ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อสถาบันทางการแพทย์ มีแนวโน้มอันตรายและแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ
ในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ออกคำเตือนสถาบันทางการแพทย์หลายต่อหลายครั้งว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับการอัปเดตซอฟแวร์มานานอาจเสี่ยงต่อการแฮกได้
ตัวอย่างของการแฮกโรงพยาบาลผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์คือการแฮกศูนย์การแพทย์ OakBend ในรัฐเท็กซัส ทำให้แฮกเกอร์ได้ข้อมูลประวัติลูกค้าไปมากกว่า 1 ล้านร้าย
องค์กรด้านการแพทย์ในปัจจุบันต่างพึ่งพาการใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อใช้ในงานด้านต่าง ๆ ตั้งแต่จัดเก็บข้อมูลคนไข้และส่งยาที่ใช้ในการรักษา เทคโนโลยีเหล่านี้นำมาซึ่งความเสี่ยงในการแฮก โดยเฉพาะการใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งสามารถขโมยข้อมูลและปิดระบบไปพร้อม ๆ กันด้วย
รายงานข่าวจาก NBC ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาอ้างรายงานจากสถาบันวิจัย Ponemon Institute ในสหรัฐฯ ระบุว่าองค์กรทางการแพทย์ที่ต้องประสบกับการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่จะมีตัวเลขการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ทาง FBI และสภาครองเกรสได้ยื่นเสนอกฎหมายที่บังคับให้สำนักงานอาหารและยา (FDA) ออกแนวทางด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งทาง FDA นอกจากจะไม่ขัดข้องแล้วยังขออำนาจในการสร้างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยต่าง ๆ อย่างมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ต่างก็ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้และพิสูจน์ให้เห็นว่าภัยทางไซเบอร์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสถาบันทางการแพทย์และคนไข้ที่มารับบริการอย่างร้ายแรงเพียงใด
อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่องค์กรต่าง ๆ พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทำให้สถาบันทางการแพทย์หลายแห่งหันมาให้ความสนใจกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย
ที่มา The Verge
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส