หลังจากที่แพนเดินทางกลับจากทริป OPPO ที่ประเทศจีน ก็มีโอกาสไปดู AWS re:Invent 2023 งานสัมมนาของ Amazon Web Services (AWS) ที่จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อโชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่สายตาชาวโลก โดยในปีนี้จัดที่ Las Vegas ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม แพนเองก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานนี้ แล้วเห็นว่ามีเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายเรื่อง เลยมาสรุปให้อ่านกันในบทความนี้
AI (Artificial Intelligence)
ปีนี้ทาง Amazon จะเน้นเรื่อง AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นพิเศษ โดยจะมีการพูดถึงบนเวทีอยู่หลายตัว
“Just Walk Out” ระบบสำหรับร้านสะดวกซื้อในสนามกีฬา ที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามการหยิบซื้อสินค้าภายในร้าน หลักการทำงานคือแตะบัตรเครดิตตอนเดินเข้าร้าน จากนั้นก็หยิบสินค้า แล้วเดินออกจากร้านได้เลย ระบบจะคิดเงินแล้วหักจากบัตรแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเข้าคิวคิดเงินให้เสียเวลา
“PartyRock” Generative AI ที่ใช้สร้างแอปพลิเคชันด้วยการระบุสิ่งที่อยากได้เป็นข้อความ (Text) จากนั้นระบบจะทำการเลือก Module ที่เหมาะสมให้กับเรา (ใครสนใจลองเข้าไปเล่นในลิงก์นี้ได้ https://partyrock.aws)
อีกตัวที่น่าสนใจคือ “Amazon Whisperer” ที่เป็นการแปลภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นโค้ดสำหรับเขียนโปรแกรม ทำให้คนธรรมดาสามารถเขียนโค้ดได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเรียน
นอกจากนี้ยังมี “Amazon Q” ระบบ AI สำหรับใช้งานในองค์กร ซึ่งจะมีการเรียนรู้ข้อมูลเฉพาะในแต่ละองค์กร เพื่อให้คำตอบที่เหมาะสม โดยการใช้งานจะรองรับหลาย Platform เพื่อความสะดวก และยังมี “Amazon QuickSight” ระบบ AI ที่สามารถสรุปข้อมูลในภาพรวมออกมาเป็น Dashboard เพื่อให้ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจตรวจสอบความเป็นไปได้สะดวก
สุดท้ายก็มี “Titan Image Generator” บริการสร้างภาพจากข้อความ แบบเดียวกับ Dall-E โดยมีความพิเศษตรงที่ทุกภาพจะมีการใส่ลายน้ำที่มองไม่เห็นไว้ในไฟล์ ใช้ระบุความเป็นเจ้าของว่าถูกสร้างโดยใคร เพื่อลดปัญหาการอ้างสิทธิ์ในรูปภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI
Personalized Broadcast
อีกหนึ่งอย่างที่ Amazon Web Services (AWS) เอามาโชว์คือ Personalized Broadcast การกระจายสัญญาณการถ่ายทอดสดที่ประเทศหรือผู้ให้บริการปลายมีอิสระในการเลือกสวิตช์ภาพจากกล้องตัวต่าง ๆ ได้เอง เช่น ถ้าเป็นการแข่งขันกอล์ฟ ปลายทางจะเลือกกล้องเฉพาะคนได้เลย ซึ่งต่างจากการถ่ายทอดสดปกติที่ต้นทางจะเป็นคนสวิตช์ภาพ แล้วถึงจะกระจายไปให้ยังปลายทาง
จุดนี้จะช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์จัดเก็บหน้างาน และปลายทางจะมีอิสระในการถ่ายทอดสดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนเสียงที่พากย์ให้เป็นเสียงคนอื่นหรือตัวการ์ตูนได้ เพื่อให้เด็ก ๆ สนใจการถ่ายทอดสดมากขึ้น
Project Kuiper
Project Kuiper เป็นโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมใหม่ของ Amazon Web Services (AWS) ที่จะส่งดาวเทียมจำนวน 3,236 ดวง ออกไปยังวงโคจร Low Earth Orbit (LEO) ผ่าน Arianespace และ Blue Origin เพื่อให้เครือข่ายดาวเทียมทั้งหมดเชื่อมถึงกัน
โดยทาง AWS ตั้งเป้าว่าอยากจะให้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แม้แต่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เอาจริง ๆ โครงการนี้น่าจะทำมาแข่งกับ Starlink ของ SpaceX นั่นแหละ
Amazon Disaster Response
เรื่องสุดท้ายที่แพนว่าน่าสนใจคือ Amazon Disaster Response โครงการไม่แสวงหาผลกำไร ที่จะทำการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไว้ช่วยเหลือผู้คนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งทาง AWS ทำไว้เป็นโซลูชันเพื่อให้องค์กรไหนที่สนใจ สามารถหยิบเอาไปปรับเปลี่ยนแล้วใช้ในแนวทางของตัวเอง
ตัวอย่างที่แพนได้เห็นคือ การนำรถ Jeep มาดัดแปลง และเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ขนาด 30kWh ที่ไม่ได้เอาไว้ขับเคลื่อนรถ แต่เอาไว้จ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายใน ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียม, ระบบ GPS ที่ระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ, ระบบโดรนสำรวจมุมสูง และโดรนค้นหาคน
นอกจากนั้นบนหลังคายังมีระบบดาวเทียมความแม่นยำสูงที่จะหันหน้าไปทางที่ดาวเทียมอยู่เสมอ ทำให้อินเทอร์เน็ต หรือการระบุตำแหน่งทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะกำลังใช้งานขณะขับรถ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส