เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple กล่าวในงานประชุม TIME100 Summit 2022 ถึงความกังวลของเขาเกี่ยวกับการที่บริษัทต่าง ๆ เก็บข้อมูลของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมได้ในระยะยาว
เดิมซีอีโอของ Apple เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยเรื่องการติดตามข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว และมักจะวิจารณ์บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในเรื่องนี้อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ Apple จึงให้ความสำคัญด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างมาก เขากล่าวว่าการเก็บข้อมูลลูกค้าตลอดเวลาอาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในอนาคต และทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเปลี่ยนไป
เมื่อเรารู้สึกว่าโดนจับตาอยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนไป เราจะลงมือทำอะไรน้อยลง คิดน้อยลง ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และหักห้ามตัวเองมากขึ้น
ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขารู้ตัวว่ากำลังถูกจับตามอง เช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 แสดงให้เห็นว่า มีคนโกงข้อสอบน้อยลงอย่างมาก เมื่อรู้ว่ามีกล้องวงจรปิด และผลการสำรวจในปี 2019 พบว่าคนจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในที่ทำงาน ถ้ารู้ตัวว่ากำลังถูกจับตามองอยู่
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างให้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ได้มีการเก็บข้อมูลลูกค้าไปใช้อยู่เสมอ เช่น Meta (Facebook เดิม) เคยโดนค่าปรับถึง 650 ล้านเหรียญ (ราว 22,600 ล้านบาท) จากการที่แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการจดจำใบหน้าผู้ใช้ โดยไม่ได้ขอความยินยอมก่อน ส่วน Google ก็เคยมีรายงานว่าเก็บข้อมูลลูกค้า เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และประวัติการเข้าเว็บไซต์ จากทุกแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น Gmail, Google Docs หรือเครื่องมือค้นหาอย่าง Google Search เอง
แม้แต่บริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่าง Apple เองก็เคยมีปัญหาด้านนี้ จากการเก็บข้อมูลตัวอย่างเสียงผู้ใช้งานจากระบบสมาร์ตโฮมของพวกเขา ซึ่ง Google และ Alexa ของ Amazon ก็โดนหางเลขไปด้วย โดยภายหลัง Google และ Amazon ก็ได้เพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้งานเลือกปิดระบบเก็บตัวอย่างเสียงได้ ส่วน Apple ก็ยกเลิกการเก็บตัวอย่างเสียงจาก Siri ทั้งหมดออกไป
ทิม คุก ซีอีโอของ Apple กล่าวว่าการกระทำแบบนี้ยังไม่สามารถเห็นข้อสรุปได้ว่าจะจบลงแบบไหน แต่เขายังคง “มองโลกในแง่ดี” และเชื่อว่าในอนาคตบริษัทต่าง ๆ จะเคารพการเก็บข้อมูลของลูกค้ามากขึ้น โดยไม่ได้ระบุว่ามาจากการเคารพสิทธิส่วนบุคคลหรือการถูกบังคับโดยกฎหมาย
ที่มา: CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส