เรย์มอนด์ เฉิน (Raymond Chen) วิศวกรของไมโครซอฟต์ ได้เขียนลงในหน้าเว็บ Dev blog ของทางบริษัทฯ เล่าถึงช่วงที่ทำการช่วยเหลือและสนับสนุน Windows XP มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งรายงานปัญหาร้ายแรงว่า เมื่อเปิดเพลง “Rhythm Nation” ของ เจเนต แจ็กสัน (Janet Jackson) มีผลทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางรุ่นพังได้

ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้

การได้สอบถามทางผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ครั้งแรก ผู้ผลิตได้บอกว่า “เป็นเฉพาะเวลาเปิดเพลงดังกล่าว และมีโน้ตบุ๊กเครื่องอื่น ๆ อยู่ใกล้ ๆ บางเครื่องก็ได้รับความเสียหายด้วย ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดเพลงเลย และรวมถึงโน้ตบุ๊กยี่ห้อคู่แข่งอื่น ๆ ที่วางอยู่ใกล้ ๆ กันบางเครื่องก็เสียหายด้วย”

ทำให้ต้องมีการทดสอบและวิเคราะห์จนผลออกมาว่า “เพลงนี้มีคลื่นความถี่เสียงที่สั่นพ้องกับความถี่ของการหมุนใน ‘ฮาร์ดดิสก์ แบบความเร็วรอบ 5400 rpm’ จึงทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหายได้ ซึ่งจากการทดสอบพบว่ามักจะเกิดในเครื่องโน้ตบุ๊กที่ใช้ฮาร์ดดิสก์รุ่นเดียวกัน”

เมื่อค้นพบแล้วได้มีการใส่ฟิลเตอร์กรองคลื่นดังกล่าวในระบบเสียงของโน้ตบุ๊ก เพื่อให้กรองความถี่เสียงที่เป็นอันตรายออกไป แต่ถ้าโน้ตบุ๊กไปอยู่ในสถานที่ที่เล่นเพลงดังกล่าวโดยไม่มีฟิลเตอร์ตัวนี้ก็ยังส่งผลกระทบอยู่

ชมคลิปที่ เรย์มอนด์ เฉิน ได้กล่าวไว้

นี่อาจไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งเดียวที่คลื่นเสียงมีผลต่อฮาร์ดดิสก์ แม้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นสมัย Windows XP แต่เพึ่งนำมาเผยแพร่ช่วงนี้ ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งในปี 2008-2009 ที่พบปัญหาคลื่นเสียงมีผลต่อฮาร์ดดิสก์เช่นกัน โดยในปีนั้น เบรนแดน เกรก (Brendan Gregg) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งวิศวกรของ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (‘Sun Microsystems’ ที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Oracle‘) ได้พบว่าฮาร์ดดิสก์ในแร็กที่ใช้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของซัน ที่ฟอร์แมตด้วยระบบไฟล์แบบ ZFS เมื่อใช้เสียงคนตะคอกใส่แร็กขณะที่มีการเขียนข้อมูล พบว่ามีผลทำให้ I/O Latency สูงขึ้น เกิดการเขียนข้อมูลหยุดไปชั่วขณะ

ที่มา: Microsoft devblogs , Sun microsystems blog (ผ่านทาง theoldnet.com cached)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส