ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเบื้องหลังของไอคอน ‘⌘’ บนปุ่ม Command ในเครื่องแมค กันไปแล้ว ซึ่งผู้ออกแบบไอคอนนี้ก็คือ Susan Kare (ซูซาน แคร์) คนนี้นี่เอง แต่ว่า แล้วเธอเป็นใครกันนะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังไอคอน ที่จะกลายเป็นพื้นฐานอีกหลายตัวบนเครื่องแมคของทุกคนกัน !
ซูซาน แคร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1954 ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เธอเป็นคนรักงานศิลปะ โดยเริ่มจากการปักด้ายนับ (การปักผ้าเป็นจุดเพื่อสร้างลวดลายตามต้องการ) ที่แม่ของเธอสอนเมื่อเธอยังเด็กอยู่ ซึ่งนั่นทำให้เธอตั้งใจศึกษา และเรียนจบสาขาศิลปะจาก Mount Holyoke College และจบปริญญาโทด้านศิลปกรรมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในปี 1978
ด้วยความสนใจด้านศิลปะของเธอ เธอได้เข้าทำงานทั้งลองทำรูปแบบอักษร (Typefaces – หรือฟอนต์) และงานออกแบบกราฟิก (Graphic Design) ระหว่างฝึกงาน รวมถึงได้ทำงานเป็นประติมากรที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งซานฟรานซิสโก งานของเธอกำลังไปได้สวยในฐานะประติมากรเลย
แต่แล้ววันหนึ่ง ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป
ในปี 1982 แคร์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวและทำงานเป็นประติมากร เธอทำงานรับจ้างเสริม ‘เชื่อมหมูป่าขนาดเท่าตัวจริง’ สำหรับจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของรัฐอาร์คันซออยู่ เธอได้รับโทรศัพท์จาก แอนดี เฮอร์ตซ์เฟลด์ (Andy Hertzfeld) เพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลายเก่าจากชานเมืองฟิลาเดลเฟีย เผอิญว่าแอนดีนั้นเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่แอปเปิล (Apple) พอดี แล้วตอนนั้น เขากำลังต้องการรูปภาพไอคอน และแบบอักษรสำหรับเครื่อง Macintosh คอมพิวเตอร์ใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 1984 พอดี เขาเลยติดต่อแคร์ เพื่อถามความสนใจเกี่ยวกับการไปสัมภาษณ์งานออกแบบกราฟิกที่แอปเปิล และเธอก็ได้เริ่มงานที่แอปเปิลในฐานะ ‘นักวาดภาพสำหรับ Macintosh’
ขณะนั้น แคร์มีปัญหาอยู่ปัญหาเดียว คือเธอไม่เคยออกแบบกราฟิกสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องทำเป็นพิกเซลอาร์ต (Pixel Art) มาก่อนเลย แอนดีเลยได้ให้คำแนะนำกับเธอ โดยให้เธอไปที่ร้านเครื่องเขียนแล้วซื้อสมุดกระดาษกราฟที่เล็กที่สุดที่หาได้และระบายสีในช่องสี่เหลี่ยมเพื่อสร้างภาพเอา หลังจากนั้น แคร์ก็เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่เธอพยายามจะสื่อให้เห็นเป็นภาพให้ได้ภายในขนาดที่เล็กมาก ตัวอย่างเช่น หน้าสมุดสเก็ตช์แต่ละหน้าของเธอมีชื่อเช่น ‘boot’ ‘jump’ ‘debug’ ‘auto indent’ และ ‘danger’ แคร์ได้กั้นกรอบในกระดาษกราฟเป็นขนาด 32 x 32 ซึ่งเป็นขนาดพิกเซลที่แต่ละไอคอนจะได้ จากนั้นใช้ดินสอหรือปากกาสีเติม (หรือเว้นว่าง) สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก 1024 อันภายในกรอบนั้นเพื่อสร้างภาพออกมา และเธอก็เริ่มทำมันได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเธอเริ่มชำนาญ แอนดีก็ได้เขียนโค้ดโปรแกรมสำหรับวาดภาพพิกเซลอาร์ตเหล่านี้ให้กับเธอ และเธอก็เริ่มวาดไอคอนสำหรับโปรแกรมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด เธอก็ได้ออกแบบทั้งไอคอน และฟอนต์สำหรับเครื่อง Macintosh มากมาย และได้สร้างภาพที่เป็นที่จดจำสำหรับผู้ใช้แมคหลาย ๆ คนมาจนถึงปัจจุบัน อย่าง ‘เครื่องแมคยิ้ม’ (Happy Mac) ซึ่งได้กลายมาเป็นหน้าบนไอคอน Face ID บนไอโฟนและไอแพดโปร และงานตัวเขียน (Cursive) คำว่า Hello บนเครื่อง Macintosh ที่กลายเป็นภาพแรกเมื่อเปิดใช้งานอุปกรณ์ iOS 15 อีกด้วย ! และอีกไอคอนที่สำคัญมากก็คือ ไอคอน ‘⌘’ บนปุ่ม Command ในเครื่องแมคนั่นเอง !
จากนั้นมา เธอก็ได้รับขนานนามในฐานะ ‘ผู้หญิงที่ทำให้ Macintosh ยิ้มได้’ ด้วยงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอนั่นเอง จากนั้นมาเธอก็ได้ทำงานในฐานะไอคอนดีไซเนอร์มาโดยตลอด โดยได้ดีไซน์ไอคอนสำหรับโปรแกรมให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, IBM, Sony Pictures, Motorola, General Magic, Intel และ Pinterest จากข้อมูลในทวิตเตอร์ของเธอ ระบุว่าตอนนี้เธอกำลังทำงานให้กับ Niantic ผู้สร้างเกมระดับตำนานอย่าง Pokemon GO นั่นเอง
เธอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสมิธโซเนียนไว้ว่า “การทำงานพิกเซลอาร์ตตอนนั้น มีกระบวนการที่ทำให้ฉันนึกถึงการปักด้ายนับเมื่อตอนยังเด็ก ฉันถึงเริ่มเข้าใจและทำมันได้ ฉันเผอิญโชคดีที่มีแม่ที่ชอบงานฝีมือน่ะ”
อ้างอิง
Smithsonian Magazine
Smithsonian National Museum of American History
Behance
I.D. Forty
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส