม่วางใจเมื่อต้องเอาข้อมูลสำคัญไปเก็บไว้ภายนอกบริษัท ซึ่งก็ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในองค์กรต่อไป ก็อาจจะอยู่ในรูปแบบของ Hybrid Cloud ที่มีการผสมผสานกันระหว่าง Private Cloud (ระบบที่ใช้ภายในองค์กร) และ Public Cloud (ระบบที่ให้บริการบุคคลทั่วไป) เพื่อนำความยืดหยุ่นของการประมวลผลกลุ่มเมฆมาสู่องค์กร

ผู้ให้บริการ Cloud Computing ที่น่าสนใจ

บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกไอทีในปัจจุบันอย่าง Microsoft, facebook, google ล้วนแล้วแต่สร้างระบบ Cloud ของตัวเองขึ้นใช้งาน แต่ถ้าหากคนทั่วไปต้องการเข้าใช้คลาวด์บ้าง หลายๆ บริษัทก็มีเปิดให้ใช้งาน เช่น

  • DigitalOcean บริการยอดฮิตสำหรับบริการบนเว็บ
  • Microsoft Azure บริการคลาวด์สำหรับผู้นิยมเทคโนโลยีจากฝั่งไมโครซอฟท์
  • Amazon Web Service (AWS) บริการคลาวด์จากยักษ์ใหญ่ด้าน e-commerce ที่ให้บริการหลากหลายรูปแบบ
  • IRIS CLOUD บริการจาก CAT Telecom ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในประเทศไทย

ภาพที่ชัดเจนของอนาคตคือ Cloud Computing จะช่วยลดภาระในบริหารเทคโนโลยีอย่างเซิร์ฟเวอร์ลง ซึ่งสำหรับบริษัทเล็กๆ มันคือการลดต้นทุน และยังเปิดโอกาสให้นำเวลาไปพัฒนาธุรกิจให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือวิธีการผลิตใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Play video