คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ร่วมกันแถลงผลการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้อุปกรณ์ GSM Gateways หรือ Simbox แปลงสัญญาณหลอกลวงเหยื่อเป็นจำนวนมาก

Simbox แปลงสัญญาณ

สอท. อธิบายว่าวิธีการที่อาชญากรกลุ่มนี้ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อคือการโทรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยอาศัย Simbox ที่ลักลอบนำเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย ในการแปลงสัญญาณเป็นเครือข่าย GSM ผ่านซิมการ์ดส่งสัญญาณเข้าไปบนอุปกรณ์ของเหยื่อให้ดูเหมือนว่าโทรด้วยสัญญาณโทรศัพท์ปกติ

โดยจากปฏิบัติการร่วมระหว่าง กสทช. และ สอท. พบว่ามีการนำ Simbox จากต่างประเทศเข้ามาใช้เพื่อให้หมายเลขโทรศัพท์ที่แสดงบนมือถือของเหยื่อขึ้นรหัสพื้นที่ภายในประเทศ

เช่าอาคารสำนักงานแทนบ้านเช่าแบบเดิม

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่เช่าพื้นที่เอาไว้ และใช้งานเราเตอร์ของอาคารเหล่านี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติจากใช้งานจำนวนมาก ต่างจากเดิมที่อาชญากรมักจะติดตั้งไว้ในบ้านเช่าที่ตรวจดูความผิดปกติได้ง่ายกว่า

ในบางกรณียังมีการปรับแต่ง Simbox ให้ดูเหมือนเครื่องขยายเสียง เพื่อซ่อนจากการตรวจค้นและจับกุมของเจ้าหน้าที่ด้วย

พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ สอท. เผยว่า จากการเข้าตรวจค้นใน 5 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร พบ Simbox จำนวน 9 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถใส่ซิมการ์ดได้สูงสุด 32 ซิม ในจำนวนนี้บางส่วนไม่มีตราและหมายเลขรุ่นด้วย

ความผิดและมาตรการเบื้องต้น

การนำเครื่องเหล่านี้มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทด้วย

สำหรับมาตรการป้องกันนั้น สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศให้บุคคลที่มีซิมในครอบครองเป็นจำนวนมากต้องไปยืนยันตัวในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้ในทางมิชอบ

การป้องกันตัว

แน่นอนว่าสำหรับประชาชนเองก็ต้องระวังในการรับเบอร์แปลกที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นคนรู้จักที่จะมาหลอกเอาเงิน

โดยควรติดต่อโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเบอร์โทรศัพท์ทางการเท่านั้น และอาจนำบริการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์อย่าง Whoscall หรือ TrueCaller มาใช้เพื่อช่วยตรวจสอบความผิดปกติด้วย

ทั้งนี้ การดาวน์โหลดแอปเหล่านี้ก็ต้องดาวน์โหลดจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น อย่างบนเว็บไซต์ทางการ หรือจากบัญชีทางการของนักพัฒนาบนร้านค้าแอป

ที่มา ตำรวจไซเบอร์, GSMGateway

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส