ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ เราน่าจะได้เห็นโพสต์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับรีวิวแกดเจ็ตที่หลายคนน่าจะมีติดบ้านกันอย่าง แฟลชไดร์ฟ (Flashdrive) ที่เก็บข้อมูลขนาดพกพา ที่หน้าแพ็กเกจของแฟลชไดร์ฟจะเขียนว่า 16GB, 32GB, 64GB หรือมากกว่านั้น แต่พอเสียบไปในเครื่องแล้ว กลับได้ความจุไม่เท่ากับที่โฆษณาซะอย่างนั้น !? เช่นซื้อความจุ 64 GB แต่ในเครื่องแสดงแค่ 60 GB เท่านั้น มันเกิดขึ้นจากอะไร เราโดนผู้ผลิตโกงหรอ ? วันนี้เราจะมาอธิบายการทำงานของความจุแฟลชไดร์ฟพวกนี้กันครับ

ที่เก็บข้อมูลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแฟลชไดร์ฟ, SD Card, ฮาร์ดดิสก์ หรือแม้กระทั่งเอสเอสดี (SSD) ต่างก็มีหน่วยในการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน นั่นคือ ไบต์ หรือ byte นั่นเองครับ แต่ว่าวิธีการคำนวณขนาดความจุของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันนะ !

โดยผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ รวมถึงผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป ก็จะใช้เลขฐานสิบในการคำนวณความจุของฮาร์ดดิสก์ และเรียกปริมาณของไบต์ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘คำอุปสรรคเอสไอ‘ ซึ่งก็จะทำให้มีคำนำหน้าเพื่อเรียกเป็นตัวคูณเลขฐานสิบไป อย่างเช่น

  • 1 KB (กิโลไบต์) = 1,000 bytes
  • 1 MB (เมกะไบต์) = 1,000,000 bytes (1 ล้านไบต์)
  • 1 GB (กิกะไบต์) = 1,000,000,000 bytes (1 พันล้านไบต์)
  • 1 TB (เทราไบต์) = 1,000,000,000,000 bytes (1 ล้านล้านไบต์)

ในขณะที่ซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีวิธีคำนวณที่ต่างออกไป โดยคำนวณเป็นเลขฐานสองแทน ซึ่งมาจากการคำนวณเลขยกกำลังที่มีตัวตั้งต้นเป็นเลข 2 นั่นเอง ดังนั้นปริมาณของไบต์ที่ใหญ่ขึ้นนั้นจึงมีปริมาณที่ต่างออกไปซะอย่างนั้น เมื่อคอมพิวเตอร์คำนวณขนาดของไบต์จึงต่างออกไป อย่างเช่น

  • 1 KB = 1,024 bytes (มาจากเลข 2^10 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้ 1,000 มากที่สุด)
  • 1 MB = 1,048,576 bytes (ซึ่งมาจากเลข 2^20 หรือ 1024^2 ซึ่งเป็นเลขที่ใกล้ 1,000,000 มากที่สุดเช่นกัน)
  • 1 GB = 1,073,741,824 bytes (มาจากเลข 2^30 หรือ 1024^3 ซึ่งใกล้ 1 พันล้านมากที่สุด)
  • 1 TB = 1,099,511,627,776 bytes (มาจากเลข 2^40 หรือ 1024^4 ซึ่งใกล้ 1 ล้านล้านมากที่สุดเช่นกัน)

แล้วพอการกำหนดปริมาณไบต์ของทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน ความจุที่แสดงจริงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์จึงไม่เท่ากันด้วยนั่นเอง ความจุที่ได้มานั้นมีปริมาณเท่าเดิม แต่โดนแปลงหน่วยแล้ว จึงเหลือแค่เท่าที่เห็นในคอมพิวเตอร์นั่นเองครับ ส่วนวิธีการคำนวณก็ไม่ได้ยากมากจนเกินไปครับ วิธีการตามสูตรด้านล่างเลย

ดังนั้นถ้าสมมติว่า เราอยากทราบความจุที่แท้จริงของแฟลชไดร์ฟความจุ 64 GB ก็จะนำไปเข้าตามสูตรที่บอกไว้ด้านบน

64 X 1,000,000,000 ÷ 1,073,741,824 = 59.60 GB !

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมผู้ผลิตกับคอมพิวเตอร์ถึงไม่ใช้หน่วยเดียวกันตั้งแต่แรกล่ะ ? นั่นก็เพราะว่าผู้ผลิต หรืออย่างเรา ๆ เองนั้นใช้หน่วยวัดต่าง ๆ ในระบบ SI (หน่วยฐานเอสไอ) เลยทำให้แต่ละหน่วยที่ใหญ่ขึ้นนั้นใช้ คำอุปสรรคเอสไอ ไปด้วยตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในขณะที่ในคอมพิวเตอร์นั้นใช้เลขฐานสองในการคำนวณ ดังนั้นคำนำหน้าของตัวเลขที่เราเห็น ๆ กันในคอมพิวเตอร์นี้จึงเป็น คำพูดหน้าไบนารี (Binary Prefix) นั่นเองครับ วิธีการเรียกก็ไม่เหมือนกันนะ ! จะเรียกเป็น Kibibyte, Mebibyte และ Gibibyte มีตัวย่อเป็น KiB, MiB และ GiB ซึ่งก็จะมีปริมาณตามที่ได้บอกไว้ในย่อหน้าก่อน ๆ นั่นเอง

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ไขข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเวลาซื้อแฟลชไดร์ฟ หรือ External Harddisk มาเสียบเข้าเครื่องแล้วความจุของแฟลชไดร์ฟ หรือ External Harddisk ถึงไม่ตรงนั่นเอง เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องความจุหายไปแต่อย่างใด มันไม่ได้หายไปไหน มันเพียงแค่ถูกคำนวณไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

อ้างอิง

makeuseof.com
isecosmetic.com
gbmb.org
rmutphysics.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส