สำหรับนักฟังเพลงระดับ Audiophile น่าจะรู้จัก MQA รูปแบบการบีบอัดเสียง Hi-Res ที่มีคุณภาพดี ในขนาดที่เล็กลง (MQA ถือว่าเป็น Hi-Res Lossy เพราะข้อมูลเสียงที่กลับมาไม่ได้เหมือนต้นฉบับ 100%) เหมาะสำหรับการสตรีมมิ่งผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการอย่าง Tidal ก็ใช้เป็นรูปแบบหลัก แต่หลังการมาของ Apple Music Hi-Res ที่ใช้การสตรีมแบบ Hi-Res Lossless แท้ ๆ ก็ดูเหมือนว่าที่ทางของ MQA จะลดลง บริษัทจากอังกฤษนี้จึงต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่นั่นก็คือ MQair ตัวบีบอัดสัญญาณเสียงหรือ Codec ที่เปิดตัวมาเป็นคู่แข่งกับ Codec คุณภาพสูงอย่าง LDAC หรือ aptX Adaptive ครับ
MQA ประกาศว่า MQair หรือชื่อทางเทคนิคคือ SCL6 ผ่านการรับรองจาก Japan Audio Society (JAS) ให้ใช้โลโก้ Hi-Res AUDIO WIRELESS ได้ ซึ่งหมายความว่าผ่านการรับรองว่าสามารถส่งเสียงคุณภาพระดับ 96 kHz 24 Bit หรือสูงกว่าผ่านช่องทางไร้สายได้ ซึ่งปัจจุบันมี LDAC ของ Sony และ LHDC ของ Savitech ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้เท่านั้น
MQA อธิบายเพิ่มเติมว่า MQair สามารถส่งเสียงคุณภาพสูงสุด 384 kHz ทั้งรูปแบบ PCM และ MQA ผ่านไร้สาย รองรับอัตราการส่งข้อมูลในช่วงกว้างมาก ตั้งแต่ต่ำกว่า 200 kbps สำหรับการส่งในช่องทางอย่าง Bluetooth ไปจนสูงสุดที่ 20 Mbps สำหรับช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงอย่าง Ultra-Wideband (UWB) หรือ Wi-Fi
มาตรฐาน MQair จึงน่าสนใจตรงคิดต่างจาก Codec คู่แข่งที่เน้นการใช้งานผ่าน Bluetooth จึงพยายามบีบอัดอัตราการส่งสัญญาณให้ไม่เกิน 1 Mbps ต่างจาก MQair ที่ไปได้สูงสุดถึง 20 Mbps
อย่างไรก็ตามวงการ Codec สำหรับ Bluetooth นั้นยากมากที่จะกำหนดมาตรฐานใหม่ ๆ ที่ตลาดจะยอมรับได้ ด้วยเหตุผลหลายอย่างคือ
- iPhone รองรับแต่ AAC Codec เท่านั้น (ในตอนนี้) เท่ากับว่าผู้ใช้สมาร์ตโฟนจำนวนมากในโลกก็ใช้ Codec คุณภาพสูงอื่นไม่ได้ แม้หูฟังจะรองรับ
- Qualcomm เจ้าตลาดชิปก็กำลังผลักดันมาตรฐาน aptX Adaptive ให้มีอุปกรณ์รองรับมากขึ้น โดย aptX Adaptive ก็รองรับเสียงระดับ Hi-Res แม้จะไม่ได้ไปขอตรา Hi-Res สีทองจาก JAS มา
- Sony ก็มี LDAC ที่ Android ทุกตัวใช้ได้อยู่แล้ว ขอเพียงแค่ลำโพงหรือหูฟังรองรับ LDAC ก็จะใช้งานกับ Android ได้ทันที
- Bluetooth Special Interest Group (SIG) กำลังผลักดันมาตรฐานใหม่ LC3 ใน Bluetooth 5.2 ขึ้นมาแทนมาตรฐานเดิมอย่าง SBC ซึ่ง LC3 รองรับใน Android 13 แล้ว
- LC3Plus อีกมาตรฐานที่พัฒนาโดย European Telecommunications Standards Institute (ETSI) ก็ได้รับการรับรองให้ใช้โลโก้ Hi-Res AUDIO WIRELESS ได้แล้ว
สรุป การที่ MQA จะแทรก MQair เข้าไปในสมรภูมินี้ก็ดูเป็นเรื่องที่เหนื่อยไม่น้อย จึงน่าติดตามว่าการคิดนอกกรอบให้ MQair นั้นไม่ได้เน้นที่การส่งผ่าน Bluetooth อย่างเดียว จะทำให้มีโอกาสโตได้มากขึ้นหรือไม่
อ้างอิง: MQA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส