สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าแกร็บ (Grab) บริษัทสตาร์ตอัปจากสิงคโปร์ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารและรับ-ส่งผู้โดยสารที่ได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มขายข้อมูลการทำแผนที่ให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจการทำแผนที่ดิจิทัลแข่งกับกูเกิล (Google) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่
แกร็บประกาศว่า จะอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยี, ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และบริการโทรคมนาคม เข้าถึงข้อมูลการทำแผนที่ที่แกร็บเก็บรวบรวมได้จากคนขับรถส่งอาหาร, การรับ-ส่งผู้โดยสาร และผู้ใช้แพลตฟอร์มของแกร็บได้ โดยมองว่าธุรกิจให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลของตนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 34,500 ล้านบาท ภายในปี 2025 ส่วนค่าบริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลของแกร็บยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมา
ตัน โฮย หลิง (Tan Hooi Ling) ผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บกล่าวว่า “ธุรกิจแอปใหญ่ ๆ ในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการทำแผนที่ที่มีความแม่นยำสูง เราจึงเปลี่ยนศักยภาพด้านการทำแผนที่ดิจิทัลของเราให้กลายเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากขึ้น”
ปัจจุบัน บริษัทที่ครองตลาดการทำแผนที่ดิจิทัลรายใหญ่ของตลาดมีทั้งกูเกิลและบริษัทจากเนเธอร์แลนด์อย่างทอมทอม (TomTom) ที่มีฐานข้อมูลแผนที่และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ทั่วโลกอยู่แล้ว แต่แกร็บมั่นใจว่าตนมีข้อได้เปรียบเรื่องการเก็บข้อมูลแผนที่จาก 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การทำแผนที่ของแกร็บอ้างอิงข้อมูลแบบเรียลไทม์จากคนขับที่เป็นพันธมิตรกับแกร็บ รวมถึงภาพที่เก็บจากกล้องที่ติดอยู่บนหมวกกันน็อกของผู้ขับขี่ ซึ่งจะเก็บข้อมูลบนท้องถนนอย่างละเอียด ประกอบกับการปักหมุดตำแหน่งของผู้ใช้ที่อัปเดตได้แบบเรียลไทม์โดยอ้างอิงจากข้อมูลของผู้ใช้เอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลที่มีความแม่นยำ โดยแกร็บเริ่มเก็บข้อมูลการทำแผนที่มาตั้งแต่ปี 2017 และได้เก็บข้อมูลแผนที่ได้มากถึง 33 ล้านจุดแล้วในตอนนี้
ที่มา: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส