สายชาร์จ Lightning ถูกคิดค้นและออกแบบโดยบริษัท Apple ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับ iPhone 5 ที่เปิดตัวในวันที่ 12 กันยายน 2012 โดย iPhone ทุกรุ่นก่อนหน้านั้น (รุ่นแรก, 3G, 3GS, 4 และ 4S) ใช้สายชาร์จแบบ 30-pin ซึ่งเป็นสายชาร์จที่ Apple ใช้กับ iPod รุ่นแรก ๆ และ iPad รุ่น 1-3 ซึ่งความต้องการเดิมของ Apple คือสามารถใช้สายชาร์จของทุกอุปกรณ์ร่วมกันได้ (สตีฟ จอบส์ เสียชีวิตวันที่ 5 ตุลาคม 2011 และไม่มีข้อมูลว่าเขาเกี่ยวข้องกับการคิดค้นสายชาร์จ Lightning หรือไม่)
ฟิล ชิลเลอร์ หนึ่งในผู้บริหารของ Apple กล่าวในตอนนั้นว่า “การเปลี่ยนไปใช้พอร์ต Lightning ซึ่งใช้ 8 พิน แทนพอร์ต 30 พินเดิม จะทำให้ iPhone มีขนาดที่บางลงกว่าเดิม และยังเสียบได้สองด้าน” (กระทั่งพอร์ตคู่แข่งอย่าง micro-USB ที่ใช้กับโทรศัพท์แอนดรอยด์ในตอนนั้นก็ต้องเสียบให้ถูกด้าน) โดยสาย Lightning สามารถโอนถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดคือ 480 Mbit/s ซึ่งเป็นความเร็วระดับ USB 2.0
นับจากนั้น Apple ก็ใช้สาย Lightning มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งนอกจาก iPhone รุ่นที่ 5-14 แล้ว ยังครอบคลุมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างเช่น iPod, iPad, Magic Mouse, Magic Keyboard, Airpods เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือสร้างพอร์ตหรือสาย Lightning ให้เป็นมาตรฐานของตัวเอง และทำการจดสิทธิบัตรขายลิขสิทธิ์สัญลักษณ์ MFi (Made for iPhone) การผลิตพอร์ต Lightning ทั้งตัวผู้และตัวเมียให้แก่บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เสริม โดยจะต้องเสียค่าสมาชิกปีละ 99 เหรียญ (ประมาณ 3,500 บาท) และค่า Factory Audit อีกครั้งละ 2,060 เหรียญ (ประมาณ 73,000 บาท) นอกจากนั้นสำนักข่าว Bloomberg ของจีนยังรายงานว่า Apple จะได้รับส่วนแบ่ง 20-25% ของรายได้จากอุปกรณ์เสริมที่ใช้สัญลักษณ์ MFi ยังไม่รวมถึงรายได้จากการขายสายชาร์จ Lightning ของ Apple เองที่ตั้งราคาไว้สูงถึง 790 บาท (สำหรับความยาว 1 เมตร) แต่ใช้ต้นทุนและค่าขนส่งแค่ประมาณ 100 กว่าบาท
ทั้งหมดนี้ทำให้ Apple สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสาย Lightning และลิขสิทธิ์ MFi ได้มากถึงปีละ 5,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 178,600 ล้านบาท)
และนั่นคือเม็ดเงินที่ Apple ที่ต้องสูญเสียไปจากการเปลี่ยนมาใช้พอร์ตและสายชาร์จ USB-C กับ iPhone 15 และ Airpods Pro 2 ตามกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปหรือ EU เนื่องจากต้องการบังคับให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีใช้สายชาร์จแบบมาตรฐานแทน เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบว่ามีสายชาร์จเหลือใช้ถูกทิ้งเป็นขยะมากกว่า 11,000 ตันต่อปี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส