หนึ่งในไฮไลต์ที่เราได้ไปร่วมงาน Garmin Forerunner 20 Years ที่ไต้หวันคือ การได้ไปเยี่ยมชมโรงงานการผลิต Linkou Factory ที่เมืองเถาหยวน ซึ่ง Garmin ใช้งบประมาณกว่า 17% จากผลประกอบการในงานวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมให้แก่สมาร์ตวอตช์รุ่นใหม่ ๆ ผ่านการทดสอบทั้งอุณหภูมิ แรงดัน การกระแทกนับ 10 กว่ารายการ เพื่อให้แน่ใจว่านาฬิกาทุกเรือนแข็งแกร่งและทำงานได้อย่างแม่นยำจริง ๆ
หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคลุม สวมแมสก์ หมวก และถุงครอบรองเท้าเรียบร้อยแล้ว จึงเดินเข้าสู่ไลน์การผลิต Surface Mount Technology (SMT) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการ SMT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับสายการผลิตแบบดั้งเดิม ทั้งยังลดเวลาในการทำงานลงมากกว่า 50%
ทีมงานอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่ากระบวนการ SMT เปรียบเสมือนการทำพิซซ่า โดยเริ่มจากการเตรียมแผงวงจร (PCB Board) เหมือนกับการเตรียมแป้งพิซซ่า และจัดวางส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างชิป, ไอซีหรือสวิตช์อื่น ๆ อีกมากมายเช่นเดียวกับการโรยหน้าพิซซ่า เมื่อทุกอย่างประกอบกันลงตัวแล้วจึงนำเข้าเตาอบ ที่เปรียบกับการทดสอบฟังก์ชันต่าง ๆ ต่อไป
Garmin พาไปชมสายการผลิตที่ใช้เครื่องมืออัตโนมัติ ซึ่งหลายเครื่องคิดค้นและพัฒนาโดยทีมวิศวกรของ Garmin จึงทำให้การจัดเก็บและผลิตเป็นไปอย่างราบรื่น แนวคิดนี้คล้ายกับอาคารจอดรถ ที่สามารถหาตำแหน่งรถของเราได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างมาก
นอกจากนี้ยังใช้กล้อง AI ในการตรวจจับความผิดปกติระหว่างสายการผลิตด้วย รวมถึงมีการสลักหมายเลข ID ลงบนบอร์ด PCB แต่ละชิ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการค้นหาในภายหลัง หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนผลิตบอร์ด SMT แล้ว จะถูกส่งไปห้องถัดไปที่ใช้ประกอบและทดสอบตัวนาฬิกาด้วยฟังก์ชันต่าง ๆ โดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยทดสอบเพื่อความแม่นยำมากขึ้น เช่น
การใช้กล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอล (Laser Confocal Microscope) ที่มีกำลังขยายสูงสุด 2,000 เท่า เห็นชัดแม้กระทั่งเส้นผม ซึ่งนำมาใช้วัดความหยาบของพื้นผิวผลิตภัณฑ์และความสว่างมันเงาของหน้าจอ หรือเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT – Computed Tomography) ใช้ถ่ายภาพเอ็กซเรย์จำนวน 5,000 ภาพแบบ 360 องศา เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพถ่าย 3 มิติ และใช้ดูโครงสร้างภายในของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ Garmin ไปจนถึงการใช้เครื่องสแกนสามมิติ (3D Scanning Machine) เพื่อเปรียบเทียบและตรวจสอบโครงสร้างโดยรวม ส่วนการทดสอบฟังก์ชันการใช้งานจะมีอะไรบ้าง ไปดูลิสต์ด้านล่างนี้เลยครับ
- การทดสอบความทนทานที่อุณหภูมิต่ำและสูง เพื่อทดสอบการทำงานของสัญญาณ GPS แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูง
- การทดสอบแรงดัน (Stress) ที่ระดับ 10 บาร์ โดยรุ่น Forerunner 965 มีการทดสอบแรงดันทุก ๆ 50 เมตรเป็นเวลาเวลา 10 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าตัวนาฬิกายังทำงานได้ดีแม้อยู่ในระดับน้ำลึก 100 เมตร
- การทดสอบความกดอากาศและเซนเซอร์บารอมิเตอร์ที่ระดับความสูงต่าง ๆ
- การทดสอบเซนเซอร์ไจโร เพื่อตรวจจับการหมุน
- การทดสอบฟังก์ชันเข็มทิศไฟฟ้า ที่สามารถระบุตำแหน่งของทิศเหนือได้อย่างแม่นยำ
- เซ็นเซอร์วัดความเร่ง (Acceleration Detector) ที่ Garmin พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับ G-sensor เพื่อตรวจสอบอัตราการเร่งความเร็วจากการเคลื่อนไหว เช่น การแกว่งแขนวิ่งหรือการว่ายน้ำ
- การทดสอบแม่เหล็กจากขดลวดอิเล็กทรอนิกส์มาจำลองสนามแม่เหล็กโลก
- การทดสอบวงจรการสวมใส่นาฬิกา ตรวจหาข้อบกพร่องในการทำงาน หรือการใช้ในชีวิตประจำวัน
- การทดสอบไบโอเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, ปริมาณออกซิเจนในเลือด
- การทดสอบความทนทานต่อรอยขีดข่วน โดยนำตัวนาฬิกาลงไปปั่นกับวัสดุชิ้นเล็ก ๆ
- การทดสอบการตก (Drop Test) เพื่อประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างผลิตภัณฑ์
- การทดสอบปุ่มและระบบสัมผัส ไปจนถึง Wi-Fi และฟังก์ชันบลูทูธ
นาฬิกาทุกเรือนของ Garmin จะต้องได้รับการทดสอบตามแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ได้สมาร์ตวอตช์คุณภาพที่ดีที่สุด หลังจากนั้นจะมีการทดสอบฟังก์ชันการใช้งานจริง โดยทีมงาน Garmin พาเราไปห้องด้านล่าง ซึ่งจัดเป็นห้องทดสอบสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาโดยเฉพาะ
หากใครเคยได้ยินชื่อการทดสอบ VO2MAX หรือทดสอบความฟิตของร่างกายน่าจะคุ้นเคยกับภาพนี้ดี โดยการทดสอบความฟิตนี้ จะเป็นการสวมหน้ากากออกซิเจนและขึ้นไปวิ่งบนลู่วิ่ง เพื่อคำนวณค่าการใช้ออกซิเจน การใช้พลังงานต่าง ๆ โดยสวมนาฬิการุ่นใหม่อย่าง Forerunner 265 และ Forerunner 965 ที่สามารถบอกค่า VO2MAX ไว้เปรียบเทียบด้วย ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบในแล็บเรียกได้ว่าไม่ต่างจากที่นาฬิกาบอกมากนัก จึงถือว่าได้ว่าการทำงานของนาฬิกาค่อนข้างแม่นยำเลยครับ
Garmin ผลิตนาฬิกามาแล้วมากกว่า 250 ล้านเรือนทั่วโลก ซึ่งนาฬิกาทุกเรือนผ่านการทดสอบหลายสิบรายการ ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตและทดสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องมีคุณภาพและความเสถียร ก่อนจะถูกส่งไปถึงมือผู้บริโภคที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส