ท่ามกลางสถานการณ์ด้านน้ำในจังหวัดภาคกลางตอนบนที่กำลังเป็นที่จับตามองในขณะนี้ ว่าจะส่งผลกระทบลงมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่นเดียวกับที่เกิดคล้ายกันในปี 2554 หรือไม่ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีประสบการณ์จากอดีตและพัฒนางานบูรณาการด้านข้อมูลให้ประชาชนสามารถประเมินสถานการณ์ด้วยตนเองผ่านหลายช่องทางทีเดียว
บทความนี้แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2567 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำปี 67
คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ Thaiwater.net
ถือเป็นแพลตฟอร์มหลักที่รัฐบาลสนับสนุนในการรวมข้อมูลด้านน้ำจาก 37 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Thaiwater.net และแอปพลิเคชัน ThaiWater บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา
เราเคยแนะนำการใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ในเวอร์ชันแอปพลิเคชันไว้แล้วสามารถอ่านได้ ที่นี่ ซึ่งแสดงผลข้อมูลที่ดูง่ายทั้งสถานการณ์ปัจจุบันและการคาดการณ์ต่าง ๆ
แต่หากอยากดูข้อมูลละเอียดภาพรวม ส่วนที่ขอแนะนำในการติดตามสถานการณ์น้ำจะอยู่บนเว็บไซต์ นั่นคือ
หมวดติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา
สามารถเข้าดูได้จาก ที่นี่ เป็นการแสดงข้อมูลภาพรวมในแผนภาพเดียวที่ค่อนข้างละเอียด เหมาะสำหรับคนอยากวิเคราะห์ด้วยตนเอง โดยอ่านค่าต่าง ๆ ดังนี้ (หรืออยากดูแบบย่อไม่ลงละเอียดมากสามารถดูได้ ที่นี่)
- ดูระดับน้ำ
- ดูระดับน้ำบริเวณคลองหรือแม่น้ำใกล้บ้านหรือเขตที่พักอาศัย เน้นดูข้อมูลจาก สถานีตรวจวัดน้ำท่ากรมชลประทาน (รูปวงกลม) และสถานีโทรมาตรขนาดเล็ก (รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส) ซึ่งจะแสดงเป็นสี โดยสีเหลืองคือน้ำน้อย สีเขียวปกติ สีน้ำเงินน้ำมาก และสีแดงคือน้ำล้น นอกจากนี้ยังสามารถดูแบบละเอียดได้จากผลการแสดงตัวเลข 2 ค่าในวงเล็บด้วย คือ
- ระดับน้ำในปัจจุบัน
- ระดับน้ำที่รับได้ (ถ้าเกินเลขนี้คือน้ำจะล้น)
- ดูระดับน้ำที่เกี่ยวข้อง เน้นเขื่อน, ประตูน้ำ, คลองหรือแม่น้ำที่นำปริมาณน้ำมาเพิ่มในพื้นที่บ้านหรือเขตที่พักอาศัย โดยดูจากทิศทางการไหลของน้ำ เพื่อดูแนวโน้มมวลน้ำที่สะสมก่อนมาถึงพื้นที่ของเรา
- เขื่อน ให้ดูปริมาณความจุน้ำสะสมที่แสดงเป็นร้อยละ เช่น 88% คือรับน้ำไปแล้ว 88 ส่วนจากความสามารถรับน้ำ 100 ส่วน ยิ่งเลขมากยิ่งมีความเสี่ยงที่เขื่อนจะต้องปล่อยน้ำออกมามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอัตราน้ำไหลเข้าเขื่อน และอัตราน้ำที่ระบายจากเขื่อนด้วย
- ประตูระบายน้ำ จะแสดงสี และค่าตัวเลข 2 ค่าในวงเล็บ แต่เป็นระดับน้ำเหนือประตูน้ำและระดับน้ำหลังประตูน้ำ ให้เราสามารถประเมินการระบายน้ำได้
- คลองหรือแม่น้ำ ให้ดูจากระดับน้ำปัจจุบันกับระดับน้ำที่รับได้เช่นเดิม หากบริเวณต้นน้ำที่จะลงมายังบริเวณของเรามีปริมาณน้ำสูงมากก็มีแนวโน้มที่จะลงมายังพื้นที่ของเรามากเช่นกัน
- ดูระดับน้ำบริเวณคลองหรือแม่น้ำใกล้บ้านหรือเขตที่พักอาศัย เน้นดูข้อมูลจาก สถานีตรวจวัดน้ำท่ากรมชลประทาน (รูปวงกลม) และสถานีโทรมาตรขนาดเล็ก (รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส) ซึ่งจะแสดงเป็นสี โดยสีเหลืองคือน้ำน้อย สีเขียวปกติ สีน้ำเงินน้ำมาก และสีแดงคือน้ำล้น นอกจากนี้ยังสามารถดูแบบละเอียดได้จากผลการแสดงตัวเลข 2 ค่าในวงเล็บด้วย คือ
- ดูระยะเวลาที่น้ำเดินทางลงมาถึงจุดที่เราอยู่
- ในแต่ละช่วงคลองหรือแม่น้ำจะมีเส้นที่บอกเราว่ามวลน้ำใช้เวลาเท่าไรในการเดินทางผ่านแต่ละช่วง ตรงนี้ทำให้เราพอสันนิษฐานได้ว่าหากมวลน้ำจะเดินทางจากจุดที่วิกฤตลงมาถึงจุดที่เราอยู่ จะใช้เวลาประมาณกี่วัน หรือกี่ชั่วโมง นำไปวางแผนในการยกย้ายข้าวของ จัดเตรียมรับมือ หรืออพยพได้ทันท่วงที
- ดูแนวโน้มสถานการณ์น้ำจากข้อมูลในวันก่อนหน้าได้ โดยเปลี่ยนวันที่ตรงแถบด้านบนแผนภาพ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลได้เช่นกัน
- สามารถดูกล้อง cctv ของจุดวัดระดับน้ำบางจุดได้ แต่ไม่ได้แนะนำพิเศษเพราะดูระดับน้ำค่อนข้างยาก ยกเว้นกรณีน้ำหลากล้นท่วมชัดเจนแล้วเท่านั้น
หมวดติดตามสภาพอากาศ
สามารถเข้าดูได้จาก ที่นี่ ตรงนี้สามารถดูจากในแอปพลิเคชันก็ง่ายเช่นกัน โดยดูเพื่อประเมินโอกาสที่ปริมาณน้ำที่จะเข้ามาเพิ่มจากฝนตกหรือพายุนั่นเอง
- หัวข้อ ฝน
- ดูปริมาณน้ำฝนในแต่ละวัน โดยดูคร่าว ๆ ก็พอได้ว่าในพื้นที่ตรงที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่จะลงมาที่เจ้าพระยานั้นมีปริมาณฝนตกมากน้อยเพียงใด โดยสีฟ้าคือฝนน้อยสีเขียวปกติ และสีโทนแดงคือฝนมาก หรือหากชอบดูภาพเคลื่อนไหวก็แนะนำดูในหัวข้อ เรดาร์ ก็จะแสดงภาพเคลื่อนไหวของเมฆฝนในรอบวันที่เข้าใจง่ายเช่นกัน
- หัวข้อ พายุ
- แนะนำให้กดดูข้อมูลย้อนหลัง เพื่อสังเกตการก่อตัวพายุ ระดับความแรง และทิศทางของพายุได้ง่ายขึ้น
ระดับน้ำบริเวณปากแม่น้ำ
นอกจากปัจจัยพายุแล้ว ตรงนี้แนะนำให้ดูประกอบกับช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน ซึ่งได้ทำการวัดและทำนายไว้ ที่นี่ แนะนำให้ดูทั้งระดับน้ำตรวจวัดจริง และระดับน้ำคาดการณ์ โดยเน้นที่สถานป้อมพระจุล ที่เป็นตัวบอกระดับที่ปากแม่น้ำก่อนออกอ่าวไทย ซึ่งหากระดับน้ำทะเลสูงก็จะทำให้การเคลื่อนของน้ำจากเจ้าพระยาลงอ่าวไทยยากขึ้นเกิดน้ำท่วมขังได้เช่นกัน
แผนที่ดาวเทียม GISTDA
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นอีกหน่วยงานที่สำคัญ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ดาวเทียม ซึ่งตอนนี้ก็ได้หน้าติดตามภัยพิบัติปี 2567 ด้วย ให้ดูสถานการณ์น้ำท่วมอัปเดตตามช่วงเวลาได้ ทั้งนี้ยังได้อธิบายและวิเคราะห์ในแต่ละพื้นที่ประกอบกับภาพดาวเทียมด้วย
ระบบติดตามน้ำท่วม
อันนี้เหมาะกับคนที่อยากดูข้อมูลแผนที่ดาวเทียมที่แสดงบริเวณน้ำท่วมด้วยตนเอง สามารถเข้าดู ที่นี่ ส่วนที่น่าสนใจคือในฟังก์ชันการเลือกชมข้อมูลของระบบนี้ เราสามารถเลือกความถี่น้ำท่วมขังในรอบ 11 ปีได้ ซึ่งเหมาะมากหากเราเพิ่งย้ายมาอยู่ในพื้นที่ใหม่และไม่ทราบประวัติย้อนหลังว่าพื้นที่นี้มีโอกาสน้ำท่วมขังมากน้อยเพียงใดจากสถิติในอดีต ก็สามารถดูได้จากตรงนี้เลย
ระบบติดตามกลุ่มฝน
อันนี้คล้ายกับหมวดติดตามสภาพอากาศของ ThaiWater แต่ใช้แสดงเป็นแผนภาพดาวเทียมให้เห็นสีบ่งบอกปริมาณน้ำฝนแทน ซึ่งเมื่อกดดูไล่วันก็จะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวให้เห็นแนวโน้มการเกิดฝนได้ง่ายขึ้นด้วย ก็แล้วแต่ใครจะสะดวกแบบไหน
ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ
อันนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสรุปสถานการณ์มาเลย สามารถเข้าดูได้ ที่นี่ จะมีรายงานสรุปข้อมูลด้านต่าง ๆ รายวันมาให้เรียบร้อย หรือถ้าจะดูเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็เลือกจากเมนู หรือกด ที่นี่ ได้เช่นกัน
หรือถ้าอยากดูแบบมีวิเคราะห์ด้วย ก็สามารถดูรายงานสรุปสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ได้ ที่นี่ เช่นกัน อันนี้จะได้อารมณ์ประหนึ่งคุณเป็นผู้อำนวยการศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำเลยทีเดียว
ตรงนี้ถ้ามีแหล่งข้อมูลไหนที่เหมาะสำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำเราก็จะเอามาอัปเดตเพิ่มเติมต่อไป ขอให้ทุกท่านใช้หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีสตินะครับ