Web 3.0 อนาคตของโลกออนไลน์ที่จะมาต่อจาก Web 2.0 ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าให้อธิบายคร่าวๆ Web 3.0 คือเว็บหรือระบบข้อมูลที่ไร้ตัวกลาง ไร้เซิร์ฟเวอร์ ไม่มีการควบคุม หรือถูกควบคุมน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดลักษณะเดียวกันกับ Cryptocurrency, Defi หรือ NFT ซึ่งที่ผ่านมาเราคงรู้ข้อดีที่ทำให้หลายคนอยากผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงกันมาบ้าง

แต่ก็มีอีกมุมมองหนึ่งที่คิดว่า Web 3.0 หรือการทำงานแบบไร้ศูนย์กลางมันมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ภาพเพ้อฝันเกี่ยวกับเรื่องนี้มันดูดีเกินจริง โดยเฉพาะมุมมองจาก โมซี่ มาร์ลินสปิเก (Moxie Marlinspike) นักเข้ารหัส และนักวิจัยด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Signal Technology Foundation หรือแอป Signal แอปแชตที่ไม่สามารถติดตามได้ และจะไม่มีใครติดตาม และอดีตหัวหน้าแผนกความปลอดภัยของทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เชื่อว่า Web 3.0 นั้นยังไม่มีทางเป็นไปได้จริงอยู่ โดยได้เขียนบทความเรื่อง My first impressions of web3ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าไปลองใช้งานสิ่งที่ ‘น่าจะได้เป็น Web 3.0 ในอนาคต’ ดู ซึ่งแบไต๋ขอสรุปมาให้อ่านกันครับ

โมซี่คิดอย่างไรกับ Web 1.0 และ 2.0

โมซี่คิดว่า Web 3.0 ยังเป็นคำที่ค่อนข้างคลุมเครือ แต่เนื้อหาจากวิทยานิพนธ์น่าจะบอกได้ว่า Web 1.0 นั้นถูกกระจายอำนาจอยู่แล้ว แต่ต่อมา Web 2.0 นั้นรวมทุกอย่างไว้ในแพลตฟอร์ม และ Web 3.0 ก็จะกระจายอำนาจทุกอย่างอีกครั้ง โดย Web 3.0 ยังมีความสามารถการติดต่อสื่อสารกันเองของ Web 2.0 แต่กระจายอำนาจได้แบบแท้จริง

ทำไมถึงต้องการมีรวมศูนย์เว็บ

Moxie Marlinspike

อย่างแรกคือ ไม่มีใครในโลกนี้อยากจะโฮสต์เซิร์ฟเวอร์ด้วยตัวเองกัน หลักการของ Web 1.0 จริง ๆ แล้วคือทุกคนบนอินเทอร์เน็ตจะเป็นทั้งผู้เผยแพร่และผู้บริโภคเนื้อหา ซึ่งแบบนั้นหมายถึงว่าเราทุกคนก็จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง เพื่อจะเผยแพร่เว็บไซต์ของตัวเอง มีเซิร์ฟเวอร์อีเมลของตัวเอง และควบคุม บริหารเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นด้วยตัวเองเลย ซึ่งการทำเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้ทั้งความรู้ เงิน และเวลา ทำให้ไม่มีใครเขาอยากจะทำเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองกันหรอก

แม้กระทั่งคนระดับองค์กรที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์ ก็ไม่อยากเปิดเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองแล้ว พวกเขาเลือกที่จะใช้บริการจากผู้ที่ ‘รับทำ’ ในสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้ทำแทน แล้วบริษัทเหล่านั้นก็รุ่งมากซะด้วย และบริษัทที่รับทำสิ่งเหล่านี้ แล้วมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาให้เนี่ย รุ่งซะยิ่งกว่าอีก

และอย่างที่ 2 คือ มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ พัฒนาช้ายิ่งกว่าตัวแพลตฟอร์มซะอีก เช่นผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว อีเมลก็ยังคงไม่มีการเข้ารหัส แต่วอทส์แอป (WhatsApp) แพลตฟอร์มเพื่อพูดคุยกันที่ทำงานแบบรวมศูนย์ ก็เปลี่ยนจากการเป็นแอปแชตที่ไม่เข้ารหัส มาเป็น End-to-end encryption (E2EE) หรือเข้ารหัสทั้ง 2 ฝ่ายได้ภายในปีเดียวเท่านั้น

เรื่องของเรื่องคือมันไม่ได้เกี่ยวกับเงินทุนอะไรหรอก แต่ถ้าอะไรมันไร้ตัวกลางอย่างแท้จริงแล้ว การจะพัฒนาต่อก็ทำได้ยากมาก และมักจะถูกแช่แข็งไว้ ไม่มีการพัฒนาต่อ นั่นแหละปัญหาสำหรับเทคโนโลยี เพราะส่วนที่เหลือของอีโคซิสเต็มกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และถ้าคุณไม่ตามทัน คุณก็จะไปไม่รอด เดี๋ยวนี้มีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีขึ้นเพื่อพัฒนานิยามของคำต่าง ๆ เพื่อให้โลกพัฒนาทันเทคโนโลยี และจัดการคนจำนวนมากให้ได้พร้อม ๆ กัน ถ้าปล่อยให้ดูแลกันเองแบบไร้ตัวกลางต้องลำบากมากแน่

ถ้าเทคโนโลยีมันเสี่ยงที่จะหยุดชะงักมากกว่าไปต่อ วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือเอามาตรฐานเก่า ๆ ยุค 90 มาทำให้มีตัวกลางซะ แล้วให้คนกลางพัฒนามันแทนอย่างรวดเร็ว

แต่คนมองว่า Web 3.0 ต้องมีอะไรใหม่แน่นอน โมซี่เลยชวนไปดูว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป สำหรับตัวเขาเองที่มีความสามารถด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันอยู่แล้ว จึงได้พัฒนา dApps หรือ distributed apps (แอปที่กระจัดกระจาย ไม่มีเจ้าของตายตัว) และ NFT จำนวนหนึ่งขึ้นมา

dApps แรกของโมซี่

และแอปพลิเคชันที่เขาทำขึ้นมาชิ้นแรกก็คือ Autonomous Art ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถสร้าง (Mint) โทเค็นสำหรับ NFT ได้โดยการสร้างภาพ หรือแต่งเติมภาพให้กับมัน ค่าใช้จ่ายในการมีส่วนร่วมกับภาพนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และเงินทุนที่คนถัดไปมาลงให้กับการสร้างภาพ จะถูกแจกจ่ายให้กับศิลปินคนก่อน ๆ ทั้งหมด (การแจกจ่ายเงินนี้จะรูปแบบคล้ายกับรูปทรงพีระมิด) ซึ่งตอนนี้ ในการสร้างภาพแต่ละภาพมีมูลค่ากว่า 136,000 บาท และได้แจกจ่ายให้กับผู้สร้างภาพก่อนหน้านี้ไปแล้วกว่า 43.5 ล้านบาท

อีกแอปนึงที่เขาทำก็คือ First Derivative ที่ให้คุณสร้าง ค้นพบ และแลกเปลี่ยนอนุพันธ์ของ NFT ซึ่งติดตาม NFT พื้นฐานที่มีอยู่แล้ว คล้ายกับตราสารอนุพันธ์ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิงไว้นั่นแหละ

ทั้งสองแอปนี้ทำให้เขาได้รู้เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่การเป็น Web 3.0 มากขึ้น โดยเขาอธิบายว่าแอปทั้งคู่นี้ก็ไม่ได้มีความ ‘ไร้ตัวกลาง’ อะไรหรอก ที่จริงแล้วมันเป็นเว็บไซต์ที่เขียนด้วยไลบรารี React.js เท่านั้น ที่มันไร้ตัวกลางก็คือ ที่สถานะของลอจิก หรือสิทธิ์ในการอัปเดตสถานะของมันไปอยู่บนบล็อกเชนแทน แทนที่จะเก็บข้อมูลบนฐานข้อมูลที่ ‘มีตัวกลาง’

สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกแปลก ๆ เสมอเกี่ยวกับโลกของคริปโทเคอร์เรนซี คือเมื่อผู้คนพูดถึงบล็อกเชน พวกเขาพูดถึงความน่าเชื่อถือแบบกระจายศูนย์ ความเห็นพ้องต้องกันแบบไม่มีผู้นำ และกลไกทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีการทำงาน แต่มักมองข้ามความเป็นจริงที่ผู้ใช้งานไม่สามารถมีส่วนร่วมในกลไกเหล่านั้นอยู่ดี ไดอะแกรมเครือข่ายทั้งหมดเป็นของเซิร์ฟเวอร์ โมเดลความน่าเชื่อถืออยู่ระหว่างเซิร์ฟเวอร์ ทุกอย่างเกี่ยวกับเซิร์ฟเวอร์หมดเลย บล็อกเชนถูกออกแบบให้เป็นเครือข่ายของแต่ละเพียร์ แต่ไม่ได้ออกแบบมาให้อุปกรณ์หรือเบราว์เซอร์ของคุณเป็นหนึ่งในเพียร์เหล่านั้นซะหน่อย

แล้วยิ่งมาถึงยุคที่ทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือแล้วด้วย มันก็เหมือนกับว่าเราอยู่ในโลกที่เป็นของผู้ใช้ และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งผู้ใช้ไปทำอะไรกับเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้เลย ซึ่งคำถามเหล่านี้สำคัญกับเขามากกว่าเรื่องอื่น ๆ ซะอีก ในขณะที่ Ethereum ก็เรียกเซิร์ฟเวอร์ว่าเป็น ‘ผู้ใช้’ ซะอีก ทีนี้เลยไม่เหลือข้อมูลเลยว่า แล้วถ้าเกิดมีผู้ใช้ หรือเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่น่าเชื่อถือมาโผล่ในเครือข่าย (ซึ่งน่าจะมีอีกเยอะแน่ ๆ) แล้วเราก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ใช้ที่เชื่อถือไม่ได้

ลองยกตัวอย่างนะ dApp ที่เขาได้ทำไว้ ไม่ว่าจะเป็น Autonomous Art หรือ First Derivative ที่จะเปิดบนคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือในเบราว์เซอร์ต่าง ๆ ทั้งคู่ก็ต้องมีการเข้าไปติดต่อกับบล็อกเชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขข้อมูลหรือแสดงสถานะ (ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่แก้แล้ว ประวัติการแก้ไข หรือกระทั่งการสร้างตราสารอนุพันธ์ของ NFT) ทั้งหมดนั่นในตอนนี้ ผู้ใช้ไม่สามารถทำได้เองเลยสักอย่าง เพราะว่าบล็อกเชนมันไม่สามารถอาศัยอยู่ในเบราว์เซอร์ของเรา ไม่ว่าจะในคอมพิวเตอร์ หรือในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นทางเลือกรองที่จะใช้เชื่อมต่อและสื่อสารกับตัวบล็อกเชนได้ ก็จะต้องทำผ่านโหนดที่กำลังทำงานแบบลอย ๆ ในเซิร์ฟเวอร์ที่ไหนสักแห่ง

อ้าว โลกที่บอกว่าไร้ศูนย์กลางก็มีเซิร์ฟเวอร์อีกแล้ว !

แต่อย่างที่เขาเคยบอกไว้ว่า ไม่มีใครอยากรันเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ที่พร้อมจะรันเซิร์ฟเวอร์ให้จึงรวมตัวกัน แล้วให้บริการเช่าเซิร์ฟเวอร์ ขาย API (Application Programming Interface – ช่องทางที่จะเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้กับเซิร์ฟเวอร์) ให้กับผู้พัฒนา dApps แถมยังมีฟีเจอร์ที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีก เช่นให้ผลการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ API ที่พัฒนาก้าวหน้าไปกว่า API พื้นฐานของ Ethereum ปกติ รวมถึงสร้างขึ้นเหนือ API ปกติด้วย แถมยังเข้าถึงประวัติการโอนถ่ายข้อมูลอีกต่างหาก ซึ่ง คิดว่ามันดูคุ้น ๆ บ้างไหมนะ ?

จนถึงตอนนี้ มีผู้ให้บริการหลัก ๆ อยู่ 2 เจ้าที่ให้บริการ API สำหรับการเชื่อมต่อกับบล็อกเชน ซึ่ง dApp เกือบทั้งหมด ไม่ใช้ Infura ก็ Alchemy เนี่ยแหละ แม้กระทั่งเมื่อเราเชื่อมต่อกระเป๋าเงินดิจิทัลของเรา เช่น MetaMask บน dApp ต่าง ๆ แล้วให้กระเป๋าเงินเราเชื่อมต่อกับบล็อกเชน ที่จริงแล้วเราแค่เชื่อมระหว่าง MetaMask ไปหา Infura นี่แหละ

ซึ่ง API ผ่านผู้ให้บริการพวกนี้เขาก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อตรวจสอบสถานะบล็อกเชนหรือความถูกต้องของคำตอบ ผลลัพธ์ไม่ได้ลงนามยืนยันความถูกต้อง หรือความปลอดภัยเลยด้วยซ้ำ แอปอย่าง Autonomous Art ส่งข้อมูลไปประมาณว่า “เฮ้ ผลลัพธ์ของฟังก์ชันมุมมองนี้ในสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) นี้คืออะไร” Alchemy หรือ Infura ตอบกลับด้วยชุดข้อมูล JSON (JavaScript Object Notation) ที่ระบุว่า “นี่คือผลลัพธ์” และแอปก็แสดงผลออกมา โดยไม่มีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติม

ทั้งหมดนี้ทำให้เขาประหลาดใจอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่มีการลงทุน ลงแรง และใช้เวลาไปจำนวนมาก ในการสร้างกลไกฉันทามติแบบกระจายอำนาจที่เชื่อถือได้ แต่ลูกค้าเกือบทั้งหมดที่ต้องการเข้าถึงระบบนี้ทำได้โดยเพียงแค่เชื่อถือผลลัพธ์จากทั้งสองบริษัท ที่ให้บริการ API โดยไม่มีการตรวจสอบเพิ่มเติมใด ๆ เลย ดูเหมือนว่านี่จะไม่ใช่การใช้งานที่ปลอดภัย และเป็นส่วนตัวเท่าไหร่เลยนะเนี่ย ลองนึกภาพว่าถ้าเราเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่านเบราว์เซอร์เช่น Google Chrome ข้อมูลทั้งหมดก็ต้องไหลผ่าน Google ก่อนที่จะส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง และให้มันส่งข้อมูลกลับมา Ethereum ตอนนี้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ประวัติการแก้ไข หรือเขียนเข้าไปยังบล็อกเชนตอนนี้ก็เป็นสาธารณะหมดแหละ แต่ว่าประวัติการอ่านที่น่าจะเป็นส่วนตัวมาก ๆ จากเกือบทุก dApps กลับถูกเข้าถึงได้โดยบริษัทเหล่านี้เลย

ผู้สนับสนุนการใช้บล็อกเชนอาจบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก หากมีแพลตฟอร์มรวมศูนย์ประเภทนี้ขึ้นมา เพราะสถานะนั้นมีอยู่ในบล็อกเชน ดังนั้นหากแพลตฟอร์มเหล่านี้ทำตัวไม่เหมาะสม ลูกค้าก็สามารถย้ายไปที่อื่นได้ อย่างไรก็ตาม โมซี่นั้นก็ได้โต้แย้งว่า นี่เป็นมุมมองที่เรียบง่ายมากเกินไป เกี่ยวกับไดนามิกที่ทำให้แพลตฟอร์มเป็นอย่างที่เป็นอยู่

เพื่อโต้แย้งกับแนวคิดนี้เขาจึงได้ลองทำการทดลองขึ้นมา

(อ่านต่อหน้า 2)

NFT ชิ้นแรกของโมซี่

NFT ที่เขาสร้างขึ้นมานั้นจะออกแนว NFT ดั้งเดิมซะมากกว่า คนส่วนมากมักจะนึกว่า NFT คือรูป หรือภาพวาดดิจิทัล แต่จริง ๆ แล้ว NFT ไม่ได้เก็บข้อมูลภาพเหล่านั้นบนบล็อกเชนหรอกนะ เพราะการจะส่งรูปทั้งรูปขึ้นไปบนบล็อกเชนนั้น มันต้องใช้ค่าแก๊สที่แพงมากจนเกินไป

เพราะงั้น แทนที่จะเก็บข้อมูลดิบ ๆ ตรง ๆ บนบล็อกเชน NFT เลยมักจะเป็น URL หรือ ลิงก์ที่จะชี้ไปที่ข้อมูลต่างหาก สิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจมากเกี่ยวกับมาตรฐานการเก็บ NFT บนลิงก์แบบนี้ คือไม่มีข้อผูกมัดในการแฮช หรือการแปลงข้อมูล สำหรับข้อมูลที่อยู่ใน URL เหล่านั้นเลย เมื่อดู NFT จำนวนมากในตลาดซื้อขายที่ได้รับความนิยมซึ่งมีราคาขายตั้งแต่หลักสิบ ร้อย หรือสูงถึงหลายล้านดอลลาร์เลย URL ของภาพพวกนั้นมักจะชี้ไปที่เครื่อง VPS บางตัวที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์ Apache อยู่ที่ไหนสักแห่ง ใครก็ตามที่เข้าถึงเครื่องนั้นได้ ใครก็ตามที่ซื้อชื่อโดเมนของ URL นั้นในอนาคต ก็สามารถเปลี่ยนภาพ ชื่อ คำอธิบาย ฯลฯ ของ NFT ชิ้นนั้นไปเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ตลอดเวลาเลย (ไม่ว่าเขาจะเป็นเจ้าของ Token ที่ซื้อมาหรือไม่ก็ตาม) ไม่มีอะไรในสเปกของ NFT นั้น ที่บอกคุณเลยว่ารูปภาพนั้น ‘ควร’ จะเป็นอะไร หรือแม้แต่อนุญาตให้คุณยืนยันได้ว่ารูปภาพใดเป็นรูปภาพที่ ‘ถูกต้อง’ กันแน่

ดังนั้น เพื่อเป็นการทดลอง โมซี่จึงได้สร้าง NFT ที่เปลี่ยนหน้าตาไป ขึ้นอยู่กับว่าใครกำลังดูอยู่ เนื่องจากเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการรูปภาพสามารถเลือกที่จะให้แสดงรูปภาพต่างๆ ตาม IP หรือ User Agent ของผู้ขอ อย่างเช่น NFT นี้จะเห็นได้แบบนึง บนเว็บไซต์ OpenSea และจะเห็นเป็นอีกแบบนึง บนเว็บไซต์ Rarible แต่ถ้าเกิดว่าคุณซื้อภาพนั้นไป แล้วเอามาเปิดในกระเป๋าเงินดิจิทัลของเรา มันจะแสดงภาพออกมาเป็นอิโมจิรูป ? ชิ้นใหญ่กลางภาพแทน สิ่งที่คุณประมูลไป ไม่ใช่สิ่งที่คุณได้ซะอย่างนั้น จริง ๆ แล้ว NFT นี้ไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติเลยนะ มันคือสเปก หรือ URL ของ NFT นั้นที่ถูกสร้างแตกต่างออกไปต่างหาก NFT ที่ขายกันแพง ๆ ตอนนี้ อาจจะกลายไปเป็นอิโมจิรูป ? เมื่อไหร่ก็ได้เลย โมซี่แค่ทำให้มันดูชัดเจนขึ้นมาเฉย ๆ แค่นั้นเอง

หลังจากผ่านไปประมาณสองถึงสามวันโดยไม่มีคำเตือนหรือคำอธิบายก่อนใด ๆ NFT ที่เขาทำเอาไว้นั้นถูกลบออกจาก OpenSea (ตลาดซื้อขาย NFT) ซะอย่างนั้น

เหตุผลในการลบที่ทาง OpenSeas แจ้งมานั้นบอกว่าเขาละเมิดข้อกำหนดในการใช้งานบางอย่าง แต่หลังจากอ่านข้อกำหนดแล้ว เขาก็ไม่ได้เห็นสิ่งใดที่ห้าม NFT ซึ่งเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ปรากฏ โดยพิจารณาจากที่ที่มันถูกมอง และเขาก็ได้อธิบายอย่างเปิดเผยในลักษณะนั้น

ที่เขาสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ พอ OpenSea ลบ NFT ของเขาออกจากระบบแล้ว กลายเป็นว่า NFT นั้นหายไปจากกระเป๋าของเขาด้วย แล้วมันเป็นไปได้ยังไงกัน นี่มัน Web 3.0 ที่ไร้ตัวกลางแล้วนะ

กระเป๋าเงินดิจิทัลเข้ารหัส เช่น MetaMask, Rainbow ฯลฯ นั้นเป็นกระเป๋าแบบ ‘ไม่มีการคุมขัง’ (กุญแจถูกเก็บไว้ที่ฝั่งลูกค้า) แต่ก็ยังมีปัญหาเดียวกันกับ dApps ของเขา นั่นก็คือ กระเป๋าเงินต้องทำงานบนอุปกรณ์ของผู้ใช้ หรือในเบราว์เซอร์อยู่ดี ในขณะเดียวกัน ethereum และบล็อกเชนอื่น ๆ ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่ามันเป็นเครือข่ายของแต่ละเพียร์ แต่ไม่ได้ออกแบบมาให้อุปกรณ์ หรือเบราว์เซอร์ใด ๆ เป็นหนึ่งในเพียร์เหล่านั้น

กระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง MetaMask ต้องทำหน้าที่พื้นฐานอย่างแสดงยอดเงินคงเหลือ ธุรกรรมล่าสุด และ NFT ของแต่ละผู้ใช้ เช่นเดียวกับสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การสร้างธุรกรรม การโต้ตอบกับ Smart Contract ฯลฯ ถ้าให้เล่าโดยย่อแล้ว MetaMask จำเป็นต้องโต้ตอบกับบล็อกเชน แต่บล็อกเชนถูกสร้างขึ้นโดยที่ลูกค้าอย่าง MetaMask ไม่สามารถโต้ตอบกับมันโดยตรงได้ MetaMask ทำได้แค่เรียก API ไปยังผู้ให้บริการ 3 เจ้า ที่รวมอยู่ในพื้นที่นี้เช่นเดียวกับ dApp ทั้ง 2 แอปของเขา

ให้อธิบายแบบลงลึกก็คือ MetaMask แสดงธุรกรรมที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ผ่านการเรียก API ไปยัง etherscan ดังนี้

GET https://api.etherscan.io/api?module=account&address=0x0208376c899fdaEbA530570c008C4323803AA9E8&offset=40&order=desc&action=txlist&tag=latest&page=1 HTTP/2.0

แสดงยอดเงินที่เหลืออยู่ผ่านการเรียก API ไปที่ Infura

POST https://mainnet.infura.io/v3/d039103314584a379e33c21fbe89b6cb HTTP/2.0

{
    "id": 2628746552039525,
    "jsonrpc": "2.0",
    "method": "eth_getBalance",
    "params": [
        "0x0208376c899fdaEbA530570c008C4323803AA9E8",
        "latest"
    ]
}

แล้วยังแสดงภาพ NFT ผ่านการเรียก API ไปที่ OpenSea อีกต่างหาก

GET https://api.opensea.io/api/v1/assets?owner=0x0208376c899fdaEbA530570c008C4323803AA9E8&offset=0&limit=50 HTTP/2.0

เหมือนกันกับ dApp ของเขานี่แหละ คือการเรียกข้อมูลพวกนี้ ไม่ต้องมีการล็อกอิน หรือเข้ารหัสใด ๆ เลย แล้วก็ไม่มีการลงชื่อทางดิจิทัลใด ๆ เพื่อที่จะพิสูจน์ภายหลังว่ามีการปลอมแปลงเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ พวกเขานำการเชื่อมต่อเดิมมาใช้ซ้ำ ตั๋วเซสชัน TLS หรืออะไรทำนองนั้น สำหรับบัญชีทั้งหมดในกระเป๋าเงินของแต่ละคน ดังนั้นหากคุณจัดการหลายบัญชีในกระเป๋าเงินของคุณเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว หรือสร้างตัวตนอีกตัวตนขึ้นมาแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็จะรู้ว่าทุกบัญชีที่คุณเข้าถึงไปนั้น มีการเชื่อมโยงกัน

แล้วจริง ๆ MetaMask ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรมากหรอก ที่มันทำก็แค่แสดงข้อมูลที่ได้รับจากเหล่า API ที่มีตัวกลางเหล่านี้ แล้วปัญหานี้ก็ไม่ได้เป็นกับ MetaMask เจ้าเดียวนะ เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะกระเป๋าเงินดิจิทัลเจ้าไหนก็เป็นแบบนี้แทบทั้งหมด

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการสรุปว่าทำไม NFT ของเขาถึงได้หายไปจากทั้งบนเว็บ OpenSea และกระเป๋าเงินของเขาเองได้ เพราะจริง ๆ แล้วการที่ NFT ของเขาอยู่บนบล็อกเชนที่ไหนสักแห่งนั้นไม่ได้มีผลต่อการมีอยู่หรือหายไปของ NFT เขาเลย จริง ๆ แล้วกระเป๋าเงินของเขา (หรืออย่างอื่นที่กำลังจะใช้ในอนาคต) นั้นแค่กำลังใช้ API ของคนกลางอย่าง OpenSea เพื่อแสดงผล NFT ที่เป็นเจ้าของอยู่ ทำให้พอโดนลบไปแล้วภาพนั้นเลยหายไปด้วยเลย

แปลว่าโลกของ Web 3.0 ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงงั้นหรอ ?

หลังจากที่โมซี่ได้พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Web 1.0 และ 2.0 แล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่กำลังจะเป็น Web 3.0 นั้นดูจะยังไม่สามารถหลุดพ้นกับดักของ Web 1.0 ได้เลย คือการที่จะให้สิ่งต่าง ๆ ทำงานได้ดีนั้น มันต้องทำผ่านแพลตฟอร์มอยู่ดี และเราก็ยังต้องพึ่งคนกลางในการทำให้ระบบ (ที่เรียกกันว่าบล็อกเชน) ทำงานได้อยู่ดี อย่างเช่น Infura, OpenSea, Coinbase หรือ Etherscan

เช่นเดียวกันกับสมัยก่อน มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ นั้นพัฒนาไปอย่างช้ามาก ๆ ตอนที่โมซี่กำลังพัฒนา First Derivative ขึ้นมา เขาก็มีแนวคิดว่า คงจะดีถ้าอนุพันธ์ของการ mint ตราสารเหล่านั้นได้ราคาเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าอ้างอิง แต่จริง ๆ แล้วทั้งหมดนั้นถูกกำหนดโดย OpenSea ต่างหาก เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่บนบล็อกเชน แต่เป็นการเก็บไว้ใน API ของ OpenSea เอง ผู้คนต่างตื่นเต้นเรื่องลิขสิทธิ์ของ NFT เพราะว่าลิขสิทธิ์นั้นจะได้สร้างผลประโยชน์ให้กับศิลปินที่สร้างมันขึ้นมา แต่ที่จริงแล้ว ค่าลิขสิทธิ์ไม่ได้ระบุไว้ในมาตรฐาน ERC-721 (มาตรฐานที่จะทำให้ข้อมูลนั้น ๆ มีความเฉพาะตัวบนพื้นฐานของ Ethereum) และมันสายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงมัน ดังนั้น OpenSea จึงมีวิธีการกำหนดค่าค่าลิขสิทธิ์ในพื้นที่ Web 2.0 ของตัวเอง กลายเป็นว่าการปรับตัว วนซ้ำอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์นั้น ได้แซงหน้าโปรโตคอลแบบกระจายและรวมการควบคุมเข้ากับแพลตฟอร์มซะแล้ว

คือด้วยความที่แพลตฟอร์มนั้นมีการพัฒนาโปรโตคอลหรือมาตรฐานได้เร็วกว่า มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่แทนที่เราจะเห็น NFT ในกระเป๋าของเราเอง ในมุมมองของแพลตฟอร์มกลางที่กำลังมอง NFT ของเราอยู่ (ผ่าน API ของเขา) เนื่องจากมันยุ่งอยู่กับการวนซ้ำแพลตฟอร์มเกินกว่าที่เป็นไปได้อย่างเคร่งครัดกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้/ยากต่อการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน

อารมณ์เดียวกับอีเมลนี่แหละ เพราะไม่ว่าเราจะสร้างเซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวได้ดีแค่ไหน พอเราส่งอีเมลไปหาใครสักคน อีเมลที่รับหรือส่งก็น่าจะต้องมาจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่าง Gmail หรือ Outlook อยู่ดี พอเทียบกับ NFT แล้ว ถ้าเกิดว่าเราสร้างตลาด NFT ของเราเอง ผู้คนที่ซื้อ NFT ชิ้นนั้น ๆ ไปเปิดในกระเป๋าเงินของเราก็จะเห็นได้ผ่าน API ของ OpenSea อยู่ดีนี่แหละ

ซึ่งที่จริงแล้วทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของ OpenSea เลยนะ เพราะจริง ๆ แล้ว openSea ก็แค่อยากพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ ความจริงแล้วเราควรจะคาดเดาได้ด้วยซ้ำว่าเรื่องแบบนี้น่าจะต้องเกิดขึ้น และด้วยความที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบการออกแบบที่ให้สิ่งที่เราต้องการนั้น ได้มาผ่านวิธีที่มันถูกจัดระเบียบ สิ่งที่โมซี่กังวลก็คือ เหล่าผู้ใช้งาน Web 3.0 นั้นคาดหวังผลลัพธ์อื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นเป็นประจักษ์อยู่แล้ว

เรียกว่ามันยังเป็น ‘ช่วงเริ่มต้น’ จะดีกว่า..?

คำว่า ” มันยังเป็นช่วงเริ่มต้น” เป็นข้อยกเว้นทั่วไปที่เขาได้เห็นจากผู้คนในพื้นที่ Web 3.0 เมื่อพูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางที ความล้มเหลวของสกุลเงินดิจิทัลในการขยายขนาดเกินกว่าที่ถูกออกแบบมาทางวิศวกรรมเนี่ยแหละ คือสิ่งที่ช่วยให้พิจารณาว่าตอนนี้มันยัง ‘เร็ว’ เกินไป แต่ตามความเป็นจริงแล้วเรื่องพวกนี้มีมานานกว่า 10 ปีแล้วด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่จะยังเป็น ‘ช่วงเริ่มต้น’ อยู่จริง ๆ เราก็ไม่ควรที่จะต้องมานั่งปลอบใจว่านี่มันยังเร็วไปเลย ที่จริงเราควรต้องทำตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่าเราควรสังเกตว่าตั้งแต่แรกแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้มักจะมุ่งสู่การรวมศูนย์ผ่านแพลตฟอร์มแทบจะทันทีเพื่อให้มันเกิดขึ้นจริงได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ตระหนักได้ว่าสิ่งนี้มีแทบจะไม่มีความรู้สึกเชิงลบต่อผลกระทบต่อความเร็วของอีโคซิสเต็มเลย และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ หรือสนใจด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้น นี่อาจทำให้เกิดข้อสรุปว่าการกระจายอำนาจเองไม่ได้มีความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน หรือมีความสำคัญต่อคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้ด้วยซ้ำ ซึ่งการกระจายอำนาจที่ผู้คนต้องการ คือความ ‘ไร้ตัวกลาง’ ขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นได้ (ให้รู้สึกว่ามันดูไร้ตัวกลางดีจัง) และหากไม่ได้พิจารณาอย่างมีสติมากพอแล้ว สิ่งเหล่านี้จะผลักดันเราให้ไปไกลกว่าเดิม มากกว่าที่จะเข้าใกล้ ‘โลกที่ไร้ตัวกลางอย่างแท้จริง’ มากขึ้นเมื่อวันเวลาเริ่มจะไม่ ‘เร็วเกินไป’ ซะแล้ว

แค่ความคิดสร้างสรรค์อาจจะยังไม่เพียงพอ

จนถึงตอนนี้ โมซี่ได้เพียงแค่หย่อนเท้าเข้าไปในโลกของ Web 3.0 เท่านั้น และได้มองมันผ่านแว่นตาของโปรเจกต์เล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่เขาทำไว้ แต่จริง ๆ เขาก็พอเข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงมองว่าอีโคซิสเต็มของ Web 3.0 ถึงได้ดูดีมากขนาดนั้น เขาไม่คิดว่ามันอยู่บนวิถีทางที่จะนำพาเราออกจากแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ เขาไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเทคโนโลยีโดยพื้นฐาน และเขาก็คิดว่าเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวนั้นต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตแล้วด้วย (ซึ่งค่อนข้างต่ำมากเลยทีเดียว) แต่สุดท้ายแล้วตัวเขาเองก็ยังคงตื่นเต้นที่จะก้าวเข้าสู่โลกใหม่ และพัฒนาแอปสำหรับ Web 3.0 แบบนี้ เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ค่อนข้างใหม่เลยสำหรับเนิร์ดจ๋า ๆ เช่นเขา และนั่นก็ได้สร้างพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ และการสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ที่ค่อนข้างชวนให้นึกถึงยุคอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ๆ อยู่เหมือนกัน น่าแปลกที่ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์นั้นอาจเกิดจากข้อจำกัดที่ทำให้ Web 3.0 ดูน่าอึดอัดมาก เขาเองก็ได้แต่หวังว่าความคิดสร้างสรรค์และการสำรวจที่ได้ทำลงไป จะมีผลลัพธ์ในเชิงบวก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันทั้งหมดของอินเทอร์เน็ต (เหมือนกับที่ Web 1.0 กลายเป็น 2.0 แล้วมีข้อจำกัดที่ทำให้อยากสร้าง Web 3.0) เกิดขึ้นอีก

ถ้าเกิดว่าอยากที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและเทคโนโลยี โมซี่ก็ได้คิดไว้ว่าเราควรที่จะต้องทำมันอย่างมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ให้อธิบายความคิดง่าย ๆ ก็ตามนี้เลย :

  • เราควรยอมรับสมมติฐานที่ว่าผู้คนนั้น ไม่อยากรันเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง โดยการออกแบบระบบที่สามารถกระจายความไว้วางใจโดยไม่ต้องกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าจะต้องมีสถาปัตยกรรมที่คาดการณ์และยอมรับผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ และเซิร์ฟเวอร์แบบรวมศูนย์ แต่ใช้การเข้ารหัส (แทนที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน) เพื่อกระจายความไว้วางใจแทน สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับเขาเกี่ยวกับ Web 3.0 ก็คือ แม้ว่ามันจะถูกสร้างขึ้นบนความเป็น ‘คริปโท (เข้ารหัส)’ ก็ตาม ดูเหมือนว่าตอนนี้ แอปพวกนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสเพียงเล็กน้อยแค่นั้นเอง !
  • เราควรพยายามลดภาระในการสร้างซอฟต์แวร์ให้มันน้อยลงบ้าง ในตอนนี้ ซอฟต์แวร์หลายชิ้นนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังคนมหาศาลในการสร้างซอฟต์แวร์ชิ้นนึงขึ้นมา แม้กระทั่งแอปเล็ก ๆ ง่าย ๆ ก็แทบจะต้องใช้คนจำนวนมาก ที่ต้องมานั่งหน้าคอมพิวเตอร์ 8 ชั่วโมงต่อวัน ทุก ๆ วัน คือแต่ก่อนมันไม่ใช่แบบนี้เลยนะ เพราะแต่ก่อนถ้ามีคนสัก 50 คนมาช่วยกันทำซอฟต์แวร์ แบบนั้นไม่ได้เรียกว่า ‘กลุ่มคนจำนวนน้อย ๆ ‘ เลย คือตราบใดที่ซอฟต์แวร์ต้องใช้การลงทุนลงแรงมากขนาดนี้ เขาคิดว่ามันมีแนวโน้มที่จะให้บริการที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนที่นั่งอยู่ในห้องนั้นทุกวัน มากกว่าสิ่งที่อาจจะเป็นเป้าหมายที่กว้างขึ้น เขาว่าการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และเทคโนโลยีนั้น ควรจะต้องรวมถึงการทำให้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ นั้นพัฒนาได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ตลอดเวลาที่เขาพัฒนาซอฟต์แวร์มานั้น แทบจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันเลย น่าเสียดายที่ระบบที่กระจายศูนย์กลางแบบนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นซับซ้อนและยากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

(ผู้เขียนขออธิบายข้อนี้เพิ่มเติม เหมือนกับว่า การพัฒนา Web 3.0 นั้นลำบากมาก เพราะต้องเขียนทุกอย่างใหม่หมด และต้องคำนึงถึงการไร้ศูนย์กลาง ในขณะที่ Web 2.0 แบบเดิม ๆ นั้นพัฒนาได้ง่ายกว่ามาก เพราะมีตัวกลางช่วยทำซอฟต์แวร์ในการพัฒนาให้แล้ว อย่างการเขียนเว็บพื้นฐานบน HTML5, Bootstrap เช่นเขียนเว็บแบบไม่ต้องมีโค้ดผ่าน WordPress หรือ Joomla เป็นต้น)

ทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่แม้จะเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากผู้ที่สนใจเดิม และอาจจะทำให้ไม่ถูกใจใครบางคนขึ้นได้ แต่การนำเสนออีกแนวคิดหนึ่งนี้ จะช่วยให้การพัฒนามาตรฐานเว็บไซต์ที่มีอยู่นั้น ไร้ตัวกลางอย่างแท้จริง และออกจากช่วงที่มันยัง ‘เร็วเกินไป’ แบบนี้ได้สักที

อ้างอิง

ขอขอบคุณบทความและแนวคิดของ โมซี่ มาร์ลินสปิเก
siamblockchain

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส