การศึกษาใหม่จาก Mozilla เผย แม้ผู้ใช้จะกดปุ่ม ‘Dislike’ หรือ ‘Not Interested’ ใน Youtube แต่มันกลับไม่ช่วยกรองคอนเทนต์ที่ไม่ต้องการออกไปเท่าคนทั่วไปคิด
นักวิจัยจาก Mozilla ได้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับคลิปวิดีโอแนะนำจากผู้ใช้กว่า 20,000 ราย และพบว่าปุ่มที่แสดงความไม่ต้องการเห็น/ไม่พอใจคอนเทนต์ของผู้ใช้ เช่น ปุ่ม ‘Dislike’, ‘not interested’, ‘stop recommending channel’ หรือ ‘remove from watch history’ แทบจะไม่ป้องกันหรือคัดกรองเนื้อหาที่ผู้ใช้ไม่ต้องการดูออกไปได้เท่าที่ควร
ในกรณีที่ดีที่สุดปุ่มในข้างต้นจะช่วยป้องกันคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องได้ประมาณครึ่งหนึ่งของเนื้อหาที่ผู้ใช้ไม่ต้องการเห็น และในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือ มันแทบจะไม่ช่วยคัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่ต้องการออกไปเลย
ในการทดลองครั้งนี้ Mozilla ได้แบ่งกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมการศึกษาเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มที่กด dislike (ไม่ชอบ), กลุ่มที่กด not interested (ไม่สนใจ) หรือกลุ่มที่กด don’t recommend channel (อย่าแนะนำช่องนี้) จากนั้นจึงนำมาคอนเทนต์แนะนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ผู้ใช้จะไม่ส่งฟีดแบ็กใด ๆ กลับไปที่ Youtube
ผลจากการเปรียบเทียบทำให้พบความแตกต่างกัน ดังนี้
- กลุ่ม ‘dislike’ และ ‘not interested’ : ป้องกันการแสดงเนื้อหาแนะนำที่ไม่ต้องการได้ประมาณ 11 – 12%
- กลุ่ม ‘Don’t recommend channel’ : ป้องกันการแนะนำที่ไม่ต้องการได้ประมาณ 43%
- กลุ่ม ‘remove from history’ : ป้องกันการแนะนำที่ไม่ต้องการได้ประมาณ 29%
แม้นักวิจัยจะให้ความเห็นว่า Youtube ควรเคารพการตัดสินใจของผู้ใช้ และควรใส่ใจกับฟีดแบกที่ Youtube ได้รับผ่านปุ่มต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ส่งสัญญาณไป แต่ตัวแทนจาก Youtube ก็ได้ออกมาเผยว่า การคัดกรองเนื้อหาที่ผู้ใช้ไม่ต้องการออกเพียงบางส่วนเป็นความตั้งใจของ Youtube ที่จะไม่บล็อกเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพราะการรับเนื้อหาเพียงประเภทเดียวอาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ใช้จะได้รับแต่เนื้อหา ข้อมูล และแนวความคิดแบบเดิม ๆ จนผู้ใช้ซึมซับความคิดเพียงด้านเดียวโดยไม่ทันตั้งตัว
ที่มา: The Verge
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส