หลักจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA หรือ เทอร์รา คลาสสิค (Terra Classic) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ทาง Terraform Labs ก็ได้มีการเปิดตัวบล็อกเชนใหม่ขึ้น เพื่อพยายามจะคืนชีพเทอร์ราขึ้นมาอีกครั้ง โดยนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากบล็อกเชนเก่าจะได้ Airdrop หรือการแจกจ่ายเหรียญสกุลใหม่ฟรี โดยเหรียญใหม่นี้มีว่า LUNA 2.0

เรื่องนี้อาจเป็นข่าวดีของนักลงทุนทั่วโลก แต่อาจไม่ใช่สำหรับนักลงทุนคริปโทในอินเดีย เนื่องจากกฎหมายคริปโทเคอร์เรนซีของอินเดียนั้นค่อนข้างจะสุดโต่ง และ ‘ดูเหมือน’ เป็นการลงโทษคนที่ลงทุนในคริปโทมากกว่า โดยมีการเรียกเก็บภาษีรายได้จากคริปโทเป็นอัตราคงที่ที่ 30%

เจย์ เซย์ตา (Jay Sayta) นักกฎหมายด้านเทคโนโลยีและเกม เปิดเผยว่า ถึงแม้กฎหมายคริปโทเคอร์เรนซีของอินเดียจะไม่มีการระบุที่ชัดเจนสำหรับกรณี Airdrop แต่พวกเขา (รัฐบาล) ก็มักจะใช้มุมมองที่สุดโต่งที่สุดในการเรียกเก็บภาษีคริปโท ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กรณี Airdrop อาจถูกประเมินว่าเป็นการให้ของขวัญ และนักลงทุนจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีตามอัตรารายได้ทั่วไปของผู้ได้รับนั่นเอง

กรณีที่เลวร้ายที่สุด

อ้างอิงจากการรายงานบลูมเบิร์ก (Bloomberg) กฎหมายคริปโทเคอร์เรนซีล่าสุดของอินเดีย ได้แบ่งการจัดเก็บภาษีเป็น 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกคือเมื่อได้รับ Airdrop มา ผู้ได้รับจะต้องเสียภาษีตามอัตรารายได้หรืออัตราคงที่ 30% ตามมูลค่าของเหรียญ ณ เวลาที่ได้รับ Airdrop และครั้งที่ 2 คือเมื่อผู้ได้รับขายเหรียญออกไปในมูลค่าที่เพิ่มขึ้น โดยกำไรที่ได้จากการขายเหรียญจะถูกเก็บภาษีที่อัตราคงที่ 30% อีกครั้งหนึ่ง

กรณีที่เลวร้ายที่สุดของนักลงทุนอินเดียคือ เหรียญที่ได้รับ Airdrop มามีมูลค่าลดลงมากเมื่อขายไป นั่นหมายความว่าจากเหรียญ LUNA 2.0 ที่มีจุดประสงค์ในการชดเชยความเสียหายจากเทอร์ราครั้งแรก กลับทำให้ผู้ได้รับ Airdrop ในอินเดียขาดทุนมากกว่าเดิมเสียอีก เพราะต้องจ่ายภาษีออกจากกระเป๋าตัวเองไปครั้งแรกแล้วในราคาเหรียญที่สูงกว่า

ทั้งนี้ ราคาเหรียญ LUNA 2.0 ในปัจจุบันอยู่ที่ 5.17 เหรียญ ซึ่งราคาได้ร่วงลงมาจากราคาเริ่มต้นที่ 19.53 เหรียญ หรือลดลงกว่า 73% (ราคา ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 18.56 น. จาก CoinMarketCap)

ที่มา: Bloomberg

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส