เคยสงสัยกันไหมว่า มือถือจอพับหนึ่งเครื่อง เขาผลิตกันยังไง ต้องผ่านขั้นตอนไหนกว่าจะออกมาวางขายได้ ในบทความนี้แบไต๋จะพาทุกบินไปทำความเข้าใจ “กระบวนการผลิตมือถือจอพับแบบเจาะลึก” ของ OPPO Find N2 Flip กันถึงโรงงานในจีน
ไฮไลต์ที่น่าสนใจ
- OPPO สร้างมือถือจอพับได้มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว แต่ไม่ได้เอาออกมาขาย เพราะต้องสร้างมือถือจอพับที่ดีที่สุด
- การผลิตและตรวจสอบของ OPPO Find N2 Flip ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ จะอยู่ที่ 220 ขั้นตอน ซึ่งเยอะกว่ามือถือทั่วไปที่มีประมาณ 150 ขั้นตอน ที่เยอะกว่าเนื่องจากมีส่วนของบานพับเพิ่มเข้ามา
- ส่วนประกอบ “Flexion Hinge” หรือบานพับของ OPPO Find N2 Flip มีมากถึง 136 ชิ้น โดยทุกชิ้นจะถูกประกอบแบบ “แฮนด์เมด (Handmade)” เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าบานพับเวอร์ชันก่อน
- ต้นทุนของบานพับ Flexion Hinge มีราคาสูงถึง 10% ของราคาตัวเครื่อง นั่นคือ 100 เหรียญสหรัฐอเมริกา (USD) หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 3,300 บาท!
ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมบรรณาธิการแบไต๋ได้รับคำเชิญพิเศษจาก OPPO ให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ (Head Quater) และโรงงานผลิตมือถือ (Factory) ถึงแดนมังกรประเทศจีน ร่วมกับสื่อทั้งไทยและต่างประเทศหลายสิบชีวิต

จุดแรกที่ได้ไปชมคือสำนักงานใหญ่ (Head Quater) ของ OPPO ตั้งอยู่ในตึก China Resources Tower หรือตึก Spring Bamboo ณ เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen)

ภายในห้องแสดงสินค้ารุ่นต่าง ๆ ของ OPPO ก็จะมีการเล่าถึงความเป็นมาของแบรนด์ว่า แรกเริ่มเดิมที OPPO ไม่ได้โด่งดังมาจากมือถือ แต่มีชื่อเสียงมาจากสินค้าเครื่องเสียงไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องเล่นเพลงพกพา MP3 กับ MP4

จากนั้นถึงจะโดดเข้ามาในวงการมือถือในปี 2008 โดยรุ่นแรกที่เปิดตัวคือ OPPO A103 (ฝาหลังเครื่องเป็นรูปหน้ายิ้ม) จากนั้นก็พัฒนามือถือรุ่นใหม่สู่ตลาดเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลเรือธง Find N Series รวมถึง N Series มือถือกล้องหมุนที่เรียกเสียงฮือฮาในวงการได้ไม่น้อย แล้วจึงค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์มือถือแถวหน้าของโลก

ก่อนที่ OPPO จะสร้างมือถือจอพับอย่าง Find N2 Flip ออกมา เขาเริ่มวิจัยและพัฒนา (Research & Development) มือถือจอพับมาแล้วถึง 6 รุ่น โดยรุ่นตัวอย่างเครื่องแรกทำสำเร็จในช่วงต้นปี 2018 และมีรุ่นถัดมาในปี 2019 และปี 2020
จากนั้นก็ถึงพัฒนามาเป็น OPPO Find N2 Series ที่เปิดตัวช่วงปลายปี 2022 ส่วนคำถามที่ว่าทำไม 6 รุ่นก่อนหน้าถึงไม่เอามาขายจริง ทาง OPPO ให้คำตอบว่า “เราต้องการพัฒนามือถือจอพับให้สมบูรณ์ที่สุดก่อน ค่อยเอามาขาย” จุดนี้เลยทำให้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “พับที่ดีกว่า”


นอกจากนี้ทาง OPPO ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการย้ายสำนักงานใหญ่ไปตึกใหม่ที่กำลังก่อสร้าง โดยตึกใหม่นั้นมีดีไซน์ล้ำมาก ๆ เนื่องจากเป็นตึกไร้เหลี่ยม ขอบข้างจะมีความโค้งมนเหมือนกับน้ำ ที่สำคัญตึกทั้ง 4 ยังเชื่อมต่อกันอีกด้วย ส่วนตัวคิดว่าตึกใหม่นี้สวยไม่น้อยเลยทีเดียว

เพื่อให้อินเรื่องมือถือจอพับ OPPO Find N2 Flip มากกว่าเดิม OPPO ก็ได้พาไปทัวร์ต่อที่โรงงานผลิต(Factory) ที่ตั้งอยู่ในเมืองตงกว่าน (Dongguan) ใช้เวลาเดินทางไม่เกินสองชั่วโมง (ใช้เวลาพอ ๆ กับกรุงเทพ-พัทยา) โดยในโรงงานเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเลย เนื่องจากเป็นความลับทางการค้า ทำให้เรามีแค่เพียงภาพบางส่วนมาให้ดูเท่านั้น
โดยไลน์การผลิตที่เขาพาไปดูจะแบ่งออกเป็นสองห้องหลัก ๆ หนึ่งคือห้องผลิตแผงวงจร PCB ที่อยู่ในห้องปิดแต่มีกระจกให้มองทะลุเข้าไป และอีกห้องคือประกอบชิ้นส่วนที่จะมีการทำงานผสานกันระหว่างคนและเครื่องจักร

ในส่วนของการสร้างแผงวงจร PCB (Printed Circuit Board) จะอยู่ในห้องสะอาด ที่ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งสกปรกเลย ภายในห้องจะเป็นสีขาวทั้งหมด ในไลน์การผลิตจะมีเครื่องจักรหลายร้อยเครื่องตั้งเรียงกันเป็นแถวยาว โดยจะมีคนเพียงแค่ 7 คนคอยควบคุมเครื่องเท่านั้น การผลิตจะดำเนินการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจำนวนที่ผลิตได้จะอยู่ที่ 6,000 – 8,000 ชิ้น / ต่อวัน
ขั้นตอนแรกของการสร้างมือถือ OPPO Find N2 Flip จะเริ่มจากการสร้างแผงวงจรก่อน จากนั้นก็เอามาเข้ากระบวนการ Surface Mounting หรือการประกอบชิปต่าง ๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น ชิปเซต ชิปไวไฟ ชิปบลูทูท ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เครื่องจักรเนื่องจากทำได้รวดเร็วและแม่นยำกว่า
พอประกอบชิปกับแผงวงจรเสร็จก็จะมีการติดตั้งระบบ แล้วทำการทดสอบการทำงานของชิปประมาณ 45 นาที ว่าทำงานได้ปกติไหม เบื้องต้นก็จะมี การประมวลผล (Processing), ระบบไวไฟ (Wi-Fi) บลูทูท (Bluetooth) และอื่น ๆ หากเจอแผงที่ผิดปกติจะถูกแยกไปตรวจสอบว่าเกิดจากจุดใดและทำลายทิ้ง โดยแผงวงจรที่ตรวจผ่าน ก็จะถูกนำไปรวมร่างเข้ากับตัวเครื่อง ที่มีหน้าจอ และบานพับ Flexion Hinge เรียบร้อยแล้ว พอใส่แผงวงจรแล้วก็จะเป็นการประกอบโมดูลกล้องเข้าไป

พอได้เครื่องที่มีแผงวงจรเรียบร้อยแล้ว ตัวเครื่องก็จะถูกส่งไปยังห้องถัดไปเพื่อประกอบส่วนที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น สายแพ, ปุ่มควบคุม, แบตเตอรี่, ขันนอตยึด, ปิดฝาหลัง และอื่น ๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีการใส่ส่วนใดเข้าไป ก็จะมีการตรวจสอบด้วยเครื่องจักรทันที หากเกิดปัญหาเครื่องนั้นจะถูกแยกออกจากไลน์ผลิตทันที ส่วนเครื่องที่ผ่านก็จะถูกนำไปตรวจสอบคุณภาพการถ่ายภาพ การหมุน การรับสัญญาณ ฯลฯ ก่อนจะนำมาตรวจสอบด้วยตาคนอีกที แล้วถึงจะส่งไปบรรจุลงกล่อง
ซึ่งกว่าจะผลิตมือถือ OPPO Find N2 Flip ได้หนึ่งเครื่อง จะใช้เวลาทั้งหมด 7.5 ชั่วโมง และมีขั้นตอนการผลิตและตรวจสอบถึง 220 ขั้นตอน (ทั่วไป 150 ขั้นตอน) เลยทีเดียว ซึ่งไลน์การผลิต (เฉพาะโรงงานนี้) จะผลิตได้ประมาณ 400 เครื่อง / ชั่วโมง หรือประมาณ 3,200 เครื่อง / วัน

ส่วนที่หลายคนสงสัยบานพับ Flexion Hinge เขาผลิตกันยังไง เรื่องนี้ทาง OPPO ได้จัดช่วงพิเศษไว้ให้ไปดูแบบใกล้ชิด โดยจะมีทีมวิศวกรมาเล่าถึงพัฒนาการของบานพับที่คิดค้นขึ้นมา รวมถึงลองประกอบให้ดูว่า หนึ่งชิ้นต้องใช้ส่วนประกอบอะไร ต้องใช้ขั้นตอนไหนบ้าง

ทีมวิศวกรเล่าว่า OPPO สร้างบานพับแล้วลองใช้มาหลายปี ก็พบปัญหาอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือรอยพับบนหน้าจอที่เห็นชัดขึ้นเวลาใช้งานไปนาน ๆ สองกลไกบานพับมีขนาดใหญ่เทอะทะทำให้เครื่องหนา สามมีขนาดความจุแบตเตอรี่น้อยกว่ามือถือปกติ และสุดท้ายไม่ป้องกันฝุ่นผงที่อาจหลุดเข้าไปติดตามกลไกบานพับ

ซึ่งเขาเอาปัญหานี้มาเป็นโจทย์แล้วพัฒนาบานพับเวอร์ชันใหม่ออกมาแก้ไข สุดท้ายก็ได้มาเป็น Flexion Hinge ที่แก้ปัญหาของเดิมได้เกือบทั้งหมดเลย ตั้งแต่กลไกมีความเรียบง่าย ใช้ชิ้นส่วนน้อยลงและมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ตัวเครื่องบางลงและมีพื้นที่มากขึ้น จนสามารถใส่แบตเตอรี่ที่มีความจุเยอะขึ้นได้

ส่วนปัญหารอยพับบนจอเวลาใช้งานไปนาน ๆ OPPO ก็แก้ไขด้วยการสร้างแผงแผ่นสเตนเลสมาดามไว้ใต้จอ เพื่อให้การพับอยู่ในองศาเดิมเสมอ และลดรอยยับที่อาจเกิดขึ้นจากการพับจอด้วย สุดท้ายเรื่องฝุ่นผงแน่นอนว่ามือถือจอพับส่วนใหญ่กันฝุ่นไม่ได้ แต่ทาง OPPO ก็ได้ลดโอกาสที่ฝุ่นจะเข้าไปติดด้วยการออกแบบให้บานพับปิดได้สนิทกันด้วย โดยมีช่องว่างเพียง 0.15 มม. ซึ่งน้อยมาก ๆ เรียกว่าแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ทีมวิศวกรยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ชิ้นส่วนทั้งหมดที่เอามาประกอบเป็น “Flexion Hinge” หรือบานพับของ OPPO Find N2 Flip มีมากถึง 136 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีขนาดเล็กมาก ขนาดที่ต้องเอาคีมคีบ ทำให้ไม่สามารถผลิตด้วยเครื่องจักรได้ ฉะนั้นบานพับทุกชิ้นจะถูกประกอบขึ้นจะถูกประกอบแบบ “แฮนด์เมด (Handmade)” คล้ายการสร้างนาฬิกา จุดนี้เลยทำให้ต้นทุนบานพับ Flexion Hinge มีราคาสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐอเมริกา ตีเป็นเงินไทยประมาณ 3,300 บาท คิดเป็น 10% ของราคาตัวเครื่องเลย ถือว่า OPPO ทุ่มทุนเรื่องบานพับพอสมควรเลย
หลังจากที่ได้ดูเรื่องการสร้างบานพับไปแล้ว ทาง OPPO ก็พาไปดูส่วนสุดท้ายคือ Quality Engineer (QE) Reliability Lab ที่ใช้ทดสอบมาตรฐานของมือถือรุ่นต่าง ๆ ที่จำลองขึ้นมา เช่นการทดสอบการตก, การทดสอบการกดปุ่ม, การทดสอบการงอของสาย, การทดสอบการกดปุ่ม, การทดสอบการพับ และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความสามารถในการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม: การทดสอบการกันน้ำ การทดสอบสเปรย์ การทดสอบ UV การทดสอบเหงื่อ การทดสอบอุณหภูมิและความชื้น ฯลฯ อีกด้วย


โดย OPPO Find N2 Flip จะมีการสุ่มมาทดสอบพับ 400,000 ครั้ง และยังมีการทดสอบพับในอุณหภูมิสูง และต่ำอีกด้วย การทดสอบคือเขาจะวางเครื่องตัวอย่างในห้องปิด ตั้งอุณหภูมิสูงไว้ที่ 50°C ที่มีความชื้น 95% และต่ำไว้ที่ -20°C โดยใช้การพับและปิด 28 รอบต่อนาที เพื่อตรวจสอบว่าเกิดปัญหาในการใช้งานหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ก็จะใช้ทดสอบมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเอามาวางขายด้วยนะ
และทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และข้อมูลจากการทัวร์โรงงาน OPPO ในจีนที่เอามาฝาก หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะเข้าใจขั้นตอนการสร้างมือถือจอพับของ OPPO Find N2 Flip กันมากขึ้น