เราแทบทุกคนต่างต้องใช้อินเทอร์เน็ตกันทั้งสิ้น อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของคนในโลกนี้ก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารก็พัฒนาขึ้นอยู่ตลอด จนมาช่วงเร็ว ๆ นี้ ที่คุณท๊อป จิรายุส ได้ให้สัมภาษณ์เพื่ออธิบายความหมายของเทคโนโลยีเว็บไซต์รูปแบบใหม่ Web 3.0 ซึ่งในวงการคริปโทเคอร์เรนซีน่าจะพอรู้จักคำนี้มาบ้างแล้วอย่างแน่นอน แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ‘Web 3.0’ นี้คืออะไรกันแน่ มันทำงานอย่างไร และเราต้องรู้อะไรบ้างเพื่อการพัฒนาในอนาคต
ก่อนจะมาเป็น Web 3.0
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงการมีอยู่ของ ‘Web 3.0’ แปลว่าก่อนหน้านี้จะต้องมี Web เวอร์ชันก่อน ๆ อย่างแน่นอน ในที่นี้ก็คือ Web 1.0 และ Web 2.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาทีละขั้นตอน พอจะสรุปได้ดังนี้
Web 1.0
Web 1.0 นั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเว็บไซต์ในยุคเริ่มต้น เกิดขึ้นในปี 2532 โดย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ของอังกฤษ เป็นคนที่คิดค้นวิธีการสื่อสารข้อความหลายมิติ (Hypertext) เพื่อสื่อสารข้อมูลหากันโดยใช้อินเทอร์เน็ต ในชื่อ เวิล์ดไวด์เว็บ (World Wide Web) รวมไปถึงการใช้องค์ประกอบพื้นฐานของเว็บไซต์ อย่าง HTTP, HTML และ URL ซึ่ง Web 1.0 นั้นเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) หมายถึงเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียว ไม่มีการโต้ตอบกลับมาใด ๆ คนที่จะสามารถแก้ไขหน้าตาเว็บไซต์ได้ก็จะมีแต่เจ้าของเว็บไซต์ (Webmaster) เท่านั้น อย่างเช่น เว็บไซต์ประกาศข่าว เว็บไซต์ประกาศข่าวรับสมัครงาน เว็บประวัติส่วนตัว เป็นต้น
Web 2.0
เนื่องจาก Web 1.0 นั้นเป็นเว็บไซต์เพื่อสื่อสารทางเดียว ทำให้เกิดปัญหาในด้านการสื่อสาร เพราะไม่สามารถโต้ตอบกลับมาได้ ทำให้เกิดการพัฒนามาเป็น Web 2.0 ในยุคถัดมา ซึ่งเว็บไซต์ประเภทนี้สามารถทำได้ทั้งอ่าน แบบใน Web 1.0 แต่สามารถโต้ตอบกันได้อย่างอิสระ ในรูปแบบการสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication) สามารถสื่อสารหากันได้ทั้งระหว่างเจ้าของเว็บไซต์และผู้ใช้งาน หรือระหว่างผู้อ่านกันเองได้ ผู้ใช้งานก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้อ่าน และผู้สร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารกันเองได้ เกิดเป็นสังคมบนเว็บไซต์ และเกิดเป็นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ขึ้นมา ซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้นไหลไปมาได้อย่างรวดเร็ว และมากมายกว่าแต่ก่อนอย่างมาก
แต่ว่าปัญหาที่ยังคงมีอยู่ก็คือ การติดต่อสื่อสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสื่อสารที่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะช่องทางอยู่ ซึ่งคนกลางเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เราสื่อสารกัน พฤติกรรมการใช้งาน เวลาที่เราใช้งานสื่อเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดปัญหาการขโมยข้อมูลไปขาย วิเคราะห์เพื่อทำโฆษณาที่ตรงใจเรามากขึ้น ทำให้ข้อมูลของเราที่สื่อสารเข้าไปนั้นไม่เป็นข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดของ Web 3.0 เพื่อลดบทบาทของตัวกลางลง เพิ่มความ ‘ไร้ตัวกลาง’ (Decentralized) ให้มากยิ่งขึ้น
แล้ว Web 3.0 คืออะไรกันแน่
ในปัจจุบัน Web 3.0 คือแนวคิด รูปแบบของเว็บไซต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่คาดการณ์ไว้ว่ามันจะเป็นยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ต ที่จะมีความฉลาดมากขึ้น สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่นวิเคราะห์ข้อมูลได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Machine Learning (ML), Big Data, Artificial Inteligence (AI), Blockchain สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดย Web 3.0 นี้เป็นแนวคิดที่เริ่มมาจากทิม เบอร์เนอร์ส-ลี คนเดียวกันกับที่ริเริ่ม Web 1.0 นี่แหละ เขาได้มองว่าเว็บที่จะเป็น Web 3.0 ได้นั้น จะเกิดจากพัฒนาการการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลบนเว็บไซต์ ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เชื่อมโยงระหว่างกันแบบเครือข่ายทั่วทั้งโลก รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น AI เข้ามาช่วยในการทำให้เว็บไซต์นั้นทำงานได้อย่างดีมากขึ้น หรือการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคน และอุปกรณ์ได้แบบอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น Semantic Web หรือ ‘เว็บเชิงความหมาย’
และเนื่องจากว่านี่เป็นเพียงการคาดการณ์เว็บไซต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี จึงได้อุทิศตนเพื่อการพัฒนามาตรฐานสากลของเว็บไซต์โดยเฉพาะ และได้ก่อตั้ง องค์กรเว็บไซต์สากล (World Wide Web Consortium หรือ W3C) ขึ้นมา และได้สรุปลักษณะของ Web 3.0 ที่อาจจะเกิดขึ้น และเริ่มเป็นจริงแล้วในตอนนี้ออกมาได้ดังนี้
- ไร้ตัวกลาง (Decentralized) หมายถึงมีการกระจายอำนาจผู้ใช้งาน ไม่ต้องติดต่อสื่อสารหากันผ่านตัวกลาง หรือเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ (เช่น สามารถติดต่อหากันได้โดยไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กหรือกูเกิลเข้ามาเกี่ยวข้อง)
- มีโค้ดที่ออกแบบร่วมกันได้ (Bottom-up Design) หมายถึงการพัฒนาโค้ดที่ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการเข้ามาพัฒนาโค้ดของเว็บไซต์ หรือแอปต่าง ๆ จนสามารถใช้งานได้ แทนที่จะให้คนกลุ่มเดียวเข้ามาออกแบบโค้ดเท่านั้น ให้ลองนึกถึงเว็บไซต์ร่วมออกแบบโค้ดโปรแกรมอย่าง กิตฮับ (Github) ที่โค้ดโปรแกรมเป็นแบบโอเพ่นซอร์ส สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาโค้ด แก้บั๊กต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นต้น
- มีฉันทามติ (Consensus) สามารถตรวจสอบความถูกต้องกันเองระหว่างผู้ใช้ได้ มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้
ต่อมา เกวิน เจมส์ วูด (Gavin James Wood) ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum คริปโทเคอร์เรนซีอันดับต้น ๆ ของโลก ได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดเรื่อง Web 3.0 จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web3 (Web3 Foundation) ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้คนรู้จัก Web 3.0 และผลักดันให้มาตรฐานเว็บไซต์ใหม่นี้เป็นที่รู้จัก และมีผู้ใช้งานให้มากยิ่งขึ้น
เกวินได้กล่าวสรุปแนวคิด Web 3.0 ออกมาใหม่ โดยหมายถึงรูปแบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตที่จะไม่มีเซิร์ฟเวอร์ มีการกระจายอำนาจ เป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถควบคุมข้อมูล ตัวตน รวมถึงกำหนดทิศทางของชีวิตตัวเองได้อย่างแท้จริง
องค์ประกอบของ Web 3.0
มูลนิธิ Web3 ได้แบ่งองค์ประกอบของ Web 3.0 ออกมาได้เป็นเทคโนโลยีที่มีขั้นตอนซ้อนกัน (Technology Stack) โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชั้น เรียงจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน ดังนี้
- Layer 0 เป็นส่วนพื้นฐานของ Stack ของ Web 3.0 ที่ประกอบไปด้วยวิธีการสื่อสารของหน่วยสื่อสาร (Node) ต่าง ๆ และวิธีการติดตั้งโปรแกรมในระดับล่างที่สุด
- Layer 1 เป็นส่วนที่ทำหน้าทั้งในส่วนของการจัดเก็บ, แจกจ่าย และการโต้ตอบข้อมูลระหว่าง Node ด้วยกัน ที่อาจจะยังไม่มีความปลอดภัยมากพอ
- Layer 2 เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนขั้นที่ 1 ด้วยการเพิ่มความสามารถฟังก์ชันต่าง ๆ อย่างเช่น การจัดเก็บข้อมูลแบบเข้ารหัส (Encrypted Messaging) และ การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเข้าด้วยกันบนเครือข่ายเข้าเป็นกลุ่ม เพื่อแบ่งปันข้อมูลและร่วมกันประมวลผล (Distributed Computing)
- Layer 3 เป็นส่วนเกี่ยวกับภาษาโปรแกรมมิง และ Libraries ซึ่งเป็นที่รวบรวมชุดฟังก์ชันต่าง ๆ เพื่อสำหรับให้นักพัฒนาเข้ามาใช้พัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
- Layer 4 เป็นส่วนบนสุดของ Stack ที่ได้รวบรวมโปรแกรมที่ผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่ใช่นักพัฒนาเข้ามาใช้งานโดยตรงกับ Blockchain ได้ หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือโปรแกรมที่ใช้เข้าอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนกำลังอ่านบทความนี้นั่นเอง
แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ต้องรู้อะไรบ้างล่ะ ?
แน่นอนว่าในหลาย ๆ เว็บไซต์ ที่ไม่ว่าผู้อ่านจะลองหาอ่านกันเอง หรือว่าทางผู้เขียนได้สืบค้นมานั้น ต่างก็มีการพูดถึงการนำ Web 3.0 เข้าสู่เทคโนโลยีของ คริปโทเคอร์เรนซี ทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนั่นเป็นเพราะว่า คริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะวนกลับไปที่ความเป็น Web 3.0 ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้นั่นเอง
ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกัน และด้วยเทรนด์ของโลกที่เริ่มให้ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือ NFT (Non-Fungible Token หรือตราที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้) ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ อาจทำให้อนาคต โลกของเราอาจจะกำลังเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 อย่างแท้จริงก็เป็นได้
แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้อย่างแน่นอน
ในโลกของเราขณะนี้ การเข้าถึงมาตรฐานของ Web 3.0 อย่างแท้จริงได้ จำเป็นที่จะต้่อง ‘ไร้ตัวกลาง’ อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงการติดต่อสื่อสารแบบไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ เลย ปัญหาตอนนี้ก็คือ ต่อให้เราเข้าสู่ยุคของ เมตาเวิร์ส (Metaverse) แล้วก็ตาม เราก็ยังต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ในการเข้าถึงโลกโซเชียลเสมือนแห่งใหม่นี้อยู่ดี เช่นของเฟซบุ๊ก ที่เปลี่ยนชื่อไปเป็น เมตา (Meta) หรือหากนึกภาพไปยังระดับที่ใกล้ตัวมากที่สุด ต่อให้ทุกอย่างไร้ตัวกลางหมดแล้ว แต่การที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ยังคงต้องผ่านผู้ให้บริการอยู่ดี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกำกับของรัฐขึ้นได้ในอนาคต ทำให้ในขณะนี้ โลกอินเทอร์เน็ตยังไม่หลุดพ้นการเป็นเว็บไซต์ที่ ‘ไร้ตัวกลาง’ จริงได้อยู่
แม้ว่าในปัจจุบันนี้ Web 3.0 อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุก ๆ วัน การพัฒนาก็ไม่เคยหยุดนิ่ง อนาคตข้างหน้านี้เราอาจจะเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 ในซักวันก็เป็นไปได้อยู่นะ
อ้างอิง
Finnomena
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
RSIS International
Techsauce
Web3 Foundation
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส