Intel และมูลนิธิ Gordon and Betty Moore Foundation ได้ร่วมกันประกาศในวันนี้ (24 มีนาคม 2023) ว่า กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ร่วมก่อตั้ง Intel ได้เสียชีวิตไปด้วยวัย 94 ปี อย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2023 ที่บ้านในฮาวาย โดยมีครอบครัวคอยอยู่เคียงข้างเขา

มัวร์และเพื่อนร่วมงานของเขาอย่าง โรเบิร์ต นอยซ์ (Robert Noyce) ได้ก่อตั้ง Intel ขึ้นมาในเดือนกรกฎาคม 1968 โดยเขาได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายบริหารจนถึงปี 1975 ก็ได้ขึ้นเป็นประธานบริษัท จากนั้นในปี 1979

มัวร์ได้ขึ้นเป็นประธานบอร์ดบริหารและซีอีโอของบริษัทจนถึงปี 1987 ก่อนจะลงจากตำแหน่งซีอีโอ แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารต่อไป โดยเขาได้รับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ในปี 1997 และก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2006

Gordon Moore
ภาพจาก Intel Corporation

มัวร์ได้ทุ่มเทชีวิตของเขาให้แก่การพัฒนาเทคโนโลยี, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการดูแลผู้ป่วย ร่วมกับภรรยาของเขาที่ใช้ชีวิตกันมา 72 ปี โดยเขาได้ก่อตั้งมูลนิธิ Gordon and Betty Moore Foundation ขึ้นเมื่อปี 200 และได้บริจาคเงินให้แก่การกุศลมากกว่า 5,100 ล้านเหรียญ

แพทริก พี. เกลซิงเกอร์ (Pat Gelsinger) ผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Intel ได้กล่าวว่า “กอร์ดอน มัวร์ ได้นิยามอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขึ้นมาผ่านข้อมูลเชิงลึกและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล เขามีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยให้เห็นถึงพลังอันแท้จริงของทรานซิสเตอร์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราทุกคนที่ Intel ยังคงได้รับแรงบันดาลใจจากกฎของมัวร์และตั้งใจที่จะทำตามนั้นต่อไป”

แฟรงก์ ดี เยียรี (Frank D. Yeary) ประธานคณะกรรมการบริหารของ Intel ได้กล่าวว่า “กอร์ดอนเป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการและผู้นำธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ กอร์ดอน มัวร์ ทำให้โลกที่เราอยู่ในทุกวันนี้มีคอมพิวเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพมาช่วยในการดำรงชีวิต”

Gordon Moore
กอร์ดอน มัวร์ (ซ้าย) และ โรเบิร์ต นอยซ์ (ขวา) : ภาพจาก Intel Corporation

ก่อนที่จะก่อตั้ง Intel ขึ้นมา มัวร์และนอยซ์ได้ร่วมกันก่อตั้ง Fairchild Semiconductor ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสผลิต ทรานซิสเตอร์ซิลิกอน ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก และต่อมาได้นำมาติดตั้งในแผงวงจรเป็นครั้งแรกของโลก จากความช่วยเหลือของ วิลเลียม ชอกลีย์ (William Shockley) ผู้ร่วมก่อตั้งและประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ของ Shockley Semiconductor ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกที่เปิดในพื้นที่ซึ่งต่อมาเรียกว่า ซิลิคอนแวลลีย์

ในขณะที่กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด พวกเขาก็ได้จ้าง แอนดี โกรฟ (Andy Grove) ที่จะกลายมาเป็นซีอีโอของ Intel ในอนาคต จากนั้นพวกเขาทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันทำให้ Intel กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘Intel Trinity’ โดยผลงานของพวกเขายังคงเป็นที่ประจักษ์มาจนถึงทุกวันนี้

Gordon Moore
(จากซ้า่ย) กอร์ดอน มัวร์, โรเบิร์ต นอยซ์ และ แอนดี โกรฟ : ภาพจาก Intel Corporation

มัวร์เคยกล่าวไว้อย่างอาจหาญเมื่อปี 1965 ว่า จำนวนของทรานซิสเตอร์บนแผงวงจรรวมนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุก ๆ ปี ซึ่งคำทำนายดังกล่าวได้กลายเป็นจริง และต่อมาถูกเรียกว่าเป็น ‘Moore’s Law’ หรือ ‘กฎของมัวร์’

ต่อมาในปี 1975 มัวร์ได้ปรับการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เป็น 2 เท่า บนแผงวงจรรวมมาเป็นทุก ๆ 2 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี ติดต่อกัน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีชิปที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งทำงานเร็วขึ้น, มีขนาดเล็กลง และมีราคาถูกลงตามไปด้วย จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปสู่การนำชิปมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน

หลังจากเกษียณจาก Intel เมื่อปี 2006 มัวร์ก็ได้ใช้ชีวิตในแคลิฟอร์เนียและฮาวาย เพื่อทำหน้าที่เป้นประธานคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิ Gordon and Betty Moore Foundation จนกระทั่งได้ขึ้นมาเป็นประธานกิตติมศักดิ์ในปี 2018 นอกจากนี้เขายังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือ California Institute of Technology ตั้งแต่ปี 1995 จนถึงต้นปี 2001 อีกด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส