วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2580 หรือ National Space Master Plan 2023 – 2037 และเห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม
สำหรับสาระสำคัญของร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2580 คือการมุ่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยจะดำเนินพันธกิจ เช่น การพัฒนาและส่งเสริมความมั่นคงอวกาศ, พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอวกาศ, การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศ, ติดตาม เฝ้าระวัง วิจัย และสำรวจอวกาศ โดยร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฉบับนี้ จะขับเคลื่อนภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 8 การสร้างกลไกการขับเคลื่อนแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ
ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศในการรักษาความมั่นคง, สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการให้บริการสาธารณะและเชิงพาณิชย์ รวมถึงขับเคลื่อนกิจการอวกาศแบบบูรณาการ พัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมอวกาศที่มีคุณภาพ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับกิจการอวกาศ และร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการอวกาศ
สำหรับส่วนร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาตินั้น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการมีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์
เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณ จำนวน 1 วงจรดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือสัญญาสัมปทานดาวเทียม เพื่อใช้ในกิจการของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในปัจจุบัน
ต่อมาหน่วยงานของรัฐได้มีการเช่าซื้อช่องสัญญาณของดาวเทียมเพิ่มเติมจากดาวเทียมไทยคม 6, ดาวเทียมไทยคม 7 และช่องสัญญาณจากต่างชาติ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมภาพถ่าย, ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมระบบนำร่อง จึงมีความจำเป็นต้องมีดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือดาวเทียมที่รัฐมีสิทธิในการควบคุม บริหารจัดการเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติขึ้น โดยมีแนวความคิดหลัก คือ
- จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
- ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย
- ให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ
- ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมครม. มอบหมายให้ NT ดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมในเชิงลึกต่อไป และร่วมพิจารณาเพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
ทางด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมครม. ยังได้รับทราบความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. … ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
รวมถึงการดำเนินงานศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ดำเนินการขยายผล และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจอวกาศแก่ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงขยายขีดความสามารถของศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติให้รองรับการให้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่อไป