Intel ได้เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2023 (มกราคม – มีนาคม) ซึ่งดูเหมือนบริษัทกำลังเข้าสู่วิกฤติทางการเงิน โดยมีรายได้ 11,700 ล้านเหรียญ (ประมาณ 397,500 ล้านบาท) ซึ่งลดลง 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดย 2 แผนกหลักที่ทำรายได้ให้บริษัทอย่าง กลุ่ม Computing Client ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตให้แก่ผู้ใช้ปลายทาง (End User) และกลุ่ม Data Group ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ ต่างก็มีรายได้ลดลง 38% และ 39% ตามลำดับ

ด้วยรายได้ที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้ Intel ขาดทุนในไตรมาสนี้ไป 2,800 ล้านเหรียญ (ประมาณ 95,100 ล้านบาท) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขาดทุนมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท และทำให้บริษัทต้องปลดพนักงานและลดค่าจ้างผู้จัดการกับผู้บริหารลงเพื่อชดเชยจำนวนเงินที่สูญเสียไป อีกทั้งยังได้ยุติโปรเจกต์ต่าง ๆ เช่น Blockscale ที่ใช้สำหรับขุด Bitcoin ให้ ASICS เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รายได้ของ Intel ในไตรมาสที่ 1 นี้ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ราว 10,500 – 11,500 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าหากมองในแง่ดี ก็ถือว่า Intel ยังทำได้ดีขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เล็กน้อย

Intel

หนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ Intel คือ ความต้องการของผู้บริโภคในธุรกิจพีซีลดน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่บริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่งกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยผู้บริโภคจะเน้นใช้อุปกรณ์ที่ซื้อมาจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 เพื่อใช้ทำงานที่บ้าน มาใช้เป็นหลักก่อน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชื่อดังอย่าง IDC ได้กล่าวว่า ยอดจำหน่ายพีซีทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2022 โดยหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ Samsung ที่ผลกำไรลดลงถึง 95% และทำให้ต้องยุติธุรกิจผลิตชิปหน่วยความจำและสตอเรจลง ในขณะที่ Nvidia, Micron และ Apple ต่างประสบปัญหารายได้ในไตรมาสที่ 1 ลดลงด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ Intel กำลังประสบ คือ การพัฒนาชิปซีพียูเซิร์ฟเวอร์ ‘Sapphire Rapids’ รุ่นใหม่ที่ล่าช้ามาหลายปี ได้ส่งผลทำให้ AMD ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ส่งชิป EYPC เข้ามาลุยในตลาดซีพียูเซิร์ฟเวอร์และครองส่วนแบ่งในตลาดนี้ไป

แพท เกลซิงเกอร์ (Pat Gelsinger) ผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Intel ในปัจจุบัน ได้พยายามใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘IDM 2.0’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่นี้ โดยอนุญาตให้บริษัทอื่นใช้โรงงานของ Intel ในการผลิตชิปของตนเองได้ ซึ่งถึงแม้ว่าแผนกให้บริการผลิตชิปของ Intel จะทำรายได้เพียง 118 ล้านเหรียญ แต่ก็อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้บริษัทฟื้นตัวในอนาคต และเขาได้กล่าวย้ำว่า “โอกาสในการทำให้ Intel เป็นบริษัทที่มีมูลค่าในตลาดถึง 1 ล้านล้านเหรียญนั้น เป็นสิ่งที่ต้องดูกันไปยาว ๆ”

Intel ได้คาดการณ์ว่า บริษัทจะยังคงประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 2 โดยคาดการณ์ว่ารายได้จะอยู่ที่ราว 11,500 – 12,500 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงจากไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2023 ที่เคยทำไว้ถึง 15,300 ล้านเหรียญ

ที่มา : ArsTechnica

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส