วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ทีมผู้พัฒนาเหรียญอีเธอเรียม (Ethereum) ได้บอกกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่าการทดสอบระบบ Proof-of-Stake ของอีเธอเรียมผ่านไปได้ด้วยดี และนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเหรียญคริปโทฯ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
อีเธอเรียมได้ลงมือพัฒนาการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานจาก Proof-of-Work ที่ใช้นักขุดในการยืนยันธุรกรรมและสร้างเหรียญขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็น Proof-of-Stake ที่ใช้การวางสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อแลกกับการยืนยันธุรกรรมและรับเหรียญใหม่แทน
ซึ่งปัญหาหลักที่ระบบเก่าอย่าง Proof-of-Work มักจะโดนกล่าวหาอยู่บ่อย ๆ คือการสิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ไขสมการและตรวจสอบยืนยันธุรกรรม ซึ่งในระบบ Proof-of-Stake นี้ จะใช้พลังงานในการตรวจสอบธุรกรรมน้อยกว่ามากและรวดเร็วกว่าด้วย
การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเลื่อนมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากมีปัญหาใหญ่หลายอย่างที่ต้องแก้ไข ก่อนการนำระบบไปใช้จริงบนเครือข่ายหลักที่ทำงานอยู่
โดยระบบจะมี ‘เครือข่ายทดลอง’ หรือ Testnet ไว้ สำหรับให้ผู้พัฒนาได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ให้มั่นใจก่อนที่จะเริ่มนำไปใช้บนเครือข่ายจริง หรือ Mainnet ซึ่งการทดสอบครั้งล่าสุดบนเครือข่ายทดลองที่ชื่อว่า ‘บีคอน’ (Beacon) นั้นผ่านไปได้ด้วยดี และช่วยยืนยันว่าการเปลี่ยนระบบเป็น Proof-of-Stake จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ และการควบรวมระบบใหม่กับระบบเก่านั้นจะได้ผล
ออสตัน บันเซน (Auston Bunsen) ผู้ร่วมก่อตั้งควิกโนด (QuickNode) ซึ่งให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแก่นักพัฒนาบล็อกเชนต่าง ๆ กล่าวว่า “การทดสอบไม่มีข้อผิดพลาดร้ายแรง และทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นอย่างที่มันควรจะเป็น”
บันเซนยังบอกอีกว่า สามารถทดสอบการควบรวมระบบเก่าที่เป็น Proof-of-Work เข้ากับระบบใหม่ที่เป็น Proof-of-Stake ได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าการอัปเกรดเครือข่ายหลักในช่วงปลายปีนี้จะผ่านไปได้ด้วยดีเช่นกัน
ทิม เบโค (Tim Beiko) ผู้ประสานงานสำหรับการพัฒนาอีเธอเรียมบอกว่า หนึ่งในปัญหาหลักก่อนหน้านี้คือการเปลี่ยนเป็น Proof-of-Stake จะทำให้ความเป็นการกระจายศูนย์กลาง (Decentralization) ของอีเธอเรียมลดลง แต่พวกเขาแก้ไขมันได้แล้วในเครือข่ายทดลอง
เบโคกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจสอบธุรกรรมต้องวางสินทรัพย์ค้ำประกันถึง 1,500 อีเธอเรียม หรือราว 90 ล้านบาท (อ้างอิงราคาอีเธอเรียมที่ 60,000 บาท) แต่ตอนนี้สามารถลดลงเหลือแค่ 32 อีเธอเรียม หรือราว 2,000,000 บาท (อ้างอิงราคาอีเธอเรียมที่ 60,000 บาท) เพื่อเข้าใช้งานเป็นผู้ตรวจสอบธุรกิจในระบบ Proof-of-Stake
นอกจากนี้ เบโคยังย้ำอีกว่า “ผู้ใช้งานไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรทั้งสิ้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกเสียจากว่าต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม และการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีการออกเหรียญอีเธอเรียมตัวใหม่อย่างแน่นอน”
อ่านเพิ่มเติม: Ethereum 2.0 จะรวมร่างกับเวอร์ชันแรก ให้เหลือแค่ชื่อ Ethereum เท่านั้น
ที่มา: CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส