Clickbait (คลิก-เบท) เป็นคำที่ผสมกันระหว่างคำว่า Click (การกด) และ Bait (สิ่งล่อใจ) เพราะสมัยนี้เป็นโลกแห่งยุคอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลหลากหลายรูปแบบ ไม่แปลกที่หลายคนจะเกาะกระแสเรื่องราวเหล่านั้นเพื่อเพิ่มยอดไลค์ ยอดอ่านให้กับตัวเอง และเป็นธรรมดาที่เมื่อข่าวหรือกระแสอะไรที่มีคนสนใจมาก การแสวงหาผลประโยชน์ก็จะพุ่งเป้ามาที่จุด ๆ นั้นทันที การเขียนข่าวโดยโปรยหัวแบบ Clickbait จึงเกิดขึ้น นั่นเป็นการกระตุ้นต่อมความสงสัยบวกกับความอยากรู้ของเรา ทำให้เราจำต้องกดเข้าไปในข่าวนั้น ๆ แต่พอกดเข้าไปแล้ว ก็ไม่พบความน่าตื่นเต้นและไม่ได้เป็นไปตามที่หัวข้อข่าวขึ้นแต่อย่างใด (เปลืองเน็ตไปอีกอ่ะ ฮือฮือ!!)
ดังนั้นเพื่อเป็นการดักทางเพจต่าง ๆ ที่ชอบนำเสนอข่าวที่มีหัวข้อส่วนใหญ่เป็น Clickbait Facebook จึงประกาศเพิ่มมาตรการลดการแสดงเว็บไซต์หรือข่าวที่เน้นไปทาง clickbait บน timeline ของเรา โดยจะวิเคราะห์หัวข้อข่าวนั้น ๆ ว่ามีการปิดบังข้อมูลที่ควรบอกให้คนอ่านได้รับรู้ หรือเป็นหัวข่าวที่ชี้นำให้เข้าใจผิดหรือเปล่า!!
การวิเคราะห์การพาดหัวข่าวแบบ Clickbait นี้เป็นคล้ายกับการจับสแปมในอีเมล มักจับในรูปแบบของประโยคที่คล้าย ๆ กัน จากนั้นทาง Facebook จะหาเว็บต้นทางและเพจที่โพสต์หัวข้อมีแนวโน้มแบบ clickbait เช่นนี้บ่อย ๆ และเมื่อพบและมีข้อมูลมากพอ เว็บหรือเพจเหล่านั้นจะต้องถูกลงโทษด้วยการแสดงผลในพื้นที่ด้านล่าง timeline ลงไป ทำให้คนเห็นข่าวนั้น ๆ ได้น้อยลง ระบบนี้จะปรับตัวไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากทางเว็บหรือเพจนั้น ๆ หยุดหรือเปลี่ยนการโพสต์หัวข้อข่าวไปเป็นแบบที่ตรงเงื่อนไขของทาง Facebook การตั้งค่าก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง (แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าระบบนี้จะรองรับการกรองข่าวภาษาไทยได้หรือเปล่านะจ๊ะ ต้องตามลุ้นเอา)
ที่มา : newsroom.fb.com