ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพถ่ายที่กินเวลาถ่ายนานที่สุด อาจเป็นประเด็นให้เกิดความข้องใจสงสัย การถ่ายที่กินเวลาถึง 8 ปี เป็นไปได้จริงหรือ และเป็นไปได้อย่างไร และยังมีภาพที่ใช้เวลาถ่ายนาน ๆ แบบนี้อีกหรือไม่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักภาพเหล่านี้กัน !
หากใครเป็นคนที่ถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR SLR หรือการตั้งค่าต่าง ๆ ด้วยตัวเองมาก่อน ย่อมทราบดีว่าการเปิดหน้ากล้องให้นานเพื่อรับแสง หรือ การถ่ายภาพแบบ Long Exposure นั้นมีเงื่อนไขอยู่มากมายหลาย ทั้งการปรับค่าอื่น ๆ ทั้ง F stop / ISO หรือการเลือกใช้ชนิดของฟิล์มให้เหมาะสม รวมทั้งตัวกล้องยังต้องตั้งวางอย่างมั่นคง ไม่มีสิ่งกีดขวางบดบังช่องทางที่จะบันทึกภาพ
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้การบันทึกภาพที่ใช้เวลานาน ๆ มีความยุ่งยาก ทว่าหลายคราก็ให้ผลที่คุ้มค่า ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งของมันคือ การทำให้เราเห็นผลพวงและผลกระทบต่าง ๆ ของกาลเวลา ซึ่งดวงตาของเราไม่อาจมองเห็นได้ เรียกได้ว่าเป็นการขนาดให้เห็นมุมมองใหม่ ที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ภาพที่ใช้เวลาถ่ายนานที่สุดในปัจจุบัน
เริ่มกันที่ภาพแรกที่เป็นประเด็นก่อน แม้เวลาจะเป็นที่พูดถึงในโซเซียลบ้านเราไม่นาน แต่จริง ๆ มีการเปิดเผยภาพนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และเป็นที่ฮือฮาในแพลตฟอร์มต่างชาติอยู่พอควร แน่นอนว่า ระยะเวลาการถ่ายคือสิ่งที่น่าทึ่ง แต่สิ่งที่ภาพได้บันทึกไว้ก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน
ภาพปกด้านบนที่น่าทึ่งนี้ เป็นผลงานของ เรจินา วัลเคนบอร์ก (Regina Valkenborgh) เธอได้ทำกล้องรูเข็มโดยใช้กระป๋องเบียร์เจาะรู และวางกระดาษอัดรูปไว้ภายใน โดยเธอได้นำกล้องรูเข็มกระป๋องนี้ไปติดไว้บริเวณโดมกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวเบย์ฟอร์ดบูรี (Bayfordbury Observatory) ในมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (University of Hertfordshire) ซึ่งด้วยตำแหน่งนั้นก็หลีกเลี่ยงให้ใครต่อใครเผลอไปยุ่งได้เป็นอย่างดี

Credit : University of Hertfordshire Observatory
วัลเคนบอร์กติดกล้องประดิษฐ์นี้ไว้ตั้งแต่สิงหาคม ค.ศ. 2012 ในสมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ที่นั่น ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอนพอดี และหลังจากการตากแดดตากฝนยาวนานถึง 8 ปีเต็ม ในที่สุด กล้องนี้ก็ถูกนำมาจากโดมในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020

Credit : University of Hertfordshire Observatory
ภาพที่บันทึกได้คือ เส้นโค้งที่เกิดจากดวงอาทิตย์ขณะเดินทางข้ามจากฟากฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่าภาพโซลาร์กราฟ (Solargraphs) แต่นี่ไม่ใช่ภาพโซลาร์กราฟเพียงหนึ่งเดียวของเธอ
ก่อนหน้านี้วัลเคนบอร์กก็เคยถ่ายภาพลักษณะเดียวกันโดยใช้เวลา 6 เดือน โดยภาพนั้นแสดงให้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตกจากปรากฏการณ์ ‘อายัน’ (ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ซึ่งทำให้เกิด ‘วันครีษมายัน’ ที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดและ ‘วันเหมายัน’ ที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี) ไปสู่อีกอายันหนึ่ง ทำให้เห็นความแตกต่างการเส้นทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านไป กระทั่งองค์กรอวกาศอย่างนาซาเองยังเคยคัดเลือกภาพนี้ในเป็น Picture of the day ด้วย

Credit : NASA/ Regina Valkenborgh
นอกจากวัลเคนบอร์กก็มีช่างภาพคนอื่นที่ได้ถ่ายภาพทำนองนี้ไว้โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือนเช่นกันอย่างภาพด้านล่างนี้ก็เป็นผลงานของ จัสติน ควินเนลล์ (Justin Quinnell) โดยภาพจากกล้องรูเข็มของเขาแสดงให้เห็นการเดินทางของดวงอาทิตย์เหนือน่านฟ้าของสะพานแขวนคลิฟตัน ในบริสตอล สหราชอาณาจักร

Credit : Justin Quinnell
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
การถ่ายภาพโดยเปิดชัตเตอร์ยาว ๆ มักถ่ายในที่มืด ภาวะแสงน้อย ช่วยทำให้แสงค่อย ๆ ถูกบันทึก จึงวิธีการที่พบเห็นได้บ่อยในงานถ่ายภาพดาราศาสตร์ และการถ่ายแสงไฟในยามค่ำคืน และบ่อยครั้งที่ภาพเหล่านี้ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นมุมมองที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในภาพยนตร์ไซไฟที่รังสรรค์ด้วยสเปเชียลเอกเฟกต์อย่างไรชอบกล
ภาพถ่ายดาราศาสตร์
บรรดาภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่ใช้ประโยชน์จากการเปิดชัตเตอร์นาน ๆ เพื่อให้เก็บรายละเอียด และช่วยให้มองเห็นในสิ่งที่ดวงตาของมนุษย์เราไม่อาจเห็น >>>

การเปิดหน้ากล้องนานทำให้เห็นดวงดาวเคลื่อนที่
Credit : NASA/Bill Dunford

เนื่องจากเวลาเปิดรับแสงนาน ดวงดาวในพื้นหลังจึงมีลักษณะยืดออก
Credit: NASA

เผยให้เห็นแสงไฟของเมืองในทวีปแอฟริกา การเรืองแสงในบรรยากาศโลก และเส้นที่เกิดจากดวงดาว
Credit: NASA

ณ แท่นปล่อย 1 ในฐานปล่อยยาน Baikonur Cosmodrome คาซัคสถาน
Credit: (NASA/Aubrey Gemignani)
ภาพถ่ายแสงไฟในที่มืด
การเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ทำให้เราเห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุหรือแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งช่วยให้ภาพดูน่าสนใจและตื่นตามากขึ้น >>>

Credit : flickr.com/ Zsolt Andrasi

Credit : www.reddit.com/ Proteon

Credit : www.reddit.com / Luke_Dukem

Credit : www.reddit.com/ phototactic
แต่แน่นอนว่าภาพเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ยาวลากเกินหนึ่งวันเสียด้วยซ้ำ ถ้าเช่นนั้น ภาพที่ใช้ความยาวเป็นอันดับ 2 รองมาจาก 8 ปี ก็น่าจะเป็นภาพประเภทเดียวกันของวัลเคนบอร์กหรือของควินเนลล์ ที่ใช้ระยะเวลา 6 เดือนนี้ใช่หรือไม่ ?
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)
คำตอบก็คือ ไม่ !
หลังจากค้นข้อมูลดู เราก็ค้นพบภาพที่ใช้ระยะนานกว่า 6 เดือน แม้ไม่อาจยืนยันได้อย่างสนิทใจว่าเป็นลำดับ 2 (เนื่องจากภาพนี้เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นภาพถ่ายที่ใช้ระยะเวลาเปิดหน้ากล้องยาวนานที่สุดในโลกเมื่อปี ค.ศ. 2010) แต่สิ่งที่ต่างไปคือสิ่งที่ถ่ายและวิธีที่บันทึก มันไม่ใช่การบันทึกภาพทางดาราศาสตร์แต่เป็นการจารึกร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และไม่น่าเชื่อเลยว่าภาพเหล่านี้แต่ละใบใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มในการบันทึก!!
ภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่เห็นทั้งความรุ่งเรืองและร่วงโรย
ระยะ 8 ปี หรือ 6 เดือน กับกล้องรูเข็ม คือสิ่งที่เราพยักหน้าหงึกหงักตอนได้ยินคำอธิบาย แต่ 3 ปี กับการบันทึกภาพกล้องแบบ Large Format นี่สิที่ทำให้เราทึ่งจริง ๆ
เป็นที่รู้กันดีกว่า กล้อง Large Format ที่ใช้ฟิล์มกระจกในการรับภาพ ใช้เวลาในการตระเตรียมอุปกรณ์ค่อนข้างมาก และแม้การเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ก็เป็นปกติของกล้องสุดคมชัดประเภทนี้ แต่ด้วยถึงกระบวนการในการเตรียม ทำและล้างภาพ ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความโหดของการถ่ายภาพแบบนี้
แต่เหมือนแค่การถ่ายวัตถุในพื้นที่แคบ ๆ จะยังไม่ยากพอ ภาพของช่างภาพเยอรมัน ไมเคิล เวสลี (Michael Wesely) จึงไปไกลกว่านั้นมาก เพราะเขาใช้กล้องชนิดนี้ถึง 8 ตัว วางกระจาย 4 มุม เพื่อถ่ายภาพอาคาร MoMA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก) ที่ถูกทำลายและสร้างใหม่ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 จนถึงปี ค.ศ. 2004 โดยเปิดชัตเตอร์ทิ้งไว้นานถึง 34 เดือน หรือ คิดแบบคร่าว ๆ คือเกือบ 3 ปี!
Credit : http://itchyi.squarespace.com/ Michael Wesely
เดิมเวสลีเคยถ่ายภาพ Long Exposure มาก่อนด้วยกล้องรูเข็มเช่นกัน แต่เพราะเขาอยากได้ภาพที่มีรายละเอียดคมชัดมากขึ้น จึงทุ่มเทฝึกฝนทดลองการถ่ายภาพด้วย กล้อง Large Format จนประสบความสำเร็จ
เขาเล่าว่า ถ้าคิดที่จะวางแผนเปิดหน้ากล้องนานเป็นปี คุณจะต้องทดลองเปิดหน้ากล้องนาน 6 เดือน และ 3 เดือนเสียก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลและค้นหาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ
Credit : http://itchyi.squarespace.com/ Michael Wesely
และผลลัพธ์ที่ได้ก็ช่างคุ้มค่า เพราะภาพที่ได้ทำให้เรารู้สึกได้ถึงการผ่านข้ามของเวลา และการเปลี่ยนแปลงไปได้จริง ๆ แถมยังแสดงดีเทลรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ในภาพได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนลำแสงที่ทอดพาดผ่านชวนให้รู้สึกถึงความเปราะบางและความละมุนละไม พาให้ขบคิดถึงสัจธรรมเสียจริง ๆ เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เหมือนกับได้เสพภาพเคลื่อนไหวที่เร่งสปีดในภาพยนตร์เลย
Credit : http://itchyi.squarespace.com/ Michael Wesely
ภาพถ่ายและความยาวนานที่แทบจะเป็นนิรันดร์
นอกจากภาพเหล่านี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าลิมิตหรือขีดจำกัดความยาวของระยะเวลาบันทึกแสงจะยาวนานได้ถึงแค่ไหนกันแน่ มีคนตั้งคำถามถึงขึ้นว่า เราจะสามารถใช้เวลาบันทึกภาพถึง 1,000 ปี ได้หรือไม่ และหลังจากการค้นคว้าหาคำตอบของเหล่าผู้ขี้สงสัยเหล่านั้นก็มีคำตอบส่วนใหญ่ออกมาว่าเป็นไปได้ ?!



จากการให้เหตุผลที่มีอยู่มากมายในหลายความคิดเห็น เงื่อนไขที่ต้องมีคือ การใช้โครงสร้างหินขนาดใหญ่ เช่น โบสถ์ หรือ ถ้ำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุยืนยาวถึง 1,000 ปี (ไม่เปราะบาง หรืออยู่ใกล้รอยเลื่อนใด ๆ ) และโครงสร้างนั้นต้องมีด้านที่มีแดดส่องลอดเข้าไปภายใน ใช้วัสดุบางอย่างที่สามารถบันทึกภาพได้ และที่แน่ ๆ วัสดุชนิดนี้ต้องมีอายุยืนผ่านพ้น 1,000 ปี ไปได้เช่นกัน เมื่อครบเงื่อนไขก็เหลือแต่เพียงรอดูไปอีก 1,000 ปี พูดง่าย ๆ ก็คือใช้หลักการกล้องรูเข็มกับวัสดุที่มีความคงทน บวกกับเวลามหาศาลนั่นเอง ?!
ไม่แน่ว่าถ้าเราเห็นลวดลายอะไรแปลก ๆ ตามผนังถ้ำ นั่นก็อาจจะเป็นภาพถ่ายโบราณดึกดำบรรพ์ก็ได้สินะ สำหรับเรื่องนี้จะจริงแค่ไหนไม่อาจทราบได้ เราคงต้องทดลองกันยาว ๆ ไป ไม่แน่นะ ตอนนี้อาจจะมีใครบางคนพยายามสร้างภาพที่ใช้เวลาถ่ายยาวนานยิ่งกว่านี้อยู่ก็ได้ เพียงแต่มันยังอยู่ในกระบวนการสร้างภาพและยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาเท่านั้นเอง
อ้างอิง
University of Hertfordshire Observatory
NASA / NASA1 / NASA2 / NASA3 / NASA4
Demilked.com
itchyi.squarespace.com
quora.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส